รวมหนี้ ลดดอก-ค่างวด ช่วยลูกหนี้
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
วันที่ 27 สิงหาคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย โดยนำเสนอทางเลือกคือ รวมหนี้เป็นก้อนเดียว เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับลูกหนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ธปท. ได้เห็นร่วมกันกับสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation) โดยสามารถนำหนี้ เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ มาร่วมกับหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งจะช่วยลดดอกเบี้ย ให้เหลือแค่อัตราดอกเบี้ย MRR และขยายเวลาชำระหนี้ได้อีกด้วย
วิธีการรวมหนี้เป็นก้อนเดียว
วิธีการนี้ คือการรวมสินเชื่อทุกประเภท โดยใช้บ้านเป็นหลักประกัน โดยที่หนี้บ้านนั้น ต้องไม่เป็น NPL หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน มารวมกันกับหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เช่น หนี้บัครเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อ ทั้งที่เป็น NPL และไม่เป็น NPL ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ ต้องเป็นผู้ให้บริการทางการเงินเดียวกัน เมื่อรวมหนี้แล้ว สิ่งที่จะได้คือ อัตราดอกเบี้ยของหนี้บ้าน จะไม่เพิ่มจากเดิม ส่วนหนี้บัตรเครดิต จะได้ดอกเบี้ยที่ถูกลงโดยไม่เกิน MRR
ยกตัวอย่าง ท่านมีหนี้บ้านค้างกับธนาคารเอ 2 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี และท่านมีหนี้ค้างบัตรเครดิตกับธนาคารเอ 1 แสนบาท เป็น NPL แล้ว และถูกดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี และ MRR ของธนาคารนี้อยู่ที่ร้อยละ 6
เมื่อท่านรวมหนี้ หนี้ของท่านจะเป็น 2.1 ล้านบาท แต่ดอกเบี้ยบ้านจะเสียในอัตราร้อยละ 3 เหมือนเดิม ส่วนหนี้บัตรเครดิต จะเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อย 6 คือไม่เกิน MRR นั่นหมายความว่า ดอกเบี้ยจะลดลง ท่านจะผ่อนหนี้บัตรได้นานขึ้น และค่างวดจะลดลงด้วย
ปรับโครงสร้างหนี้แบบนี้ จะเสียประวัติข้อมูลเครดิตไหม
ธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันว่า ท่านจะไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต
มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม ทั้งค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และอื่น ๆ อีกทั้งท่านยังสามารถใช้วงเงินบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่เหลือได้ด้วย
สมัครได้ตอนไหน
1 กันยายน 2563 – 31 ธันวาคม 2564
หมายเหตุอื่น ๆ
ผู้ให้บริการทางการเงิน ต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการตัดสินใจของลูกหนี้ เช่น ข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วมมาตรการ ข้อมูลเปรียบเทียบภาระหนี้เดิมกับภาระหนี้ใหม่ และทางเลือกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้รูปแบบอื่นที่ลูกหนี้สามารถทำได้
ถอดความและสรุปข่าวโดย: Wealth Me Up
ที่มาข้อมูล: https://money.kapook.com/view230493.html