Checklist ก่อนซื้อบ้านโปรฯ แรง
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ส่วนลดราคาบ้านเป็นแสนๆ ใครบ้างไม่สนใจ ยิ่งกู้ธนาคารได้ด้วยแล้ว ยิ่งกระตุ้นความอยากไปกันใหญ่ แต่เพื่อไม่ให้เสียใจภายหลัง ก่อนคิดซื้อ บ้าน/คอนโด อยากให้ทำ 5 สิ่งนี้ก่อน ได้แก่
เช็กความจำเป็น
เดิมพักที่ไหน ใช้ชีวิตลำบากหรือเปล่า แล้วทำไมถึงต้องซื้อใหม่… คำถามเหล่านี้ควรถูกตั้งทุกครั้งเมื่อซื้อบ้าน/คอนโดใหม่ เพราะต่อให้มีโปรโมชั่นแค่ไหน ราคาก็หลักแสนหลักล้าน และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายตลอดสัญญาราว 30 ปี ต้นทุนจริงมักสูงกว่าวงเงินกู้หรือราคาบ้านถึง 90% เลย
เช่น วงเงินกู้ 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5%ต่อปี ผ่อนเดือนละ 5,400 บาท ตลอดสัญญา 30 ปี ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารรวม 917,760 บาท หรือ 91.8% ของยอดหนี้
เช็กโครงการข้างเคียง
โปรโมชั่นนั้น หากเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น สถานการณ์ COVID-19 ที่ทุกโครงการต้องแข่งกันระบายสต๊อก ฯลฯ อย่างนี้ควรพิจารณา บ้าน/คอนโด ของโครงการพื้นที่ข้างเคียง ที่ระดับราคาไม่ต่างกันมาก และตอบโจทย์การใช้สอยไม่แพ้กันด้วย เพื่อเลือกของดี ที่ตอบโจทย์ และราคาถูก ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด
เช็กความมั่นคงในอาชีพ
แม้ตอนนี้ยังมีงานทำแต่ใครจะรู้อนาคต โดยเฉพาะสถานการณ์ COVID-19 แบบนี้ ไม่แน่ว่ามาตรการหรือปัจจัยบางอย่างใน 1-2 เดือนข้างหน้า อาจกระทบกับงานที่ทำอยู่ก็ได้
อยากให้พิจารณาให้ดีอย่างไม่เข้าข้างตัวเองว่า…งานที่ทำยังมั่นคงจริงหรือไม่ ในภาวะที่ประเทศไทยอาจมีคนตกงานถึง 6.5 ล้านคน* จากผลกระทบ COVID-19 ครั้งนี้
เช็กภาระผ่อนหนี้
หนี้มาพร้อมภาระ ดังนั้นก่อนสร้างหนี้ใหม่ ต้องมั่นใจว่ามีรายได้เหลือเพียงพอกับการใช้จ่ายประจำวันและความต้องการอื่นๆ ในชีวิต ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว คนเราควรมีภาระผ่อนหนี้ต่างๆ รวมในแต่ละเดือนไม่เกิน 40%ของรายได้
แต่หลายครั้งที่ธนาคารยอมปล่อยกู้ทั้งที่ผู้กู้มีภาระผ่อนถึง 60%-80%ของรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้สูง แต่ชีวิตเราต้องดูแลเอง โดยอยากให้ลองจินตนาการดูก่อนว่า แม้รายได้สูง เช่น เดือนละ 100,000 บาท แต่หากต้องผ่อนเดือนละ 80,000 บาท เหลือใช้จ่ายเพียง 20,000 บาท จะเพียงพอกับการใช้จ่ายประจำวันหรือไม่
ใช้ตัวช่วยเพื่อเช็กความเสี่ยง
ตัวช่วยเช็กความเสี่ยงที่ดีที่สุดคือธนาคาร ยิ่งธนาคารไหนชาว Social ว่าเคี่ยว ยิ่งต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะเชื่อว่าธนาคารนั้นจะคัดกรองคนกู้จากหลากหลายปัจจัย เช่น ฐานรายได้ ภาระหนี้ ภาวะเศรษฐกิจ ฯลฯ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกหนี้จะผ่อนคืนได้ยาวตลอดสัญญา
หากลองยื่นกู้แล้วผล pre-approved ออกมาไม่ผ่าน ถือเป็นสัญญาณเตือนตัวเองก่อนกู้จริงว่าอาจยังไม่พร้อมสร้างหนี้ใหม่ แต่หากผล pre-approved ผ่าน ยิ่งผ่านทุกธนาคารที่ยื่น ก็พอมั่นใจได้ว่าธนาคารช่วยเช็กความเสี่ยงในตัวเราให้แล้ว ซึ่งการยื่น pre-approved ที่ว่าปกติจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ส่วนจะยื่นกู้จริงกับธนาคารไหน ก็อยู่ที่ตัวเราโดยลองพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ย วงเงิน และเงื่อนไขการกู้ ก็ได้
เจอของถูกอย่าวู่วาม คิดให้ดีถึงความจำเป็น เพราะเงินทุกบาทที่ออกจากกระเป๋า คือความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง
* ข้อมูลจากสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย หรือ ECOT