×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

ทางเลือกออม ไม่หวั่นภาษี

8,675

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

เมื่อสรรพากรจะเก็บภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์ เราจะทำยังไงกันดี?

คนไทยโดยทั่วไปนิยมฝากเงินแบบออมทรัพย์ เพราะคิดว่าปลอดภัย สะดวก ถอนเมื่อไหร่ก็ได้ แม้จะได้รับดอกเบี้ยน้อยมากๆ หรือแค่ 0.5% แต่ตอนนี้หลายคนอาจต้องคิดใหม่ เพราะกรมสรรพากรประกาศชัดว่า ต่อไปนี้จะมีการเก็บดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ยกเว้นเพียง 2 กรณี คือ

  1. ดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาท และ
  2. ผู้ฝากเงินยินยอมให้ธนาคารแจ้งข้อมูลดอกเบี้ยให้สรรพากร

ซึ่งหากใครมีครบทั้ง 2 เงื่อนไข ก็จะรับยกเว้นภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์

เมื่อการออมเงินในบัญชีออมทรัพย์เริ่มมีปัญหา ก็ใช่ว่าจะสิ้นสุดทางออก เพราะการออมเงินที่ได้รับประโยชน์ทางภาษียังมีอีกหลายวิธี สามารถแบ่งง่ายๆ เป็น 3 ระดับ ดังนี้

2 เด้ง

คือ การออมเงินที่เงินออมลดหย่อนภาษีได้ ผลตอบแทนที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี ได้แก่ RMF, LTF, ประกันชีวิต, ประกันบำนาญ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ

การออมแบบ 2 เด้งนี้จะได้ประโยชน์สูงสุด แต่เนื่องจากเป็นเงินได้ที่สรรพากรเสียประโยชน์มากที่สุดด้วยเช่นกัน ดังนั้น การออมแบบ 2 เด้งจึงเป็นการออมที่มีเงื่อนไขและมีข้อจำกัดในการออม เช่น เงินได้ที่ยกเว้นภาษีสำหรับการออมเงินใน RMF ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับเงินออมเพื่อเกษียณอายุอย่างอื่น เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท เป็นต้น

1 เด้ง

คือ การออมเงินที่เงินออมลดหย่อนภาษีไม่ได้ แต่ผลตอบแทนที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี ได้แก่

  1. ดอกเบี้ยสลากออมสิน หรือดอกเบี้ยเงินฝากออมสินของรัฐบาลเฉพาะประเภทฝากเผื่อเรียก
  2. ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์
  3. ดอกเบี้ยเงินฝากที่เกิดจากการฝากเงินกับธนาคารในประเทศไทยและจากสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ในประเทศ เป็นรายเดือนติดต่อกันมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า
    24 เดือนนับแต่วันที่ฝาก โดยมียอดเงินฝากแต่ละครั้งเท่ากันแต่ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือนและรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 600,000 บาท
  4. ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
  5. ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันแล้วมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษีนั้น และผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์
  6. กำไรจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
  7. กำไรจากการซื้อขายกองทุนรวม

(เดิมดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารที่ถ้าไม่เกิน 20,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษีก็อยู่ในกลุ่มนี้)

0 เด้ง

คือ การออมเงินที่เงินออมลดหย่อนภาษีไม่ได้ แถมผลตอบแทนที่ได้ยังต้องเสียภาษีอีกด้วย ผลตอบแทนจากการออมเงินในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเงินได้แบบภาษีสุดท้าย (Final Tax) คือ เงินได้ที่ผู้มีเงินได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ตามประเภทที่กำหนดไว้แล้ว เมื่อถึงตอนสิ้นปีมีสิทธิที่จะเลือกเอาเงินได้ดังกล่าวมารวมหรือไม่รวมคำนวณในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ตอนสิ้นปี (ภงด.90, 91)ได้

เงินได้ประเภทนี้ ได้แก่ ดอกเบี้ยและกำไรจากการซื้อขายตราสารหนี้ ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่ปีภาษีนั้นเกิน 20,000 บาท ดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่ผู้ฝากเงินไม่ยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร เงินปันผลกองทุนรวม เงินปันผลหุ้น ฯลฯ

การบริหารเงินออมที่ดี ควรใช้ประโยชน์แบบ 2 เด้งให้เต็มเพดานที่สรรพากรให้ก่อน ค่อยมาออมแบบ 1 เด้ง และการออมแบบ 0 เด้งตามลำดับ

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats