เหตุผลที่เกษียณไม่ได้
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
“การลาออกครั้งสุดท้าย” “เกษียณเร็ว รวยกว่า” หนังสือที่เป็นกระแสอยู่พักใหญ่ด้วยแนวคิดที่จับใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คนที่อยากออกมาทำธุรกิจส่วนตัว เป็นนายตัวเอง และบางคนก็บอกว่าเตรียมเงินก้อนไว้ตอนเกษียณแล้ว แต่จะมีสักกี่คนที่คิดอย่างจริงจังว่าเรามีพอแล้วจริงหรือไม่ แล้วคุณหล่ะ แน่ใจแล้วหรือว่ามีพอแล้วจริงๆ นี่คือสิ่งที่อยากให้ทุกคนคิด
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อปัจจุบันคนเราอายุยืนยาวกว่าแต่ก่อน
เมื่อ 55 ปีที่แล้ว คนไทยมีอายุเฉลี่ยเพียง 57.29 ปี ถ้าเกษียณอายุ 60 เท่ากับว่าทำงานไปจนสิ้นลมหายใจ ไม่มีช่วงเวลาใช้เงินหลังเกษียณ ทำให้มีเงินเหลือๆ ส่งต่อให้กับลูกหลานได้ ผ่านมาอีก 20 ปี คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 67.28 ปี มีเวลาใช้เงินหลังเกษียณเพียง 7 ปีเศษเท่านั้น ถ้าใช้เงินไม่หมดก็มีเงินส่งต่อให้กับลูกหลานหรือเป็นเงินมรดก
ปัจจุบันอายุเฉลี่ยคนทั่วโลกสูงขึ้น รวมถึงอายุเฉลี่ยของคนไทยก็สูงขึ้นด้วย เจอแบบนี้เข้าไปคงต้องร้องจ๊าก แล้วเริ่มคำนวณกันใหม่ว่าเราจะมีเงินพอถึงวันสุดท้ายของชีวิตหรือไม่ หรือช่วงที่ผ่านมาเราประเมินช่วงเวลาใช้เงินหลังเกษียณสั้นเกินไป (ถ้าอยากรู้ว่าเราจะมีอายุเท่าไหร่ ให้ลองดูอายุคนในครอบครัว แล้วบวกลบประมาณ 10% เช่น คนในครอบครัวอายุ 90 เราอาจมีอายุถึง 99 หรือ 81 ปี) คราวนี้คุณคงรู้แล้วว่า จะต้องทำงานอีกนานเท่าไหร่
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยมีคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของคนทั้งประเทศ หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของคนทั้งประเทศ และในปี 2573 ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ หมายความว่า มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของคนทั้งประเทศ ดังนั้น สัดส่วนคนวัยทำงานจะยิ่งลดน้อยลง ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจคงเป็นสิ่งที่ตามมา และรัฐบาลคงไม่สามารถดูแลผู้สูงวัยได้ทั้งหมด เอาเป็นว่าถ้าคุณเป็นมนุษย์คิดบวก การทำงานในช่วงที่อายุมากก็จะทำให้คุณได้ใช้สมอง ใช้ร่างกายในการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้ารายได้หลักหลังเกษียณไม่เพียงพอ
เมื่อก่อนรายได้หลักของผู้สูงอายุก็มาจากลูกๆ แต่ว่าคนสมัยนี้เป็นโสดมากขึ้น รายได้จากส่วนนี้จึงลดลงตามลำดับ ทำให้คนจำนวนหนึ่งต้องทำงานมากขึ้น ในขณะที่ส่วนหนึ่งอยู่ได้จากเบี้ยยังชีพจากทางราชการ เงินบำเหน็จ/บำนาญ การพึ่งพากันของคู่สมรส ผลตอบแทนจากการลงทุน รวมถึงการพึ่งพาญาติพี่น้อง
ดังนั้น การเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่เริ่มมีรายได้อย่างน้อย 20% จะช่วยให้มีเงินก้นถุงไว้ใช้ยามผมเปลี่ยนสี (หากใครผมเปลี่ยนสีเร็วก็ต้องรีบเก็บเร็วหน่อย) ภารกิจนี้จะลุล่วงไปได้ ต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตสูงไม่แพ้เงินเฟ้อด้วย
จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าภาระหนี้ยังไม่หมด
ต้องไม่ลืมว่าหลายคนยังอาจมีภาระหนี้ที่ยังต้องชำระอีก ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ รวมถึงการปรับปรุงบ้านหลังเดิมที่อาจมีขึ้นในอนาคต งานนี้คงต้องตั้งหน้าตั้งตาทำงานกันต่อไปจนกว่าหนี้จะเป็นศูนย์ (0)
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเรายังต้องคงไลฟ์สไตล์หลังเกษียณ
80% ของผู้สูงอายุ ยังคงต้องมีสังคม มีกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไปเที่ยว งานบวช งานแต่ง งานศพ นี่ก็เป็นภาษีสังคมที่เลี่ยงไม่ได้ หลายคนถึงแม้ว่าจะไม่ได้ไปไหน เอาแต่ทำงานก็ยังคงต้องจ่ายค่าสึกหรอเหมือนกัน ไม่ว่าชีวิตสไตล์ไหนก็หนีไม่พ้นที่จะต้องมีเงินก้อนสำหรับใช้ในช่วงบั้นปลาย
ถ้าเราเป็นคนที่เตรียมพร้อมตลอดเวลา และมีสติตั้งมั่นก็คงจะมีเงินจ่ายได้ไม่ยาก การเตรียมหาวิธีที่จะมีเงินใช้เรื่อยๆ เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อมีเงินใช้ทุกเดือนจะดีกว่า เพราะอย่างน้อยที่สุดคุณจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้สังคมสูงวัยในประเทศไทยมีคุณภาพมากขึ้น อยากให้เข้าใจว่า คนที่ร่ำรวย ไม่ใช่คนที่หาเงินเก่งเป็นอย่างเดียวแต่ต้องเป็นคนที่ใช้เงิน (ทำงาน) ให้เป็นด้วย ขอเพียงแค่เปิดใจยอมรับ วางแผนการเงินของตัวเองและทำเรื่องลงทุนให้เป็นเรื่องง่าย “รู้หา รู้ใช้ รู้เก็บ รู้จักลงทุนให้เหมาะกับตัวเอง” แล้วคุณจะเป็นคนที่รวยก่อนแก่อย่างแน่นอน
ที่มาข้อมูล : https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=2853&type=article