วางแผนประกันให้เหมาะกับ "วัยกลางคน"
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
หากมีใครสักคน ที่กำลังคิดอยากจะซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือ กำลังถูกนำเสนออยู่ อยากให้ได้อ่านและศึกษาเรื่องราวต่อไปนี้ก่อน เพื่อจะได้ตัดสินใจเลือกซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับความต้องการ ตามเป้าหมายของเราจริงๆ
ความเข้าใจแรกที่ต้องรู้ คือ ประกันชีวิตมีหลายรูปแบบ แต่ละแบบมีลักษณะของความคุ้มครองและผลประโยชน์จุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแบบประกันชีวิตพื้นฐาน มีทั้งหมด 4 แบบ กับอีก 1 แบบที่เพิ่งมาเป็นที่นิยมไม่นานมานี้ นั่นก็คือ ประกันชีวิตควบการลงทุน เราลองมาทำความเข้าใจในแต่ละแบบกรมธรรม์กัน
- แบบตลอดชีพ
เป็นการประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตลอดช่วงชีวิตตามที่ท่านเลือก ตัวอย่างเช่น คุ้มครองถึงอายุ 85ปี 90ปี 95ปี หรือ 99 ปี หากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตเมื่อใดในขณะที่กรมธรรม์มีผลบังคับ บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัย ให้แก่ผู้รับประโยชน์ หรือหากมีชีวิตอยู่จนครบอายุสัญญา ก็จะมีเงินคืนครบกำหนด วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการประกันภัยแบบนี้ เพื่อเตรียมเงินทุนสำหรับจุนเจือบุคคลที่อยู่ในความอุปการะเมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ให้ครอบครัวมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตต่อไป
รวมไปถึงเป็นค่าใช้จ่ายทุนการศึกษาของบุตรหลาน หรือเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับค่ารักษาการเจ็บป่วยครั้งสุดท้ายและค่าพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ตกเป็นภาระของผู้อื่น เรื่องรูปแบบการชำระเบี้ย จะมีอยู่ 3 แบบคือ แบบชำระเบี้ยประกันภัยครั้งเดียว แบบชำระจำกัดระยะเวลา เช่น 5 หรือ 10 และ แบบชำระตลอดชีพ คือชำระตลอดจนครบกำหนดสัญญา
- แบบสะสมทรัพย์
เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทจะจ่ายจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อมีชีวิตอยู่ โดยแบบที่นิยม คือ จะมีทั้งเงินคืนระหว่างสัญญาและเงินคืนครบกำหนดสัญญา หรือจ่ายเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตลงภายในระยะเวลาประกันภัย การประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เป็นส่วนผสมของการคุ้มครองชีวิตและการออมทรัพย์ ส่วนของการออมทรัพย์ คือส่วนที่ผู้เอาประกันภัยได้รับคืนเมื่อสัญญาครบกำหนด ซึ่งวัตถุประสงค์หลักคือเป็นการเก็บออมอีกรูปแบบหนึ่งไว้เพื่อใช้ตามเป้าหมายในอนาคต เช่น เป็นเงินทุนการศึกษาให้บุตรหลาน เป็นเงินก้อนเพื่อใช้ยามเกษียณอายุ แต่หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน เสียชีวิตไปก่อน ก็จะมีเงินเอาประกันส่งต่อให้กับผู้รับประโยชน์ไว้ใช้บรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัว
- แบบชั่วระยะเวลา
เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับประโยชน์เมื่อผู้เอา ประกันภัยเสียชีวิตในระยะเวลาประกันภัย จึงจะมีระยะเวลาความคุ้มครองที่แน่นอน เช่น คุ้มครอง 5 ปี หรือ คุ้มครอง 10 ปี วัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองการเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร การประกันชีวิตแบบนี้ไม่มีส่วนของการออมทรัพย์ เบี้ยประกันภัยจึงต่ำกว่าแบบอื่นๆ และไม่มีเงินเหลือคืนให้หากผู้เอาประกันภัยอยู่จนครบกำหนดสัญญา ซึ่งบางครั้งมักจะเรียกประกันชีวิตแบบนี้ว่า “แบบเบี้ยสูญ” จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองชีวิต โดยต้องการชำระเบี้ยน้อย มักจะถูกนำไปใช้ในการคุ้มครองภาระหนี้สินในช่วงเวลาหนึ่ง
- แบบเงินได้ประจำ(บำนาญ)
เป็นการประกันชีวิตที่บริษัทประกันชีวิตจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเท่ากันอย่างสม่ำเสมอ ให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามเงื่อนไข เช่น ทุกปีนับแต่ผู้เอาประกันภัยเกษียณอายุ หรือมีอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี เป็นต้นไป แล้วแต่เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนดไว้ สำหรับระยะเวลาการจ่ายเงินได้ประจำนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เอาประกันชีวิตที่จะเลือกซื้อ วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อการเก็บออมไว้ใช้ในช่วงเกษียณอายุ เปรียบเสมือนมีเงินบำนาญให้ใช้อย่างต่อเนื่อง
- แบบควบการลงทุนหรือยูนิตลิงค์
คือ การประกันชีวิตที่ให้ทั้งความคุ้มครองชีวิตและการลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งไม่มีการรับประกันมูลค่ากรมธรรม์ เนื่องจากมูลค่ากรมธรรม์ขึ้นอยู่กับมูลค่าหน่วยลงทุน โดยอาจสูงขึ้นหรือต่ำลงตามผลประกอบการของกองทุนรวม จุดเด่นของประกันชีวิตแบบยูนิตลิงค์ ได้แก่ มีความยืดหยุ่นสูง สามารถกำหนดระยะเวลาชำระเบี้ย ระยะเวลาความคุ้มครอง และปรับเพิ่มหรือลดทุนประกันชีวิตได้ตามความจำเป็นและความเหมาะสมในแต่ละเป้าหมายของช่วงชีวิต
สามารถเลือกถอนเงินจากมูลค่าเงินลงทุนในกรมธรรม์เองได้ เพื่อมาใช้บางส่วนโดยไม่ต้องปิดกรมธรรม์ และมีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนคาดหวังที่สูงกว่าประกันชีวิตแบบดั้งเดิม เพราะสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ ซึ่งยูนิตลิงค์บางแบบ สามารถเลือกทุนประกันชีวิตได้สูงกว่าแบบประกันพื้นฐานด้วยจำนวนเงินเบี้ยประกันภัยที่เท่ากัน
จากที่ได้เห็นถึงประโยชน์ของประกันชีวิตในแต่ละแบบแล้ว ความคุ้มครองอีกด้านหนึ่งที่เราไม่ควรพลาดคือประกันสุขภาพที่คุ้มครองการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ รวมไปถึงโรคร้ายแรง เพราะถือเป็นการโอนความเสี่ยง ที่หากเกิดเหตุขึ้น จะส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางการเงินของเรา ซึ่งอาจจะทำให้เป้าหมายทางการเงินของเราไม่บรรลุผล
