×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

ไขข้อข้องใจ บุตรคนที่ 2 ลดหย่อนอย่างไร ?

12,170

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

แม้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 46) พ.ศ.2561 ส่งเสริมคนไทยมีลูกคนที่ 2 ขึ้นไป ลดหย่อนภาษีได้อีก 30,000 บาท/คน รวม 60,000 บาท เริ่มตั้งแต่ปีภาษี 2561 เป็นต้นไป โดยไม่จำกัดจำนวน โดยในการนับลำดับลูก ให้นับลำดับของลูกทุกคนไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม

 

และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331) เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สําหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ค่าลดหย่อนของการฝากครรภ์และคลอดบุตร จะกำหนดให้ผู้ที่มีเงินได้หรือคู่สมรส สามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ตามจ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท

 

แม้กฎหมายจะบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561 แต่หลายคนก็ยังไม่เข้าใจรายละเอียดหรือหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องของกฎหมายนี้ เลยขอสรุปง่ายๆ อย่างนี้

 

กรณีค่าลดหย่อนลูกคนที่ 2

 

  • ลดหย่อนได้เฉพาะลูกชอบด้วยกฎหมายคนที่ 2 ขึ้นไปเท่านั้น (ไม่รวมบุตรบุญธรรม) ที่เกิดตั้งแต่ ปี 2561 เป็นต้นไป ดังนั้นลูกคนที่ 3 ที่ 4 ที่…ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 ขึ้นไป จะลดหย่อนได้ 60,000 บาทต่อคนต่อปี
  • ลูกคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดก่อนปี 2561 หรือ ลูกคนที่ 1 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป หรือ ลูกบุญธรรมไม่ว่าจะเกิดปีไหน ลดหย่อนได้ 30,000 บาทต่อคนต่อปี

 

กรณีค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

 

  • ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ตามกฎหมาย คือ  ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล อันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ไม่ว่าจะเป็นค่าตรวจและรับฝากครรภ์  ค่าบําบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่าทําคลอด และค่ากินอยู่ในสถานพยาบาล ทั้งนี้ ไม่ว่าทารกที่คลอดจะมีชีวิตรอดหรือไม่ ดังนั้นแม้ว่าจะแท้งลูกและมีค่าใช้จ่ายเช่น ค่าขูดมดลูกก็สามารถนำค่าใช้จ่ายนั้นมาลดหย่อนภาษีได้

 

  • ค่าลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริง สูงสุดไม่เกินปีละ 60,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายต่อครรภ์ ตัวอย่างเช่น จ่ายค่าฝากครรภ์ปี 2561 เป็นเงิน 35,000 บาท และจ่ายค่าคลอดบุตรปี 2562 เป็นเงิน 45,000 บาท จะลดหย่อนปี 2561 ได้ 35,000 บาท ลดหย่อนปี 2562 ได้ 25,000 บาท เพราะลดหย่อนต่อครรภ์ต้องไม่เกิน 60,000 บาท ไม่ว่าจะคลอดลูกแฝด หรือ ลูกคนเดียว แต่ถ้าจ่ายค่าคลอดบุตรต้นปี 2561 เป็นเงิน 60,000 บาท ปลายปีจ่ายค่าฝากครรภ์บุตรคนที่ 2 อีก 60,000 บาท ก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ 120,000 บาท คือ ครรภ์ละไม่เกิน 60,000 บาท

 

  • สิทธิลดหย่อน 60,000 บาทนี้ ต้องนําไปรวมกับสิทธิการเบิกค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตรที่เราได้รับจากสวัสดิการไม่ว่าภาครัฐหรือภาคเอกชน เช่น สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ สิทธิประกันสังคม  สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของบริษัทเอกชนแล้วต้องไม่เกิน 60,000  บาท เช่น เราเบิกสวัสดิการค่าคลอดบุตรจากบริษัทได้ 20,000 บาท เราก็เหลือให้หักลดหย่อนได้เต็มที่ไม่เกิน 40,000 บาท คือ เมื่อนำไปรวมกับสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ แล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท

 

  • ถ้าพ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แม่เท่านั้นมีสิทธิลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท

 

  • พ่อแม่จดทะเบียนสมรส ก็ลดหย่อนได้รวมตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท เช่น แม่ไม่มีเงินได้ พ่อมีเงินได้ พ่อลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาท หรือ พ่อและแม่มีเงินได้ ถ้ายื่นรวมลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาท ถ้าแยกยื่น แม่เท่านั้นมีสิทธิลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาท

 

  • หลักฐานในการขอลดหย่อน คือ ใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่าผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายค่าฝากครรภ์ ดังนั้นถึงแม้ใบเสร็จรับเงินค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรออกมาในชื่อสามี ภริยาก็ใช้สิทธิลดหย่อนได้

 

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats