×

Wealth Me Up คำพ่อสอน

ศ. เศรษฐกิจพอเพียง

6,635

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำริเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว ดังพระราชดำรัสในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ว่า

 

“คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน…ไม่ใช่จะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้…”

 

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๓๗ มีพระราชดำรัสเรื่อง “ทฤษฎีใหม่” ซึ่งก็คือรูปธรรมหนึ่งของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ช่วยให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเองได้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ พระองค์มีพระราชดำรัสซึ่งทรงใช้คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นครั้งแรก

 

“…ถ้าเราทำแบบที่ไทยทำได้ คือเศรษฐกิจแบบพอเพียงกับตนเอง เราก็อยู่ได้ไม่ต้องเดือนร้อน…ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่งหนึ่งก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถอยู่ได้…

 

“…การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง…ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควรบางสิ่งบางอย่างผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้…”

 

ในปีต่อมา พ.ศ. ๒๕๔๑ พระองค์มีพระราชดำรัสเพื่อขยายความหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า

 

“…คือคำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอดังนั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด-อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ- มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่นต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง…”

 

ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้สรุปหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้ว่า ประกอบด้วยหลักคุณสมบัติสามข้อและเงื่อนไขสองประการ

 

หลักคุณสมบัติของความพอเพียงมีสามข้อ คือ

ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีไม่น้อยไม่มากเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น การพัฒนาอย่างมีขั้นตอน ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ก้าวกระโดดอย่างเสี่ยงไม่ละโมบ

ความมีเหตุผล หมายถึง การใช้เหตุผลพิจารณาปัจจัยต่างๆ และผลลัพธ์ของการปฏิบัติอย่างรอบคอบ ให้เกิดความเหมาะสมกับสภาพของแต่ละคน

การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง  ความไม่ประมาท การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆในอนาคต มีการออม การกระจายความเสี่ยงและการร่วมมือช่วยเหลือแบ่งปันกัน

 

เงื่อนไขของการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมให้อยู่ในความพอเพียงมีสองประการ คือ

ความรู้ หมายถึง การแสวงหาความรู้และนำความรู้ในวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อวางแผนการปฏิบัติอย่างรอบคอบให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล

คุณธรรม หมายถึง การสร้างความตระหนักในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร และใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

 

ผลลัพธ์ของการปฎิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ ความสมดุล ความมั่นคง และความยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้ และเทคโนโลยี

 

การใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบ่งเป็นสองระดับ

– เศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน คือความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัว

– เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า คือความพอเพียงในระดับชุมชน องค์กรและประเทศ

 

อาจมีหลายคนสงสัยว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ทำได้จริงหรือไม่ ธำรงค์ ใจบุศย์ เกษตรกรสมาชิกของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ กล่าวถึงเศรษฐกิจพอเพียงจากการปฏิบัติและเกิดผลแล้วกับตนเองว่า

 

“…เดี๋ยวนี้ชุมชนของเราเข้มแข็งครับ มีความสามัคคีเป็นเลิศ เพราะเราอยู่กันอย่างพอเพียง พึ่งพาอาศัยกัน ไม่มีการข่มเหงรังแกกัน เราดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายสันโดษ พอเรามีสติแล้ว ปัญญาก็จะเกิด ทฤษฎีของพระองค์ท่านไม่ใช่แค่เรื่องการเกษตรเท่านั้น แต่ยังเป็นทฤษฎีของคุณธรรมด้วย ทฤษฎีนี้เชื่อมใจเราให้เข้าหาคุณธรรม คือไม่ใช่แค่เราอยู่ได้ แต่ต้องอยู่อย่างเป็นคนดีด้วย ถ้าเราเข้มแข็ง ประเทศชาติก็เข้มแข็งด้วย นี้เป็นผลจากการดำเนินชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง”

 

ที่มา : หนังสือ ตามรอยพ่อ ก-ฮ  ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์

Related Stories

amazon anti fatigue mats