ถ้าอยากรวย ต้องคิดแบบเศรษฐี
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
มีคำกล่าวเอาไว้ว่า เงินที่ได้จากโชคลาภ เวลาใช้จ่ายอะไรแทบไม่ต้องตัดสินใจก็สามารถซื้อได้ทันที โดยไม่คิดถึงความคุ้มค่า
ทุกวันนี้ คนไทยอยู่ในยุคบริโภคนิยม ที่สามารถซื้อได้เกือบทุกอย่างด้วยบัตรเครดิต หรือเงินอนาคตจากการกู้หนี้ยืมสิน
ข้อมูลของเครดิตบูโร พบว่า 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยเป็นหนี้เฉลี่ย 128,000 บาทต่อคน (จากเดิม 70,000 บาทต่อคน) ที่น่าตกใจไปกว่านั้น คือ คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น โดยราว 60% ที่เป็นหนี้ มีอายุ 29-30 ปี แถมส่วนใหญ่เป็นหนี้แล้วปล่อยให้หนี้เสีย
ที่น่ากังวลมากที่สุด เห็นจะเป็นคนไทยที่เกษียณไปแล้ว ยังเป็นหนี้เฉลี่ย 70,000-80,000 บาทต่อคน
แนวคิดการก่อหนี้เพื่อการบริโภคได้รับการปลูกฝังมาอย่างยาวนาน ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าต้องทำงานหาเงินเพื่อมาใช้จ่าย มาใช้หนี้ แต่ไม่ได้ปลูกฝังเกี่ยวกับการประหยัดหรือการเก็บออม รวมถึงไม่มีความพยายามเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงิน
ไม่สายที่เริ่มต้นลงมือเปลี่ยนแปลงทัศคติเกี่ยวกับการเงิน สมมติว่าถูกหวย 100,000 บาท จะเอาเงินไปทำอะไร
เก็บเงินให้ตัวเองก่อน
มีประโยคหนึ่งบอกว่า อนาคตการเงินของตัวเองและครอบครัว ขึ้นอยู่กับคำว่า “จ่ายเงินให้ตัวเองก่อน” เช่น เมื่อเงินเดือนออกหรือได้เงินมา “ต้องเก็บ” เป็นเรื่องแรก การเก็บเงิน ก็คือ การจ่ายเงินให้ตัวเองก่อน แล้วค่อยจ่ายให้คนอื่น
ใช้จ่ายเท่าที่ทำเป็น
ไม่ได้เกี่ยวกับว่าหาเงินมาได้เท่าไหร่ แต่เกี่ยวกับว่าเก็บออมได้เท่าไหร่ เวลาถามว่า “ทำไมทุกวันนี้ถึงมีเงินเก็บเพียงเล็กน้อย” คำตอบที่ได้มักจะบอกว่า “เพราะมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต” แต่ไม่มีใครตอบว่า “เพราะใช้จ่ายมากเกินความจำเป็น”
ตัวอย่าง นาย ก. เงินเดือน 50,000 บาท (หรือ 600,000 บาทต่อปี) นาย ข. เงินเดือน 30,000 บาท (หรือ 360,000 บาทต่อปี)
นาย ก. มีความสุขกับการใช้เงินที่หามาได้ เฉลี่ยแล้วเขาจะจับจ่ายใช้สอย ค่ากิน ค่าเที่ยว ช้อปปิ้ง ปีละ 400,000 บาท เขาเก็บเงินเฉลี่ยปีละ 10,000 บาท
นาย ข. จะให้ความสำคัญการใช้จ่ายเรื่องความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และจดบันทึกรายรับ รายจ่ายเป็นรายสัปดาห์ และเขาสามารถเก็บเงินได้ 30% ของรายได้ต่อปี หรือ 108,000 บาท
สมมติว่า สถานการณ์เป็นไปแบบนี้เรื่อยๆ ใครไม่มีปัญหาเรื่องเงินทอง เรื่องนี้จึงบอกว่าไม่ได้เกี่ยวกับว่าหาเงินมาได้เท่าไหร่ แต่เกี่ยวกับว่าเก็บออมได้เท่าไหร่
ลงทุนให้เร็วที่สุด และสม่ำเสมอ
“ถ้าลงทุนตั้งแต่อายุ 25 ปี ตอนเกษียณคงมีเงินหลายล้านบาท” ไม่มีใครสามารถกลับไปแก้ไขอดีตได้ แต่ไม่มีคำว่าสายเกินไป ลงมือทำตั้งแต่วันนี้เลย
ตัวอย่าง นาย เอ อายุ 25 ปี มีเป้าหมายเกษียณการทำงานตอน 60 ปี (มีเวลาทำงานหาเงิน 35 ปี) เขาเริ่มแบ่งเงินไปลงทุน เดือนละ 2,000 บาท สมมติว่าได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5% พอวันเกษียณจะมีเงินประมาณ 2,272,185 บาท
นาย บี อายุ 35 ปี มีเป้าหมายเกษียณการทำงานตอน 60 ปี (มีเวลาทำงานหาเงิน 25 ปี) ถ้าเขาอยากมีเงินในวันเกษียณเท่ากับนาย เอ (ประมาณ 2,272,185 บาท) ต้องแบ่งเงินไปลงทุน เดือนละ 3,816 บาท
จะเห็นว่า นาย บี ก็ทำได้ แค่ต้องใช้เงินลงทุนในแต่ละเดือนมากกว่าคนอายุน้อยๆ
สังเกตว่าทุกคนสามารถเก็บเงินและมีใช้ตลอดชีวิต เริ่มจากการมี “วินัย” จากนั้นใช้ประโยชน์จาก “เวลา” ให้เต็มที่ ถ้าทำได้ “เวลา” และ “ผลตอบแทน” ก็พร้อมที่จะทำให้เกิดอิสรภาพทางการเงิน