“เจ้าหนี้” ยึดทรัพย์อะไรได้บ้าง?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
การแก้ปัญหาหนี้ที่ดีที่สุด คือ อย่าเป็นหนี้ อย่าใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย แต่หลายครั้งการเป็นหนี้ก็เกิดจากใช้เงินตามความจำเป็นจริงๆ เช่น กู้เงินมาทำธุรกิจแต่เจอเศรษฐกิจไม่ดีหรือวิกฤตเศรษฐกิจก็แย่เหมือนกัน จนทำให้หลายคนถึงกับหมดเนื้อหมดตัว
ถ้าเป็นหนี้ แต่ไม่สามารถชำระหนี้ และหนักถึงขั้นล้มละลาย เจ้าหนี้จะยึดทรัพย์อะไรได้บ้าง? มาดูกันว่า กฎหมายยึดทรัพย์ว่าไว้ยังไงบ้าง
การยึดทรัพย์หรืออายัด
การยึดหรืออายัดจะเกิดขึ้นเมื่อเราไม่สามารถชำระหนี้ และเจ้าหนี้ก็ดำเนินการฟ้องร้องจนชนะคดีแพ่ง หลังจากนั้นถ้าเราในฐานะลูกหนี้ไม่ไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด ศาลจะออกหมายบังคับคดีให้มีการยึดทรัพย์ หรืออายัดทรัพย์ของลูกหนี้ได้
แต่เจ้าหนี้ไม่สามารถไปยึดทรัพย์ลูกหนี้ได้เอง เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานของกรมบังคับคดีที่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไป ก่อนนำทรัพย์สินที่ยึดได้ไปทำการยื่นคำขอต่อศาลให้มีคำสั่งขายทอดตลาด เพื่อนำเงินที่ขายของได้มาชำระหนี้ให้โจทก์หรือเจ้าหนี้ต่อไป
ทรัพย์สินอะไรบ้างที่เจ้าหนี้สามารถยึดหรืออายัดได้?
แม้เจ้าหนี้จะชนะคดีแล้ว เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์ได้บางอย่างเท่านั้น อย่างเช่น
- ของมีค่า
- สินทรัพย์การเงิน เช่น เงินฝาก หุ้น กองทุน ประกัน ฯลฯ
- บ้าน ที่ดิน (แม้จะติดจำนองอยู่ก็สามารถที่จะยึดได้) โดยเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ต่อเมื่อมีเงินเหลือหลังจากขายทอดตลาดและชำระหนี้ให้เจ้าหนี้จำนองครบหมดแล้ว
- รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ และไม่ได้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ
- เงินชดเชยการออกจากงาน
- เงินเดือน (ลูกหนี้ต้องมีรายได้เกินกว่า 20,000 บาทต่อเดือน จึงจะยึดได้)
ทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ไม่สามารถยึดได้
คือทรัพย์สินที่จำเป็นและในจำนวนที่เพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิตของลูกหนี้ อย่างเช่น
- ของใช้ส่วนตัวที่มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 50,000 บาท เช่น เสื้อผ้า โต๊ะ (หากเกินสามารถถูกยึดได้)
- เครื่องมือในการประกอบอาชีพของลูกหนี้ ที่มีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 100,000 บาท เช่น คอมพิวเตอร์ (หากเกินสามารถถูกยึดได้)
- รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ที่ติดไฟแนนซ์ ไม่สามารถยึดได้ เพราะกรรมสิทธิ์เป็นของไฟแนนซ์
- สัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ ที่จำเป็นต้องใช้ทำหน้าที่ช่วยเหลือแทนอวัยวะของลูกหนี้
- เงินเดือน ค่าจ้าง บํานาญ บําเหน็จ เบี้ยหวัดของลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ จะไม่สามารถทำการยึดหรืออายัดได้ หรือหากเป็นเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ
- เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
- เงินเบี้ยเลี้ยงชีพ
- เงินเดือนเฉพาะที่ไม่ถึง 20,000 บาท
- รายได้ที่บุคคลอื่นมอบให้เพื่อเลี้ยงชีพ แต่ต้องไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน (หากเกินสามารถถูกยึดได้)
- บำเหน็จหรือรายได้อื่นๆ ในลักษณะเดียวกันของพนักงานที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ ที่ไม่เกิน 300,000 บาท (หากเกินสามารถถูกยึดได้)
- เงินฌาปนกิจสงเคราะห์
ทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศยึดได้มั้ย?
หมายบังคับคดีเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์ลูกหนี้จะไม่มีผลในต่างประเทศ เพราะประเทศไทยไม่ได้เป็นคู่สัญญา หรือภาคีในอนุสัญญาต่างตอบแทนเพื่อการบังคับคดีระหว่างประเทศใดๆ ดังนั้นหากเจ้าหนี้ต้องการจะยึดหรืออายัดทรัพย์ในต่างประเทศ เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ในประเทศที่ลูกหนี้มีทรัพย์สินนั้นๆตั้งอยู่
ถ้าลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดเลย เจ้าหนี้จะทำยังไง?
เจ้าหนี้จะไม่มีอะไรให้ยึดหรืออายัดก็จะได้แค่คำพิพากษาเท่านั้น แต่ถ้าเจ้าหนี้หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้เริ่มกระบวนการบังคับคดีภายใน 10 ปี นับตั้งแต่วันพิพากษาตามที่กฎหมายกำหนด เจ้าพนักงานบังคับคดีก็สามารถดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวได้ทันที โดยไม่มีกำหนดเวลาหมดอายุจนกว่าลูกหนี้จะชำระเงินครบตามจำนวน แปลว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถยึดทรัพย์ลูกหนี้ได้ตลอด ขอแค่เริ่มกระบวนการบังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันพิพากษาก็พอ