×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

กฏ 7 ข้อ ปิดจุดอ่อนการลงทุน

5,868

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

เชื่อว่านักลงทุนมีความเข้าใจแนวคิด “จิตวิทยาการลงทุน” และนำมาใช้กับการตัดสินใจลงทุน อย่างไรก็ตาม อาจมีบางจังหวะที่ทำให้เกิดการใช้ “อารมณ์” มาตัดสินใจลงทุนมากกว่า “การใช้ตรรกะหรือเหตุผล” คำถาม คือ แล้วอะไรที่เป็นแนวทางที่ช่วยให้กลับมาใช้ “สติ” เหนือ “อารมณ์” ผู้เขียนขอเสนอแนวทางอย่างง่ายๆ 7 ข้อ ดังนี้

 

กำจัดข้อมูลที่มากเกินไป 

 

โอกาสเสี่ยงที่จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อประเมินสถานการณ์ไปในทิศทางที่ผิดพลาดได้ง่าย นักลงทุนควรเลือกจัดลำดับความสำคัญและจัดระบบของข้อมูล เพื่อนำมาชั่งน้ำหนักที่จะให้ในแต่ละสถานการณ์

 

การวางขั้นตอนการตัดสินใจ รายการตรวจสอบ (Checklist)

 

หรือเหตุผลของการตัดสินใจ ที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุนในหุ้นนั้น ขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญเพราะจะช่วยให้คิดเป็นระบบมากขึ้น เมื่อใดที่มีอารมณ์เข้ามาแทนเหตุผลจะสามารถกลับมาอ่านขั้นตอน รายการตรวจสอบที่ทำไว้ตั้งแต่แรกที่เลือกลงทุนในหุ้นนั้นหรือวางกลยุทธ์การลงทุนในช่วงเวลานั้น ซึ่งขั้นตอนการตัดสินใจ รายการตรวจสอบไม่มีเกณฑ์ตายตัว เพราะรูปแบบการลงทุนแต่ละท่านไม่เหมือนกัน ความสามารถในการรับความเสี่ยงไม่เท่ากัน

 

เครื่องมือการลงทุนต่างๆ ต้องมีความยืดหยุ่น 

 

เพราะสภาวการณ์ลงทุนในแต่ละช่วงแต่ละเวลา มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เครื่องมือ/ แนวคิด/ หลักเกณฑ์การลงทุน อาจใช้ได้ดีในช่วงเวลาหนึ่ง แต่อาจไม่สามารถใช้ได้ดีตลอดไป ดังนั้น นักลงทุนต้องปรับเปลี่ยนเครื่องมือ/ แนวคิดอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สอดรับกับสภาวการณ์นั้นๆ

 

ตั้งป้อม “ไม่เชื่อ” ก่อนเสมอ 

 

เมื่อใดที่มีคนมาอธิบายไปในทางที่ตัวเองคิดตัวเองเชื่ออยู่แล้ว ย่อมทำให้เกิด Positive Bias ได้ง่ายมากขึ้น ทำให้มองข้ามบางประเด็นของการลงทุนไป ดังนั้น การเริ่มต้นด้วยการ “ไม่เชื่อ” และพยายามหาเหตุและผลมาอธิบาย มาแก้ไข มาชี้แจง ประเด็นต่างๆ ที่ “ไม่เชื่อ” จะช่วยให้คิดได้รอบคอบ ได้รอบมุมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

 

อย่าเชื่อใจตัวเอง อย่ามั่นใจตัวเองมากเกินไป 

 

โดยไม่มีการประเมินมุมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากสิ่งที่ “เชื่อ มั่นใจ” เพราะยิ่งมั่นใจในสิ่งที่ตัดสินใจมากเท่าไร การเกิด Positive Bias หรือมองโลกสวย จะมีมากขึ้นเท่านั้น โอกาสการตัดสินใจพลาดมีสูงขึ้นอย่างที่ไม่รู้ตัวมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพลาดในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายของพอร์ตการลงทุนที่มากขึ้น

 

การควบคุมอารมณ์ ควบคุมตัวเอง 

 

