พรบ. คุ้มครองแรงงานใหม่ ประโยชน์ยามเกษียณ
ในช่วงปลายปีมักเป็นเทศกาลเกษียณอายุ ซึ่งถือเป็นช่วงที่สำคัญ เพราะเราจะเปลี่ยนจากคนที่มีรายได้ กลายเป็นคนที่ไม่มีรายได้ แต่ใช่ว่าจะสิ้นหวังทีเดียว เพราะเรายังมีเงินได้หลายๆ อย่าง รวมถึงสิทธิประโยชน์ตอนเกษียณด้วย โดยเฉพาะ พรบ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 ฉบับล่าสุดที่เพิ่งออกมา มีข้อหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ
“มาตรา ๑๑๘/๑ การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกําหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๘ วรรคสอง
ในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกําหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกําหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่าหกสิบปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบหกสิบปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้ โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบสามสิบวันนับแต่วันแสดงเจตนา และให้นายจ้าง จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้น ตามมาตรา ๑๑๘ วรรคหนึ่ง”
ดังนั้นตามกฎหมายฉบับนี้ ถ้าบริษัทไหนที่ไม่ได้กำหนดอายุเกษียณหรือกำหนดไว้แต่เกิน 60 ปี ลูกจ้างที่มีอายุครบ 60 ปีขึ้นไปก็สามารถขอเกษียณอายุได้เองเลย และถือว่าการเกษียณเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการพ้นสภาพการเป็นพนักงานของบริษัท หรือเป็นการสิ้นสุดสัญญาจ้าง
สิทธิประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับคือ ค่าชดเชย ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 ซึ่งจะได้รับค่าชดเชยต่อเมื่อมีอายุงานตามเกณฑ์ที่กำหนด อย่างเช่น ถ้าเราในฐานะลูกจ้างตอนเกษียณมีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จะได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าเงินเดือนๆสุดท้าย 240 วัน (ประมาณ 8 เดือน) แต่ถ้าเรามีอายุงานครบ 10ปี ขึ้นไปตอนเกษียณ เราจะได้ไม่น้อยกว่าเงินเดือนๆสุดท้าย 300 วัน (ประมาณ 10 เดือน) และหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม ก็จะมีโทษทั้งทางแพ่งและอาญา โดยทางแพ่งโทษปรับสูงสุดตามค่าชดเชยที่ค้างรวมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี หรือคิดเงินเพิ่มร้อยละ 15 ตามยอดเงินผิดนัดชำระ 7 วัน สำหรับโทษทางอาญาจำคุกสูงสุด 6 เดือน หรือทั้งจำและปรับไม่เกิน 100,000 บาท
กฎหมายนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับพนักงานบริษัทเล็กๆ ที่เป็นพวก SME ที่ไม่กำหนดอายุเกษียณไว้ในสัญญาจ้างงาน ซึ่งหมายถึงบริษัทจ้างพนักงานทำงานไปตลอดชีวิต หรือจนกว่าพนักงานจะลาออกเอง ข้อดีคือลูกจ้างมีงานมีเงินใช้ตลอดชีวิต แต่เมื่อทำงานไม่ไหว หรือ ไม่อยากทำงานอีกแล้ว อยากพักผ่อน ถ้าอายุครบ 60 ปีขึ้นไป ก็สามารถขอเกษียณและได้เงินชดเชย ต่างจากเดิมที่ลูกจ้างลาออกจะไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ ตามกฎหมายแรงงาน เพราะถือว่าลาออกเอง
ข้อดีอีกอย่างของค่าชดเชย กฎหมายภาษีได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง และนายจ้างได้จ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง ลูกจ้างจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินค่าชดเชยที่นายจ้างจ่ายให้ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เกินเงินเดือน 300 วันสุดท้ายและต้องไม่เกิน 300,000 บาท หากเกิน ลูกจ้างก็จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เพียงแต่ส่วนที่ไม่เกินเท่านั้น
และจากมติ ครม. วันที่ 15 สิงหาคม 2560 เห็นชอบในหลักการร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2560 ได้กำหนดอัตราค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีที่นายจ้างเลิกจ้าง หากทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้รับค่าชดเชยไม่ต่ำกว่าค่าจ้างอัตราสูงที่สุด จำนวน 400 วัน จากเดิมกำหนดว่า หากทำงานครบ 10 ปี ให้รับค่าจ้างชดเชย 300 วัน เป็นข่าวดีสำหรับลูกจ้างจริงๆ
กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram