×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

ไทย = ประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ 'แก่ก่อนรวย'

15,066

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

 

แก่ก่อนรวย และตายก่อนรวย กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ที่ถือว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลก ที่กำลังเผชิญปัญหาของประเทศพัฒนาแล้ว คือ มีอัตราการเกิดต่ำมาก

 

อัตราการเกิดต่ำแค่ไหน?

องค์การสหประชาชาติ หรือ UN เปิดเผยข้อมูลเมื่อเร็วๆ นี้ว่า อัตราเกิดในประเทศไทย ลดลงไปอยู่ในระดับเดียวกับ “สวิตเซอร์แลนด์” และ “ฟินแลนด์” ที่ใครๆ ก็รู้ว่า เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และคนมีรายได้สูงมาก ซึ่งนอกจากความเหมือนในเรื่อง อัตราการเกิดต่ำแล้ว ไทยกับสองประเทศนี้ ก็มีความแตกต่างกันทุกอย่าง

 

แค่มีคนสูงอายุมากขึ้นในระดับที่สูงมากจนกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุยังไม่พอ คนสูงอายุไทยยังแก่และจนอีกต่างหาก ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาหนักหน่วงสำหรับตัวคนไทยเอง และเป็นปัญหาระดับชาติก็ว่าได้

 

จากกลัวคนล้น…สู่คนเกิดน้อย

ก่อนหน้านี้ คนวางแผนนโยบายในประเทศต่างๆ กลัวว่า คนจะล้นโลก แต่ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลก รวมทั้ง “ไทย” กำลังเผชิญปัญหา คนเกิดน้อย ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว โดยตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ไทยเป็นประเทศที่สังคมเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็วกว่าหลายประเทศทั่วโลก หากไม่รวม “จีน” ซึ่งทำให้อัตราการเกิดต่ำแบบนี้

 

คนจำนวนมากตัดสินใจทิ้งบ้านเกิด ย้ายมาอยู่ในเมืองมากขึ้น เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้กับชีวิต การใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจเป็นโสด หรือหากมีครอบครัว ก็ไม่อยากมีลูกหรือมีลูกน้อย

 

ส่วนอีกเหตุผลที่ทำให้ครอบครัวไทยมีขนาดเล็กลงก็คือ การสนับสนุนการคุมกำเนิด ตั้งแต่เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้ภายในเวลา 20 ปี อัตราการเจริญพันธุ์ ของไทยลดจาก 6.6 เหลือ 2.2 ซึ่งเท่ากับว่า ผู้หญิงไทยแต่ละคนจะมีลูกเฉลี่ย 2.2 คน

 

และปัจจุบัน อัตราการเจริญพันธุ์เหลือแค่ 1.5 หรือหมายความว่า ผู้หญิงไทยคนหนึ่งจะมีลูกเฉลี่ย 1.5 คน ติดอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในโลก และน้อยกว่าจีนที่อัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.7 ขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ที่เหมาะสม ที่จะทำให้มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นคงที่นั้น อยู่ที่ระดับ 2.1

 

ทาง UN ประเมินว่า หากไทยยังตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ภายในสิ้นศตวรรษนี้ จำนวนคนไทยก็จะหายไปมากกว่า 1 ใน 3 จากปัจจุบันไทยมีประชากรราว 70 ล้านคน ก็เท่ากับว่า สิ้นศตวรรษนี้ ประเทศไทยจะมีประชากรประมาณ 47 ล้านคนเท่านั้น

 

ไทยติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่คาดว่าจะมีประชากรลดลงมากที่สุดภายในปี 2643 คือ หรือจำนวนประชากรลดลง 34.1% โดย UN ประเมินว่า หากไทยยังมีอัตราการเกิดน้อยแบบนี้ต่อไป ก็คาดว่าประชากรจะลดลงเหลือ 65 ล้านคนในปี 2593 และเหลือ 47 ล้านคนในปี 2643

 

อัตราการเกิดต่ำ ส่งผลกระทบอะไร?

