5 รายจ่ายต้องระวัง! เมื่อ Work From Home
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
Work From Home (WFH) วิถีชีวิตใหม่ ที่เปลี่ยนจากตื่นแต่เช้าไปทำงานทุกวัน เป็นตื่นมาทำงานที่บ้านแทน ดูเผินๆ ค่าใช้จ่ายน่าจะลดลง แต่ก็มีบางอย่างที่เพิ่มขึ้น แบบไม่รู้ตัว เมื่อรวมๆ แล้ว ค่าใช้จ่ายตอน WFH อาจสูงกว่าออกไปทำงานก็ได้ ค่าใช้จ่ายที่ว่า เช่น
ค่าไฟฟ้า
อยู่บ้านมากขึ้น ก็ต้องเปิดไฟเปิดแอร์มากขึ้น ตอนทำงานก็คงดูหนังฟังเพลงไปด้วย จึงไม่แปลกที่ค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้น
ส่วนมากน้อยก็ขึ้นกับการใช้งาน ตัวอย่างเช่น ถ้าเปิดแอร์ตลอดเวลาที่อยู่บ้าน สมมติวันทำงานปกติกลับถึงบ้าน 20.00 น. และออกจากบ้าน 6.00 น. รวม 10 ชั่วโมง พอ WFH อยู่บ้านทั้งวัน 24 ชั่วโมง ค่าไฟฟ้าก็น่าจะสูงขึ้นเป็น 2.4 เท่าจากค่าไฟฟ้าปกติ (24 ชม.ต่อวัน ÷ 10 ชม.ต่อวัน)
ค่าอินเทอร์เน็ต
บ้านใครที่ไม่ติดตั้ง WiFi ไว้ แล้วใช้อินเทอร์เน็ตจากมือถือทำงาน อาจต้องเสียค่าแพ็กเกจเสริมเพิ่ม เน็ตมือถืออีกไม่น้อย
บางคนอาจค้านว่า แค่ใช้อินเทอร์เน็ต รับ-ส่งงาน จะเปลืองสักแค่ไหนกัน แต่อย่าลืมว่า ถ้าต้อง search หรือ save ข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะภาพเคลื่อนไหว หรือถ้ามีประชุม VDO Conference กับเพื่อนร่วมงาน แถมระหว่างวันถ้ามีดูหนังฟังเพลงด้วยแล้ว เน็ตมือถือที่มีคงไม่พอ
ค่าเดินทาง
บางบริษัทยังให้ลูกจ้างสลับกันเข้าออฟฟิศและ WFH กันอยู่ หรือหากต้องออกไปหาซื้อของใช้จำเป็น ก็คงเลี่ยงการเดินทางไม่ได้ ถ้าใครปกติเดินทางด้วยรถสาธารณะสถานการณ์ช่วงนี้หากเลือกได้ก็คงใช้บริการรถ Taxi หรือรถยนต์รับจ้าง ซึ่งนอกจากมีค่าใช้จ่ายเดินทางสูงขึ้นแล้ว ยังอาจมีค่าเรียกเพิ่มด้วย
ค่าอาหาร
เมื่อไม่ออกจากบ้าน แต่อาหาร 3 มื้อยังต้องกิน หรือวันที่ต้องเข้าออฟฟิศและไม่อยากเดินตากแดดออกไปซื้ออาหารเที่ยงเพื่อถือกลับมากิน การสั่ง Delivery food จึงกลายเป็นทางเลือกยอดนิยม
ร้านอาหารที่มี Delivery หรือสั่งผ่าน App ได้ แม้ราคาจะไม่แพงกว่าช่วงปกติและอาจมีโปรโมชั่นทั้งลดและแถม แต่หากเทียบค่าใช้จ่ายต่อมื้อที่อิ่มเท่ากันแล้วก็ถือว่าแพงกว่าข้าวร้านแกงปกติที่เคยกินหลายเท่าตัว
หากเลือกกิน Delivery food ทุกมื้อทุกวัน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้รวมๆ แล้ว สามารถเก็บไว้กินภัตตาคารหรูๆ ได้หลายมื้อ เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ
ค่ารักษาพยาบาล
ที่ไม่ใช่ค่ารักษาโรคจาก COVID-19 แต่เป็นค่ารักษาสุขภาพหลังเริ่มมีอาการหรือได้ผลตรวจสุขภาพประจำปีว่าทั้งน้ำหนักตัว ความดัน น้ำตาล ไขมัน ฯลฯ สูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมช่วง WFH ทั้งอาหาร ขนมขบเคี้ยวระหว่างทำงานและดูหนัง รวมไปถึงการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลง และการหลับพักผ่อนที่ตามใจตัวเองเกินไป เป็นต้น
หมั่นควบคุมค่าใช้จ่ายเฝ้าระวังช่วง WFH เพื่อลดรอยรั่วเงินในกระเป๋าให้เหลือน้อยที่สุด เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเงินเดือนที่ได้จาก WFH จะได้อีกนานแค่ไหน คงไม่มีบริษัทไหนจ่ายเงินเดือนพนักงานเท่าเดิมได้ตลอดไป ทั้งที่เนื้องานจากพนักงานเพื่อนำไปสร้างรายได้ให้บริษัทนั้นน้อยลง