ลงทุนให้กำไร ช่วงดอกเบี้ยขาลง
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
เมื่อไหร่ที่อัตราดอกเบี้ยเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะขึ้นหรือลง ย่อมส่งแรงสะเทือนมายังสินทรัพย์ที่เราลงทุน เมื่อเป็นแบบนี้ ก็ต้องเตรียมแผนการลงทุน เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์
ล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า ครึ่งปีหลังของปีนี้ อาจมีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ถ้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลดลงจริงๆ จะลงทุนอะไร ควรปรับแผนลงทุนยังไง เพื่อให้ผลกำไรยังคงงอกเงยต่อไป
ฝากเงินไว้กับแบงก์
ถ้าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นปรับลดลง แบงก์พาณิชย์ต่างๆ จะทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินฝาก หมายความว่า ผู้ฝากจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำลงตามไปด้วย ทุกวันนี้ก็ได้ดอกเบี้ยต่ำอยู่แล้ว จะได้น้อยลงไปอีก ทำให้หลายคนเริ่มคิดแล้วว่าจะโยกเงินไปลงทุนอะไร
ตราสารหนี้
รู้กันดีว่าผลตอบแทนจากการลงทุนตราสารหนี้ หรือที่เรียกว่า Bond Yield จะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ดังนั้น ถ้าดอกเบี้ยถูกปรับลดลง Bond Yield ย่อมลดลงตามไปด้วย
แต่ประเด็นนี้ต้องแยกเป็น 2 กรณี
กรณีแรก จะเป็นผลดีกับผู้ซื้อตราสารหนี้ (ถือครอง) ก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับลด และเมื่อดอกเบี้ยลดลง ถึงแม้ Bond Yield จะลดลง แต่ราคาตราสารหนี้จะปรับเพิ่มสูงขึ้น
กรณีต่อมา เป็นผลลบกับผู้ที่ซื้อตราสารหนี้ช่วงดอกเบี้ยกำลังปรับลดลง เพราะจะได้ Bond Yield ในระดับต่ำ พูดง่ายๆ ต้องซื้อแพงขึ้น เมื่อเทียบกับผู้ที่ซื้อก่อนดอกเบี้ยจะถูกปรับลด
ตลาดหุ้นและกองทุนรวมหุ้น
หุ้นกับดอกเบี้ยขาลงเป็นของคู่กัน นั่นคือ บรรยากาศการลงทุนหุ้นจะสดใสคึกคัก เพราะนักลงทุนจะโยกเงินจากสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนต่ำๆ เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ เข้าสู่สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี นั่นก็คือ ตลาดหุ้น รวมถึงกองทุนรวมหุ้น
สังเกตเห็นว่าพอมีสัญญาณอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นมีโอกาสปรับลดลง ตลาดหุ้นหรือกองทุนรวมหุ้นจะได้รับความนิยมมากขึ้น ยิ่งช่วงแรกๆ ที่ดอกเบี้ยถูกปรับลดลง ตลาดหุ้นยิ่งคึกคัก
อย่างไรก็ตาม การที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นถูกปรับลดลง แสดงว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะหดตัว (ลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ) อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน การค้าขายสะดุด ภาคส่งออกหดตัว ถ้าเป็นแบบนี้ย่อมทำให้กำไรหดหาย ราคาหุ้นลดลง หมายความว่า ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ อาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในระยะยาวก็เป็นได้
ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนหรือปรับแผนการลงทุน ต้องศึกษาข้อมูล เปรียบเทียบผลดี ผลเสียให้ละเอียดถี่ถ้วน