นอกจากจุดเด่นของแบบประกันแต่ละชนิดแล้ว อีกหนึ่งประโยชน์เพิ่มที่ได้คือ สามารถนำเบี้ยประกันภัยไปใช้ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้อีก ตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร
ดังนั้นเมื่อเราเข้าใจในแบบประกันชีวิต และจุดเด่นของแต่ละแบบแล้ว เราจึงควรเลือกซื้อให้เหมาะกับเป้าหมายทางการเงิน และจำนวนเงินที่เราสามารถชำระเบี้ยประกันภัยนั้น ต้องพอเหมาะกับรายได้ของเราที่จะทำให้เราสามารถชำระเบี้ยประกันภัยได้ครบตามเงื่อนไขของสัญญา ถึงตอนนี้มาดูกันว่าเราควรจะเลือกซื้อประกันแบบไหนถึงจะเหมาะสม ซึ่งหลักพื้นฐานที่มักจะนำมาใช้ในการเลือกคือ ช่วงวัย หรือ ความจำเป็นของช่วงวัยนั้น โดยเราอาจจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงวัยคือ ช่วงวัย 30 วัย 40 และวัย 50
ประกันชีวิตที่เหมาะกับช่วงวัย 30 ปี
โดยปกติวัยนี้ถือเป็นวัยที่เริ่มเติบโตทางด้านหน้าที่การงานและมักเป็นวัยที่เริ่มสร้างครอบครัว การพิจารณาว่าจะเลือกประกันแบบใด ต้องคำนึงถึง เรื่องดังต่อไปนี้
ลักษณะการทำงาน สถานภาพของครอบครัว และ ผู้ที่อยู่ในอุปการะ เช่น สำหรับผู้ที่ทำงานประจำ สถานภาพโสด ยังไม่มีผู้ที่อยู่ในอุปการะ ไม่มีภาระหนี้สิน ควรใช้ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เพื่อเน้นการเก็บออม และลดหย่อนภาษี ประกันสุขภาพ อุบัติเหตุ และ โรคร้ายแรง เป็นสิ่งที่อาจเพิ่มเติม จากวงเงินที่องค์กรที่เราทำงานมีประกันสุขภาพกลุ่มของพนักงานให้อยู่แล้ว แต่หากเป็นพนักงานที่ทำงานอิสระ ต้องให้ความสำคัญกับประกันสุขภาพเพิ่มเติม และครอบคลุมไปถึงสัญญาเพิ่มเติมเช่น ค่าชดรายได้กรณีเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้
ถึงตรงนี้ หากท่านผู้อ่านมีลักษณะข้อมูลส่วนบุคคลที่แตกต่างจากนี้ เช่น สถานภาพคือมีครอบครัว มีผู้ที่อยู่ในอุปการะ ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส บุตร บิดา มารดา หรือแม้กระทั่งมีภาระในการผ่อนชำระหนี้รถยนต์/ที่อยู่อาศัย ดังนั้น แบบประกันที่มักนำมาใช้เริ่มต้นจะคำนึงถึงความคุ้มครองที่สูง และสามารถชำระเบี้ยได้ หากมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนเงินที่น้อย ควรเป็นแบบชั่วระยะเวลาหรือแบบตลอดชีพ หากมีจำนวนเงินที่มากพอบวกกับต้องการที่จะเก็บออมเงินไปด้วย สามารถนำแบบสะสมทรัพย์มาประกอบได้ และที่พลาดไม่ได้เลย คือประกันคุ้มครองสุขภาพและโรคร้ายแรง
ประกันชีวิตที่เหมาะกับช่วงวัย 40 ปี
ข้อพิจารณาของวัยนี้ หน้าที่การงานเริ่มมั่นคง มีรายได้ที่สูงขึ้น การพิจารณาว่าจะเลือกประกันแบบใด ต้องคำนึงถึง สถานภาพ ความจำเป็นทางการเงินของครอบครัว หรือ ผู้ที่อยู่ในอุปการะ โดยทั่วไปช่วงวัยนี้จะเป็นวัยที่มีครอบครัว มีบุตร หรือ บิดามารดาที่อยู่ในอุปการะ ภาระหนี้สินยังมีอยู่ อาจยังต้องการความคุ้มครองที่สูงอยู่ จึงมักจะใช้ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ และประกันแบบสะสมทรัพย์ และที่ควรเพิ่มเติมในเรื่องการเก็บเงินเพื่อเกษียณอายุ
ดังนั้น แบบประกันชีวิตที่สามารถเพิ่มเติมเข้ามาคือ ประกันชีวิตแบบบำนาญ ในช่วงวัยนี้จะเห็นได้ชัดเจนสิ่งหนึ่ง คือเน้นการเก็บออมเงิน และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้เพิ่มมากขึ้น เพราะจากรายได้ที่สูงขึ้นจะทำให้ฐานภาษีบุคคลธรรมดาสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
แต่ด้วยสังคมปัจจุบันที่สถานภาพครอบครัวเปลี่ยนไป หากท่านผู้อ่านสถานภาพโสดหรือสมรสแล้วตั้งใจที่จะไม่มีบุตร ไม่มีบุคคลที่อยู่ในอุปการะเลย อาจจะเน้นประกันแบบสะสมทรัพย์ หรือประกันแบบบำนาญ เพื่อเน้นการออมอย่างชัดเจนก็ได้เช่นกัน อย่าลืมประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงยังต้องมีต่อเนื่องด้วย
ประกันประกันชีวิตที่เหมาะกับช่วงวัย 50 ปี
ข้อพิจารณาของวัยนี้ รายได้สูง จะเป็นวัยที่เตรียมเกษียณเต็มรูปแบบ ต้องมีเงินเก็บไว้รองรับชีวิตหลังเกษียณแล้ว
ยกตัวอย่างเช่น สถานภาพการทำงาน ที่กำลังจะเกษียณอายุ ผู้ที่อยู่ในอุปการะมักจะอยู่ในช่วงวัยที่จะเริ่มดูแลตัวเองได้ เช่น บุตรกำลังจะจบการศึกษา ถึงแม้ความจำเป็นเรื่องความคุ้มครองชีวิตอาจจะน้อยลง แต่สิ่งหนึ่งที่คนวัยนี้มักจะนึกถึงคือการอยากมีเงินไว้ส่งต่อมรดกให้กับคนรุ่นหลัง หรือ มีเงินเก็บเตรียมเก็บเผื่อเป็นค่าพิธีกรรมทางศาสนาหากตนเองต้องจากไป และ ไม่ทิ้งภาระให้คนในครอบครัว
ดังนั้น ประกันชีวิตเพื่อส่งต่อมรดกจะยังเป็นประกันชีวิตแบบตลอดชีพ และประกันชีวิตแบบบำนาญที่เน้นทำให้ตนเองมีเงินไว้ยามเกษียณแบบแน่นอน สิทธิวงเงินในการลดหย่อนภาษีด้วยผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต เป็นอีกประโยชน์เพิ่มในการเปลี่ยนค่าใช้จ่ายให้กลายมาเป็นเงินออมเพิ่มในช่วงเกษียณ ดังนั้น สิทธินี้ควรใช้ให้เต็มความสามารถในการชำระเบี้ย เพราะวัยนี้รายได้ที่สูงจะได้ประโยชน์มากขึ้น อีกทั้งช่วงวัยนี้ควรให้ความสำคัญกับประกันสุขภาพมากยิ่งขึ้น เพราะกำลังจะเข้าสู่ช่วงวัยที่เจ็บป่วยง่าย ความแข็งแรงของร่างกายเริ่มลดน้อยลง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ประกันชีวิตมีประโยชน์และจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป ก่อนที่จะตัดสินใจทำประกันชีวิตควรศึกษาข้อมูลเพื่อให้ได้แบบที่เหมาะกับเรามากที่สุด ที่สำคัญขาดไม่ได้ คือการทำความใจในเงื่อนไขของสัญญา ข้อยกเว้นความคุ้มครองต่างๆ สิทธิของผู้เอาประกันภัย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถูกพิมพ์ในเล่มกรมธรรม์ทั้งหมด เมื่อได้รับมาแล้ว ควรอ่านและทำความเข้าใจหากมีข้อสงสัยควรสอบถามจากผู้นำเสนอประกันชีวิต
แต่ถ้าเงื่อนไขไม่เป็นไปตามที่เราได้ทราบข้อมูลก่อนการเสนอขายหรือไม่ตรงตามความต้องการ สิทธิของผู้เอาประกันภัยคือขอยกเลิกกรมธรรม์ได้ภายใน 15 วันนับจากวันที่เซ็นต์รับกรมธรรม์ โดยบริษัทประกันชีวิต จะหักค่าใช้จ่ายในการออกกรมธรรม์ 500 บาท กับค่าตรวจสุขภาพ (ถ้ามี) หากเกิน 15 วัน จะได้รับเงินคืนเพียงมูลค่าเวนคืนเท่านั้น
ที่มาข้อมูล : http://www.tfpa.or.th/datasource.php?topic=document&sub=article&tab=personal&pageNumber=5&id=590