วางแผนการเงินสำหรับคนโสด
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
บริหารรายรับรายจ่ายและสร้างเงินออม
คนโสดควรบริหารรายรับและรายจ่ายเพื่อมิติต่างๆ ในปัจจุบันให้ดีโดยตั้ง budget ในการใช้จ่ายอย่างเหมาะสมและสร้างวินัยในการออม การออมจะเป็นปัจจัยตั้งต้นที่จะทำให้เกิดการลงทุนเพื่อเป้าหมายต่างๆ ต่อไป
มีเงินสำรองฉุกเฉิน
โดยเตรียมไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงและได้ผลตอบแทนที่มากกว่าเงินฝากออมทรัพย์ เช่น เงินฝากประจำ 3 เดือน กองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ให้เพียงพอต่อการใช้จ่าย 3-6 เดือน เผื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้สูญเสียรายได้หรือเกิดรายจ่ายที่คาดไม่ถึงเพื่อให้ยังสามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องไปเบียดเบียนเงินลงทุนเพื่อเป้าหมายชีวิตอื่นๆ หรือต้องไปก่อหนี้ที่เสียดอกเบี้ยในระดับสูง
พิจารณาเรื่องสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล
คนโสดหลายคนที่เป็นพนักงานบริษัทมักมีสวัสดิการในการรักษาพยาบาลของบริษัทซึ่งจะสิ้นสุดลงพร้อมกับการทำงาน แต่รายจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นรายจ่ายที่สูง เพิ่มขึ้นทุกปี และมีโอกาสเกิดมากขึ้นเมื่อเราอายุมากขึ้น คนโสดจึงควรวางแผนการทำประกันสุขภาพ ประกันภัยโรคร้ายแรง ประกันทุพพลภาพและประกันอุบัติเหตุอย่างเหมาะสมกับความเสี่ยงภัยและความสามารถในการจ่ายชำระเบี้ย
พิจารณาเรื่องประกันชีวิต
เหตุผลหลักคือ เพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่และผู้มีพระคุณและเพื่อให้มั่นใจว่าบุคคลที่เรารักจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แม้ไม่มีเรา และให้พิจารณาทุนประกันให้ครอบคลุมถึงภาระหนี้สินที่เรามีด้วยเพื่อจะได้ไม่ตกไปเป็นภาระของผู้มีพระคุณเมื่อเราจากไป
วางแผนเกษียณ
เรื่องนี้สำคัญมากเพราะตนต้องเป็นที่พึ่งแห่งตน การวางแผนเกษียณต้องเริ่มจากการประมาณการรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นตามแผนชีวิตหลังเกษียณที่วางไว้ในแต่ละมิติ แต่ถ้าใครยังไม่สามารถประมาณการได้อาจเริ่มจากการประมาณการรายจ่ายที่ 70% ของรายจ่ายก่อนเกษียณ และประมาณการระยะเวลาที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณ และปรับค่าใช้จ่ายตามเงินเฟ้อ เช่น คนโสดอายุ 35 ปี วางแผนเกษียณที่อายุ 60 ปี และคาดว่าจะใช้จ่ายหลังเกษียณเดือนละ 90,000 บาท (มูลค่าปัจจุบัน) จนอายุ 85 ปี โดยประมาณการเงินเฟ้อที่ 3% จะต้องเตรียมเงินสำหรับใช้ชีวิตหลังเกษียณประมาณ 50 ล้านบาท ณ วันที่อายุ 60 ปีบนสมมติฐานอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนหลังเกษียณที่ 4% ต่อปี
วางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายอื่นๆ
แล้วแต่ความชื่นชอบของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าใบโปรด เพชรล้ำค่า รถยนต์ในฝัน หรือตั้งมูลนิธิ ฯลฯ
ลงทุนให้งอกเงย
เป้าหมายทางการเงินไม่ว่าจะเพื่อเกษียณ เพื่อจ่ายเบี้ยประกันหลังเกษียณ หรือเพื่อเป้าหมายอื่นๆ มักต้องมีการนำเงินออมมาลงทุนโดยการจัดพอร์ตโฟลิโอที่สอดคล้องกับผลตอบแทนที่คาดหวังและระดับความเสี่ยงที่รับได้ของเจ้าของเป้าหมายและเหมาะสมกับแต่ละเป้าหมายด้วย การจัดเป็นพอร์ตโฟลิโอจะช่วยให้มีการกระจายความเสี่ยงไปในสินทรัพย์หลายแบบ
เช่น จากตัวอย่างคนโสดอายุ 35 ปีข้างต้น ถ้าเขามีความสามารถและเต็มใจในการรับความเสี่ยงได้สูงและต้องการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณในอีก 25 ปีข้างหน้า เขาสามารถจัดพอร์ตโฟลิโอที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงได้ เช่น จัดพอร์ตการลงทุนระยะยาว (strategic portfolio) ที่มีผลตอบแทนคาดหวังที่ประมาณ 8% ต่อปี ซึ่งประกอบด้วยหุ้น 50-70% (หุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย 20%-40% และกองทุนหุ้นต่างประเทศ 20%-40%) ตราสารหนี้ 15%-25% และกองทุนสินทรัพย์ทางเลือก เช่น REIT (กองทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน) หรือทอง 15%-25% ของพอร์ตโฟลิโอ และมีการปรับพอร์ตการลงทุนระยะสั้น (tactical portfolio) ให้เหมาะสมกับมุมมองเศรษฐกิจในอนาคตในแต่ละช่วงได้เป็นต้น
โจทย์ที่ท้าทายอีกโจทย์หนึ่งของคนโสดคือ การบริหารเงินหลังเกษียณ เพราะถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนเราจะเกษียณมาพร้อมกับเงินก้อนโตเพื่อเตรียมไว้ใช้จ่ายอีกเป็นสิบๆ ปี ดังนั้นคนโสดยังคงต้องบริหารรายรับรายจ่ายหลังเกษียณให้ดี โดยจัดทำแผนการใช้จ่ายทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายที่เป็นเงินก้อนที่เป็นรางวัลให้กับตัวเอง โดยยังต้องมีการลงทุนของเงินที่ยังไม่ได้ใช้อย่างต่อเนื่อง โดยปรับลดความเสี่ยงลงแต่ผลตอบแทนยังคงต้องชนะอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งก็มีหลายเทคนิค
เช่น การปรับลดความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวมให้ต่ำลง (ผลตอบแทนคาดหวังที่ 4% จากเดิม 8%) โดยการเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (ตราสารหนี้) ให้มากขึ้น และลดสัดส่วนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง (หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์) ให้น้อยลง หรืออาจจะแบ่งการลงทุนเป็นหลายพอร์ตตามระยะเวลาที่คาดว่าจะใช้เงิน พอร์ตสำหรับรายจ่ายในระยะเวลาอันใกล้อาจจะลงทุนในกองทุนตลาดเงิน (Money Market) และกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น
ส่วนเงินลงทุนสำหรับรายจ่ายในอนาคตไกลๆ อาจเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นได้ หรืออาจจะแบ่งตามความจำเป็นของการใช้เงิน เช่น เงินลงทุนสำหรับรายจ่ายเพื่อความต้องการพื้นฐานอาจจะลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ส่วนเงินลงทุนเพื่อรายจ่าย lifestyle ในอนาคตอาจเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง ทั้งนี้ คนโสดต้องมีการทบทวนแผนการเงินและการลงทุนอย่างสม่ำเสมอทั้งช่วงก่อนและหลังเกษียณ
ชีวิตคนโสดเป็นชีวิตที่มีภาระน้อยกว่าคนอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบสำหรับคนโสดที่จะออกแบบชีวิตตนเองได้อย่างเสรี แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป้าหมายชีวิตส่วนใหญ่ต้องใช้เงินในการขับเคลื่อน การวางแผนการเงินจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับคนโสดทุกคน สำหรับคนโสดที่ยังไม่ได้วางแผนการเงินเวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นคือ “วันนี้” เพราะยิ่งวางแผนเร็ว ยิ่งออมเร็ว ยิ่งได้เปรียบ เนื่องจากระยะเวลาในการลงทุนเป็นกุญแจที่สำคัญดอกหนึ่งที่จะช่วยพาไปให้ถึงเป้าหมายของเรา
ที่มาข้อมูล : http://www.tfpa.or.th/datasource.php?topic=document&sub=article&tab=personal&pageNumber=4&id=594