4 สิ่งต้องมี จากบทเรียน COVID-19
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
บทเรียนเรื่องเงิน ที่วิกฤติ COVID อยากบอก แต่เราอาจยังไม่ได้ยิน มี 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่
เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ต้องมี
“เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน” เป็นประโยคที่ผมได้ยินจากเหล่ากูรูการเงินมานานหลายปี ซึ่งเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้างมาตลอด แต่มาถึงวันนี้ทุกคนคงรู้แล้วว่าเงินสำรองนั้นสำคัญเพียงใด โดยเฉพาะคนที่กำลังเผชิญสถานการณ์ที่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ รายได้ลดลง หรืออาจถึงขั้นตกงาน
พอหันมาเช็กเงินเก็บที่มีอยู่ ก็ต้องถามตัวเองว่าหากถูกลดเงินเดือนลงหรือถึงขั้นต้อง leave without pay (หยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน) เงินเก็บนี้เพียงพอให้ใช้จ่ายได้สักกี่เดือน และนานพอให้ผ่านพ้นวิกฤติ COVID ครั้งนี้หรือไม่
มีบัตร ATM สำรองที่บ้านไว้เสมอ
มีเพื่อนผมคนหนึ่ง เธอมีบัตร ATM แค่ 1 ใบเท่านั้น แล้วบังเอิญวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาเธอทำบัตรหาย โดยที่มีเงินติดตัวไม่ถึงร้อยบาท
ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นช่วงสถานการณ์ปกติคงไม่น่าหนักใจเท่าไร แต่บังเอิญช่วงนี้ธนาคารทั้งรัฐและเอกชนทุกสาขาพร้อมใจกันหยุดทำการวันเสาร์-อาทิตย์ ลองคิดดูว่าเงินในกระเป๋าจะพอใช้ชีวิต 2 วันนี้ไหม และเพียงพอกับค่าเดินทางไปธนาคารในวันเปิดทำการหรือไม่ แต่โชคดีที่เธอมีเพื่อนบ้านโซนใกล้กันที่พอจะขับรถนำเงินมาให้หยิบยืมกันได้
อยากแนะนำว่าคนเราควรมีบัตร ATM อย่างน้อยสัก 2 ใบ หรือถ้าใครมักกดเงินแบบไม่ใช้บัตรผ่าน Mobile Banking ก็ควรมีบัตร ATM สำรองไว้ที่บ้านสักหนึ่งใบ เผื่อเหตุฉุกเฉินทำกระเป๋าเงินและโทรศัพท์หายจะได้พอไปกดเงินออกมาใช้จ่ายได้
รายได้ มีทั้งคงที่และผันแปร
หลายคนทำงานด้วยความเคยชินจนลืมไปว่ารายได้ทุกวันนี้มีทั้งส่วน (a) ฐานเงินเดือนซึ่งเป็นรายได้คงที่ เปลี่ยนแปลงได้ยากหากนายจ้างไม่อยู่ในภาวะวิกฤติจริงๆ
และส่วน (b) รายได้ผันแปร ที่ได้รับเมื่อทำงานได้อย่างเต็มที่ เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าคอมมิชชั่น ค่าเซอร์วิส เป็นต้น ซึ่งในสถานการณ์ COVID อย่างนี้ คงแทบไม่มีใครมีรายได้ส่วนนี้กันแล้ว
ดังนั้น ก่อนสร้างภาระใดๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าผ่อนหนี้ ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าเบี้ยประกัน ฯลฯ ควรคำนึงถึงสถานการณ์ที่รายได้ผันแปรอาจน้อยกว่าสถานการณ์ปกติด้วย
วินัยการเงินเป็นสิ่งสำคัญ
ไม่ว่าจะเป็น (a) ภาระผ่อนหนี้ที่ไม่ควรเกิน 40%ของรายได้ เพราะยิ่งมียอดผ่อนหนี้สูง ผลกระทบก็ยิ่งสูงเมื่อรายได้ลดลง
(b) เก็บออมอย่างน้อย 10%-20%ของรายได้แต่ละเดือน เพื่อที่อย่างน้อยหากรายได้ลดลง นอกจากควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นแล้ว อาจลดการเก็บออมส่วนนี้ไประยะเวลาหนึ่งจนกว่ารายได้กลับมาเป็นปกติ ก็ได้
และ (c) จดบันทึกค่าใช้จ่าย ที่โดยปกติอาจดูไม่สำคัญ แต่เมื่อถึงคราวต้องตัดสินใจลดค่าใช้จ่ายบางอย่างเพื่อให้อยู่รอดในช่วงสั้นๆ บันทึกค่าใช้จ่ายที่ว่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราตัดสินใจได้ดี
ทุกประสบการณ์คือบทเรียน ขอเพียงเรายอมรับที่จะปรับตัวให้เหมาะกับสถานการณ์ ใช้เวลาค่อยๆ เรียนรู้และทบทวน แล้วบทเรียนจะสอนเราให้เติบโต และไม่ผิดพลาดซ้ำเดิม