ถือเป็นเงื่อนไขที่ทำยากแต่สำคัญต่อการลงทุน การควบคุมตัวเองด้วยการใช้หลักคิด เหตุและผลเหนืออารมณ์ วางแผนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอหรือการเรียนรู้ในการลดความร้อนแรงของการใช้อารมณ์ในภาวการณ์ต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งบ่อยครั้งที่ผู้เขียนแนะนำให้นักลงทุนปิดจอและเดินออกจากโต๊ะ ไปเดินผ่อนคลายเพื่อลดแรงกดดัน ณ ช่วงเวลานั้นๆ

 

เรียนรู้จากผลที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ 

 

เมื่อเสร็จสิ้นการลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งหรือรอบการลงทุนรอบใดรอบหนึ่ง นักลงทุนควรเอารายการตรวจสอบที่เขียนไว้ตั้งต้นมาเทียบกับผลที่ได้จากการลงทุนในรอบนั้นว่ามีความต่างหรือเหมือนในข้อใด เพื่อเรียนรู้ถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างการลงทุนรอบนั้น และนำไปสู่การปิดจุดอ่อนการลงทุนในรอบถัดไปหรือในหุ้นถัดไป

 

ดังนั้น ขั้นตอนที่ช่วยให้นักลงทุนประสบความสำเร็จและหลุดออกจากข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นระหว่างทางของการลงทุนได้ด้วยตนเอง ดังนี้

 

  • กำหนดเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน 

 

จับต้องได้ เช่น ต้องการผลตอบแทนต่อรอบการลงทุน 10% บนความเสี่ยงที่รับได้จากการตัดขาดทุน 5% เป็นต้น

 

  • กำหนดรายการตรวจสอบ (Checklist) 

 

จุดอ่อนของการลงทุนและพฤติกรรมการลงทุน เพื่อเป็นการย้ำเตือนตัวเราเองไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเหล่านั้น

 

  • เขียนแผนดังกล่าวอย่างชัดเจน

 

รวมถึงแนวทางการตัดสินใจการลงทุน เพื่อเป็นคำมั่นสัญญากับตัวเองในการลงทุน

 

  • มีการตรวจสอบและติดตามผล 

 

ทั้งในแง่ของการลงทุนและพฤติกรรมการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ว่าเกิดข้อผิดพลาดใดบ้าง บนปัจจัยแวดล้อมแบบใด เพื่อที่จะเรียนรู้ นำมาประยุกต์และเตือนตัวเองในครั้งต่อไป

 

  • ประเมินผลอย่างสม่ำเสมอและยอมรับในผลที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา 

 

เพื่อเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและนำไปปิดความเสี่ยงในครั้งต่อไป

 

  • เมื่อนักลงทุนตัดสินใจขายหุ้นควรทำแบบเป็นระบบ 

 

เพื่อให้มั่นใจว่าได้เรียนรู้จากการลงทุนในหุ้นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายขาดทุนที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกเสียใจ แต่ได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดในการลงทุนหุ้นนั้น

 

  • ปรับปรุงเป้าหมายการลงทุนและรายการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ 

 

ด้วยการเรียนรู้จากการประเมินและการตัดสินใจที่เป็นระบบ ยิ่งทบทวนสม่ำเสมอมากเท่าไรจะสามารถตัดสินใจเป็นระบบมากขึ้นเท่านั้น ช่วยปิดข้อผิดพลาดจากพฤติกรรมการลงทุนที่เป็นจุดอ่อน

 

จากแนวทางทั้ง 7 ข้อที่ช่วยนักลงทุนลดโอกาสเสี่ยงจากจุดอ่อนของพฤติกรรมการลงทุน รวมถึงขั้นตอนการวางแผน การลงมือปฏิบัติ และการตรวจสอบอีก 7 ขั้นตอน ผู้เขียนเชื่อว่าจะช่วยให้นักลงทุนพัฒนาตัวเองให้คิดเป็นระบบมากขึ้น ยิ่งเรียนรู้จากข้อผิดพลาดมากเท่าไร โอกาสที่จะพัฒนาตัวเองจะมีมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้พอร์ตการลงทุนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ด้วยข้อผิดพลาดที่น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

หมายเหตุ: บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

#WealthMeUp

 

ที่มาข้อมูล : https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=6915&type=article

Related Stories

amazon anti fatigue mats