เมื่อมีอัตราการเกิดน้อย ก็หมายความว่า ไทยจะมีจำนวนคนวัยแรงงานลดน้อยลงเรื่อยๆ สวนทางกับจำนวนคนสูงวัยที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งมีการประเมินว่า ภายในปี 2573 หรืออีกแค่ 11ปี คนไทยประมาณ 25% จะมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หรือเป็นคนวัยเกษียณ ที่เรี่ยวแรงก็จะลดน้อยถอยลง และจำนวนไม่น้อยจะออกจากตลาดแรงงานไปพักผ่อนอยู่กับบ้าน แต่หลายคนก็ต้องทำงานต่อไปเรื่อยๆ เพราะจำเป็นต้องหารายได้เลี้ยงดูตัวเอง

 

คนเกิดน้อยลง ก็หมายถึง จำนวนผู้บริโภค คนวัยทำงาน และคนเสียภาษีน้อยลง แถมยังมีคนดูแลผู้สูงอายุน้อยลงด้วย เพราะอย่างที่บอกไปข้างต้นว่า อีกแค่ประมาณ 11 ปี คนไทย 25% จะเป็นผู้สูงอายุ

 

หากมองในแง่เศรษฐกิจภาพรวม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ก็ประเมินว่า จำนวนแรงงานที่ลดลงจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลง 1% ทุกปีในช่วง 20 ปีข้างหน้า

 

แรงงานต่างด้าวช่วยอุดช่องโหว่แรงงานขาดแคลน

หากพูดถึงเรื่องแรงงานที่จะได้รับผลกระทบหนัก หากไทยยังมีอัตราการเกิดต่ำขนาดนี้ต่อไป “ศรีพัต ตุลจาเพอร์การ์” นักประชากรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด บอกว่า ไทยจำเป็นต้องหามาตรการเพื่อเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน เพราะหากทำไม่ได้ จำนวนแรงงานที่น้อยก็จะไม่สามารถทำงานเพื่อเลี้ยงดูสังคมผู้สูงอายุของไทยได้

 

ถือเป็นโชคดีอย่างหนึ่ง ที่ประเทศไทยเปิดกว้างยอมรับแรงงานต่างด้าว ทำให้แรงงานอิมพอร์ตเหล่านี้จะสามารถเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ โดยปัจจุบัน แรงงานต่างด้าวมีสัดส่วนประมาณ 10% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศไทย โดยเฉพาะในบริษัทใหญ่ๆ จะมีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวสูงขึ้นอีก

 

อนาคตสุดท้าทายของไทย…เด็กเกิดใหม่น้อย แรงงานน้อย คนแก่เยอะเกินไป

แม้ว่าจะสามารถบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ด้วยการใช้แรงงานต่างด้าว แต่ก็ยังมีความท้าทายอีกหลายอย่างที่ต้องฝ่าฟัน

 

ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจที่เติบโตช้าลงเรื่อยๆ จนติดอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายของภูมิภาค จากระดับประมาณ 5.3% ในช่วงทศวรรษ 1990 มาอยู่ที่ประมาณ 3% กว่าในทศวรรษนี้ ส่วนเมื่อไตรมาสแรกที่ผ่านมา เศรษฐกิจก็ขยายตัวเพียง 2.8% ซึ่งต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี

 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสาธารณสุข เมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น รายจ่ายส่วนนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

ซึ่งข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TRDI ระบุว่า ต้นทุนของระบบสาธารณสุขของไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12% ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงสุดในบรรดาชาติอาเซียนแล้ว

 

ขณะที่ระบบกองทุนบำนาญของไทยนั้น Allianz SE บริษัทประกันระดับโลก ประเมินว่า มีเสถียรภาพน้อยที่สุดในบรรดา 54 ประเทศที่ทำการสำรวจ สอดคล้องกับนายสมชัย จิตสุชน กรรมการแบงก์ชาติ ที่มองว่า หากไม่มีการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ กองทุนอาจหมดเงินภายใน 15 ปี

 

ซึ่งนี่ก็เป็นอีกโจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องรีบแก้ไข เพื่อช่วยให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะได้เกษียณอย่างมีความสุข ไม่ต้องแก่และจนไป ถึงวันสุดท้ายของชีวิต

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats