×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

5 คำถามชวนคุย เมื่อคิด ‘วางแผนเกษียณ’

1,921

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

คุณเคยวาดภาพตัวเองในวัยเกษียณไว้เช่นนี้บ้างหรือไม่ 

อยากมีเงินโดยไม่ต้องทำงาน” 

อยากมีเงินใช้เดือนละ 30,000 บาท” 

อยากไปเที่ยวรอบโลก” 

 

คำถาม คือ คุณเคยนำภาพในอนาคตเหล่านี้มาเปลี่ยนเป็นจำนวนเงินหรือไม่ว่าต้องใช้เงินเท่าไร แล้วคุณจะนำเงินมาจากที่ไหนบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย วิธีที่ง่ายที่สุด คือ เริ่มต้นลงมือเก็บเงินเพื่อเกษียณตั้งแต่วันนี้ ออมก่อนรวยกว่า!

 

ลองมาตั้งคำถามง่ายๆ 5 คำถามกับตัวเองกันว่า พร้อมหรือไม่กับการวางแผนเกษียณ?

 

คำถามที่ 1 เริ่มวางแผนเกษียณเมื่อไร?

 

หากเป็นสมัยก่อนหลายคนคิดเริ่มตอนอายุทะลุ 30 ปีไปแล้ว หรือเริ่มจริงจังเมื่ออายุ 50 ปี ซึ่งอาจจะช้าเกินไป

 

คำตอบที่ดีที่สุด คือ ยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งดี ถือเป็นเคล็ดลับสำคัญของการวางแผนเกษียณ เพราะพลังของดอกเบี้ยทบต้นที่จะทำให้เงินเก็บเงินลงทุนเติบโตได้อย่างน่าประทับใจ

 

คำถามที่ 2 จะเกษียณเมื่อไร?

 

คำถามนี้มีสองแนวคำตอบ อย่างแรก คือ เกษียณตามที่ทำงานกำหนด เช่น อายุ 55 ปี หรือ 60 ปี ขณะที่แนวที่สอง คือ ตามที่ตัวเองฝันหรือตั้งเป้าหมายไว้ เช่น อยากเกษียณตอนอายุ 40 ปี เป็นต้น

 

จากสองคำถามแรกให้ลองนำมาลบกัน เช่น เริ่มวางแผนเกษียณตอนอายุ 30 ปี ในขณะที่ตั้งใจทำงานจนเกษียณตอนอายุ 60 ปี ก็นำอายุเกษียณตั้งหักด้วยอายุที่เริ่มวางแผนก็จะได้เท่ากับ 60-30 = 30 ปี นี่คือคำตอบว่า เหลือเวลาเก็บเงินเท่าไร

 

คำถามที่ 3 จะใช้ชีวิตหลังเกษียณกี่ปี?

 

แนวคำตอบแบบแรก คือ ใช้อายุขัยเฉลี่ยของคนไทย ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะอายุยืนขึ้นจากเดิมอยู่ในช่วงอายุ 72-75 ปี ก็อาจเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงอายุ 80-85 ปีตามแนวโน้มสังคมสูงวัย

 

แบบที่สอง คือ ใช้อายุเฉลี่ยของคนในครอบครัว ถ้าประวัติครอบครัวของคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายอายุยืน 90 ปีหรือ 100 ปี ก็มีแนวโน้มว่าลูกหลานจะมีโอกาสที่จะอายุยืนตามไปด้วย 

 

เมื่อได้คำตอบในคำถามที่สามแล้ว ให้นำมาลบกับอายุเกษียณในข้อสอง เช่น ตั้งใจเกษียณตอนอายุ 60 ปี และครอบครัวอายุยืนถึง 90 ปี ก็นำอายุที่จะใช้หลังเกษียณตั้งลบด้วยอายุเกษียณ ก็จะได้ระยะเวลาใช้เงินหลังเกษียณ เช่น 90–60 = 30 ปี แสดงว่าต้องเตรียมเงินให้พอใช้ถึง 30 ปีหลังเกษียณ

 

คำถามที่ 4 จะใช้เงินหลังเกษียณเท่าไหร่ต่อเดือน

 

ถ้าอยากมีไลฟ์สไตล์ตามเดิมก็อาจประมาณการจากค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ซึ่งมีหลักว่าในวันที่เกษียณจะใช้จ่ายลดลงเหลือประมาณ 70% ก่อนเกษียณ โดยค่าใช้จ่ายที่ลดลงส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงาน เช่น ค่าเดินทาง ค่าน้ำมัน ค่าเสื้อผ้าหน้าผม ค่าภาษี เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี นอกจากค่าใช้จ่ายที่ลดลงแล้ว หลังเกษียณอย่าลืมว่าอาจมีค่าใช้จ่ายบางตัวที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เพราะสวัสดิการจากที่ทำงานหมดลง ค่าใช้จ่ายในบ้าน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ อาจมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ไม่ได้ตั้งไว้ เช่น ค่าซ่อมแซมบ้าน ค่าใช้จ่ายงานอดิเรก เป็นต้น

 

ส่วนอีกแนวหนึ่งของคำตอบ คือ ตั้งเป้าหมายเป็นเลขกลมๆ เช่น จะใช้เดือนละ 30,000 บาท 50,000 บาท หรือ 100,000 บาท เป็นต้น อันนี้เรียกว่า ตั้งตามความฝันที่อยากใช้ชีวิต

 

เมื่อได้คำตอบข้อนี้แล้ว ให้นำจำนวนเงินที่คาดว่าจะใช้ต่อเดือนคูณจำนวนปี เช่น อยากใช้เดือนละ 30,000 บาท เป็นระยะเวลา 30 ปี จะเท่ากับ 30,000 x 12 x 30 = 10,800,000 บาท ซึ่งเป็นการคำนวณอย่างง่ายและยังไม่รวมอัตราเงินเฟ้อที่มูลค่าของเงิน 30,000 บาทในวันที่เริ่มตั้งใจวางแผนเกษียณจะลดลงตามเวลาในวันที่เกษียณ

 

คำถามที่ 5 มีเงินเก็บเพื่อเกษียณแล้วหรือยัง?

 

แหล่งเงินเก็บเงินออมเพื่อการเกษียณมีหลายแหล่งที่บางครั้งอาจจะลืมหรือไม่ได้ให้ความสำคัญ เช่น ข้าราชการก็จะมีเงินสะสมในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) มนุษย์เงินเดือนก็จะมีเงินสะสมในกองทุนชราภาพ กองทุนประกันสังคม ซึ่งถ้าสมทบครบตามเงื่อนไขก็จะมีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญตามเกณฑ์ที่กำหนด เงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เงินออมในกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ส่วนกรณีฟรีแลนซ์จะมีเงินสะสมในกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีเงินเก็บเงินลงทุนในหุ้น กองทุนรวมต่างๆ สินทรัพย์อื่นๆ เพื่อเป้าหมายเกษียณ เมื่อรวมคำตอบในคำถามที่ 5 ก็จะได้แหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้นำเงินที่ต้องการใช้เพื่อการเกษียณตั้งลบด้วยเงินเก็บในคำถามที่ 5 ก็จะได้ส่วนต่างว่าต้องเก็บเพิ่มอีกเท่าไร เช่น ปัจจุบันอายุ 30 ปี ตั้งใจเกษียณตอนอายุ 60 ปี ใช้ชีวิตหลังเกษียณ 30 ปี จะใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท รวมเงินที่ต้องมีในวันที่เกษียณ 10,800,000 บาท ถ้ามีเงินเก็บในปัจจุบันทั้งหมดรวมอยู่ที่ 500,000 บาท จะได้ 10,800,000-500,000 = 10,300,000 บาท แปลว่า ต้องเก็บเงินอีก 10,300,000 บาท ภายในระยะเวลา 30 ปี

 

5 คำถามนี้ เมื่อตอบครบก็จะได้คำตอบว่า เงินเก็บเงินลงทุนที่มีนั้นพร้อมสำหรับแผนเกษียณในอนาคตแล้วหรือไม่ และถ้าจะเริ่มต้นลงมือเก็บเพิ่มเมื่อไรดีนั้น ขอให้เริ่มทันที ที่สำคัญถ้าออมก่อนก็รวยกว่า

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats