มีหนี้แค่ไหน? ปลอดภัย
ใครไม่เคยเป็นหนี้ ยกมือขึ้น!
แทบไม่มีใครยกมือขึ้นให้เห็น เพราะขึ้นชื่อว่า “หนี้” อยู่คู่กับคนไทยมานานแสนนาน และจะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เพราะคนไทยยังกู้หนี้ยืมสินไม่ขาดตกบกพร่อง โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ช่วง 3 เดือนแรกปีนี้อยู่ราว 80%
การกู้หนี้ยืมสินเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของตัวเองและครอบครัวดีขึ้นถือว่าเหมาะสม เช่น กู้ซื้อบ้าน เพื่อการศึกษาบุตร แต่การเป็นหนี้เพื่อสนองตัณหาระยะสั้นๆ เช่น รูดบัตรเครดิตซื้อกระเป๋าใบใหม่ และเป็นใบที่ 5 หรือผ่อนรถคันที่ 2 ในรอบ 3 ปี คงไม่ดีแน่นอน
เมื่อเป็นหนี้แล้ว สามารถบริหารจัดการหนี้สินได้ยอดเยี่ยมคงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากออกอาการใกล้สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ เงินไม่พอใช้ หรือสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเต็มห้องทุกที หากเป็นแบบนี้เคยถามตัวเองหรือไม่ว่า เกิดอะไรขึ้น?
คำตอบคงหนีไม่พ้น “รายจ่าย มากกว่า รายรับ”
คำถามตามมา คือ ในแต่ละเดือน ควรจะมีรายจ่ายแค่ไหนถึงจะยืดอก คุยโม้ได้สามบ้าน แปดบ้านว่าได้ห่างไกลจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแล้ว
คำตอบคือ มีหลายระดับและแต่ละระดับจะบอกว่าเดือนนั้นสามารถอยู่รอดปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งการที่จะรู้ได้ว่าในแต่ละเดือนมีระดับหนี้แค่ไหน ดูได้จากอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รวม (Debt to Income Ratio : DTI)
สำหรับภาระหนี้ในแต่ละเดือนที่ต้องจ่าย เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าสารณูปโภคต่างๆ ค่าบัตรเครดิต ค่าอาหาร ฯลฯ ส่วนรายได้ในแต่ละเดือน เช่น เงินเดือน ค่าโอที รับจ้างทำงานพิเศษ เงินปันผล ฯลฯ
วิธีคำนวณ ให้รวมรายจ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือนแล้วหารด้วยรายรับทั้งหมดที่ทำได้ในเดือนนั้น
สมมติว่า เดือนมิถุนายน มีภาระที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น 20,000 บาท มีรายรับทั้งหมด 60,000 บาท
ตามสูตร 20,000/60,000 = 0.33 คูณ 100 = 33.33% นั่นคือ อัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รวมเท่ากับ 33.33% พูดง่ายๆ ทุกๆ รายได้ 100 บาท จะมีรายจ่าย 33.33 บาท
ตามหลักทั่วไป ถ้าอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้รวม 36% หรือต่ำกว่า แสดงว่ามีสุขภาพทางการเงินแข็งแรงมาก มีการบริหารจัดการหนี้ที่ดี และถ้าอยากจะกู้หนี้ยืมสินเพิ่ม บอกได้เลยว่าแบงก์ยินดีให้กู้ใจจะขาด
ลองสำรวจตัวเองว่าในแต่ละเดือนมีรายรับ รายจ่ายเท่าไหร่ ถ้ามีเงินเหลือเก็บ แสดงว่ามีการจัดการการเงินส่วนบุคคลที่ดี ยิ่งมีการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณยิ่งสุดยอด ตรงกันข้ามหากมีหนี้เยอะ แถมเป็นหนี้ที่เกิดจากการบริโภคแบบไม่จำเป็น ต้องรีบแก้ไขให้เร็วที่สุด หากปล่อยทิ้งไว้อาจจะถึงขั้นล้มละลายได้
กด Subscribe รอเลย…