มรดกไร้ปัญหาด้วยพินัยกรรม 5 แบบ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
พินัยกรรมจำเป็นด้วยเหรอ?
หนึ่งในการวางแผนการเงินที่สำคัญมากๆ และพลาดไม่ได้คือ การวางแผนมรดก เพราะจะมีผลเมื่อเราในฐานะเจ้ามรดกเสียชีวิตไปแล้ว หากเกิดมีข้อผิดพลาด ทรัพย์สินของเราแทนที่จะไปอยู่กับลูกหลานกลับไปอยู่กับคนที่เราไม่อยากให้ เราไม่สามารถแก้ไขใดๆ ได้เลย
ซึ่ง “การทำพินัยกรรม” จะช่วยป้องกันข้อผิดพลาดเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี
สำหรับการทำพินัยกรรมเบื้องต้น ในพินัยกรรมต้องมีข้อความระบุไว้ให้รู้ว่าเป็นพินัยกรรม เช่น “ข้าพเจ้าขอทำพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้น เพื่อแสดงว่า เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่กรรมลงบรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าทั้งหมด (หรือตามรายการที่ระบุไว้นี้) ให้เป็นมรดกตกได้แก่บุคคลที่ข้าพเจ้าระบุไว้ดังต่อไปนี้…” เรียกว่า จะยกให้ลูก ให้หลาน ให้วัด ก็ได้ทั้งนั้น
โดยพินัยกรรมมี 5 แบบ แล้วแต่ว่าจะเลือกทำแบบไหน คือ
พินัยกรรมแบบธรรมดา
เป็นรูปแบบพินัยกรรมที่นิยมทำกันมาก ต้องทำเป็นหนังสือ (พิมพ์หรือเขียนก็ได้ จะมอบหมายให้ใครพิมพ์หรือเขียนก็ได้ด้วย) ลงวันเดือนปีขณะทำพินัยกรรม ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน
พินัยกรรมแบบนี้มีข้อสังเกตที่ต้องสนใจคือ เรื่องพยานอย่างน้อย 2 คน เช่น ถ้าลงชื่อพยานและผู้เขียน 1 คน และลงชื่อพยาน 1 คน ก็นับเป็นพยาน 2 คน แต่ถ้าลงชื่อพยาน 1 คน และลงชื่อผู้เขียน 1 คน ก็ถือว่ามีพยาน 1 คนเท่านั้น
นอกจากนี้ คนที่เป็นพยานต้องลงลายมือชื่อเท่านั้น จะพิมพ์ลายนิ้วมือไม่ได้ และที่สำคัญต้องลงลายมือชื่อพยานสองคนพร้อมกันต่อหน้าผู้ทำพินัยกรรมด้วย สำหรับกรณีผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือก็ต้องให้พยานลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือด้วย
พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนข้อความเองทั้งหมดทั้งฉบับ จะเขียนบ้างพิมพ์บ้างไม่ได้ และต้องลงลายมือชื่อไว้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องมีพยานก็ได้
พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
ต้องไปหานายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตให้เป็นผู้จัดทำให้ โดยผู้ทำพินัยกรรมและพยานสองคนลงลายมือชื่อในพินัยกรรมแล้ว นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตจะเขียนรับรองพินัยกรรม พร้อมประทับตราประจำตำแหน่ง
พินัยกรรมแบบเอกสารลับ
ผู้ทำพินัยกรรมเขียนหรือพิมพ์เอง หรือให้ผู้อื่นทำให้ก็ได้ เมื่อลงลายมือชื่อในพินัยกรรมแล้วให้ใส่ซองปิดผนึก และลงลายมือชื่อตรงรอยผนึกนั้น พร้อมทั้งนำพยานสองคนไปให้ถ้อยคำต่อนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตเพื่อบันทึกไว้บนซองเอกสารนั้น โดยให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้บนซอง และให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตเก็บรักษาไว้
พินัยกรรมแบบวาจา
ต้องเป็นในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น เช่น มีอุบัติเหตุร้ายแรงและใกล้ตาย ผู้ทำพินัยกรรมด้วยวาจาจะต้องแสดงเจตนาว่าจะยกทรัพย์สินให้ใครต่อหน้าพยานสองคน จากนั้นพยานรีบไปแจ้งวันเดือนปีและข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมสั่งไว้ต่อนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต ให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตจดข้อความ แล้วให้พยานลงลายมือชื่อไว้
พินัยกรรมจะมีผลบังคับได้ตามกฎหมายก็ต่อเมื่อได้ทำตามแบบและวิธีที่กำหนดไว้เท่านั้น โดยแบบของพินัยกรรมที่บุคคลทั่วไปสามารถทำได้เองโดยที่ไม่ต้องเกี่ยวของกับหน่วยงานราชการ ได้แก่ พินัยกรรมแบบธรรมดา และพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
การขูด ลบ ตก เติม หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลง ข้อความในพินัยกรรม ต้องลงวัน เดือนปี และลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน และพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อในขณะนั้นด้วย
เห็นไหมว่า การทำพินัยกรรมไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย ถ้าไม่อยากทำให้ทรัพย์สินเงินทองที่เก็บสะสมมาทั้งชีวิตกลายเป็น “มรดกเจ้าปัญหา” ก็ควรทำพินัยกรรมไว้ดีกว่า