5 สิ่งต้องรู้ เมื่อมีประกันสุขภาพ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
“ประกันสุขภาพ” หนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยลดความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายยามเจ็บป่วย ซึ่งได้รับความนิยมกันไม่น้อยหลังสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีบางสิ่งที่คนถือประกันสุขภาพอาจยังไม่รู้หรือเข้าใจผิดอยู่ จนเป็นเหตุให้เสียสิทธิหรือใช้สิทธิได้ไม่เต็มที่ สิ่งเหล่านั้น ได้แก่
เจ็บป่วยทันที ประกันยังไม่คุ้มครอง
ใครที่รู้ตัวว่าเป็นหวัดหรือท้องเสียและคิดจะซื้อประกันสุขภาพวันนี้เพื่อเตรียมเบิกค่ารักษาพยาบาลวันรุ่งขึ้น…เลิกคิดได้เลย
เพราะประกันสุขภาพมักมี “ระยะเวลารอคอย” หรือระยะเวลาที่ยังไม่คุ้มครองการเจ็บป่วยจากโรคภัยต่างๆ โดยประกันสุขภาพจะเริ่มคุ้มครองค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วย หลังพ้นระยะเวลาที่ว่าแล้วเท่านั้นซึ่งขึ้นอยู่กับโรคและแบบประกัน เช่น โรคทั่วไป ระยะเวลารอคอยมักอยู่ที่ 30 วันหลังซื้อประกัน ส่วนโรคนิ่ว เนื้องอก ต้อกระจกตา มักอยู่ที่ 120 วัน เป็นต้น
โรคที่เคยเป็นมาก่อน ประกันไม่คุ้มครอง
ใครที่รู้ตัวว่าเป็นโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังมาก่อน แม้ตอนซื้อประกันจะไม่แสดงอาการ แต่หากภายหลังเจ็บป่วยด้วยโรคนั้นๆ ไม่ว่าจะพ้นระยะเวลารอคอยหรือไม่ ประกันก็ไม่คุ้มครองโรคนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม แบบประกันส่วนใหญ่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เช่น ได้แจ้งความเจ็บป่วยดังกล่าวตั้งแต่ตอนซื้อประกันและบริษัทตกลงที่จะคุ้มครองโรคที่ว่า หรือได้รักษาหายขาดแล้วมาไม่น้อยกว่า 5 ปีก่อนซื้อประกัน หรือโรคที่ว่าไม่มีการแสดงอาการภายใน 3 ปีหลังซื้อประกัน เป็นต้น
บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ประกันก็คุ้มครอง
ประกันสุขภาพทั่วไป มักระบุเงื่อนไขว่า “คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเมื่อเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน” ดังนั้นหากเป็นผู้ป่วยในหรือการนอนโรงพยาบาล 6 ชั่วโมงขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นกรณีเจ็บป่วยจากโรคภัยหรือกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ก็เข้าเงื่อนไขความคุ้มครอง
อย่างไรก็ตาม ประกันสุขภาพบางแบบ ก็ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเมื่อเป็นผู้ป่วยนอกด้วย แต่บางแบบก็จำกัดความคุ้มครองเฉพาะโรค เช่น โรคร้ายแรง โรคออฟฟิศซินโดรม ฯลฯ ซึ่งไม่คุ้มครองอุบัติเหตุและโรคทั่วไป ก็มี
เจ็บป่วยต่างประเทศ ประกันก็คุ้มครอง
ประกันสุขภาพทั่วไป หากไม่ได้ระบุพื้นที่คุ้มครองไว้ ก็จะมีความคุ้มครองการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุทั่วโลก เพียงแต่ว่าโรงพยาบาลต่างประเทศส่วนใหญ่บริษัทประกันมักไม่ได้เป็นคู่สัญญาด้วย ผู้ถือประกันจึงต้องสำรองจ่ายไปก่อน และนำเอกสารมาเบิกกับบริษัทประกันภายหลัง
สำหรับเอกสารจากโรงพยาบาลเพื่อนำมาเบิกบริษัทประกันนี้ มักต้องเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น หากเป็นภาษาอื่นอาจมีค่าใช้จ่ายการแปลเอกสารตามมา
ค่าเบี้ยประกัน เพิ่มขึ้นตามอายุ
ยิ่งอายุมากขึ้น ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยก็สูงขึ้นตาม ประกันสุขภาพส่วนใหญ่จึงมักเพิ่มค่าเบี้ยที่เรียกเก็บจากผู้ถือประกัน โดยอาจเพิ่มทุกปี หรือทุกช่วงอายุ 5 ปีก็ได้
ดังนั้น ใครที่ถือหรือกำลังตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพ นอกจากค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายในปีปัจจุบันแล้ว ควรเช็กค่าเบี้ยประกันของปีถัดๆ ไป โดยเฉพาะช่วงหลังอายุ 60 ปี เพื่อพิจารณาว่าในอนาคตจะยังสามารถชำระค่าเบี้ยได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่
ประกันสุขภาพจะดีและมีประโยชน์ ถ้าผู้ถือเข้าใจความคุ้มครองและเงื่อนไข เพื่อให้พร้อมใช้สิทธิเมื่อจำเป็น และวางแผนจัดการความเสี่ยงได้ทันท่วงทีตั้งแต่สุขภาพยังแข็งแรงพอ