5 เงินก้อนที่ "คนวัยเกษียณต้องมี"
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
เงินก้อนสุดท้ายในวัยเกษียณ ต้องแบ่งให้อยู่ถูกที่ถูกทาง เพื่อให้พร้อมรับทุกสถานการณ์ โดยควรแบ่งเป็น 5 ก้อน ดังนี้
เงินก้อนใหญ่
เป็นเงินก้อนเพื่อเตรียมไว้ใช้จ่ายตั้งแต่วันเกษียณไปถึงวันที่จากโลกนี้ไป โดยควรกระจายลงทุนทั้งในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น หุ้นกู้ กองทุนรวมตราสารหนี้ ประกันสะสมทรัพย์ ประกันบำนาญ ฯลฯ และสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้นไทย กองทุนหุ้นไทย กองทุนหุ้นต่างประเทศ ฯลฯ
ซึ่งควรมีสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงประมาณ 10%-20%ของเงินเพื่อเกษียณนี้ เพื่อให้มีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินเฟ้อ และไม่ทำให้เงินก้อนนี้มีความเสี่ยงโดยรวมที่สูงเกินไป โดย ณ อายุ 60 ปี ควรมีเงินก้อนนี้เท่ากับค่าใช้จ่าย 300 เดือน (25 ปี) เพื่อให้เพียงพอกับการใช้จ่ายจนถึงอายุ 85 ปี
เงินใช้จ่าย
ซึ่งประกอบด้วย
- เงินเพื่อใช้จ่ายประจำวัน
ที่พร้อมถอนออกได้ทุกวัน เช่น เงินฝากออมทรัพย์ที่ผูกกับบัตร ATM โดยเงินก้อนนี้ควรถูกเติมทุกต้นเดือน (หรือทุกต้นสัปดาห์) จาก “เงินเพื่อใช้จ่ายประจำปี” เพื่อให้พร้อมใช้จ่ายอยู่เสมอ และไม่ควรมีเงินก้อนนี้มีมากเกินจำเป็น เพราะอาจเผลอใจนำออกไปใช้ได้ง่ายๆ
- เงินเพื่อใช้จ่ายประจำปี
เพื่อเตรียมใช้จ่ายในช่วง 1 ปีที่จะถึง โดยอาจเก็บในเงินฝากประจำ หรือกองทุน Fixed Term ไว้หลายๆ บัญชี เพื่อให้มีเงินทยอยครบกำหนดทุกต้นเดือน (หรือทุกต้นสัปดาห์) โดยเงินก้อนนี้ควรถูกเติมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จาก “เงินเพื่อเกษียณ”
เงินฉุกเฉิน
เพราะเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่ารถเสีย หลังคารั่ว โดยควรเก็บไว้ในเงินฝากประจำที่สามารถถอนได้ทันทีทุกวันที่สาขาธนาคาร หรือสำหรับคนเกษียณที่ใช้ Mobile Banking เงินฝาก e-Savings เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มักให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำ โดยควรมีเงินก้อนนี้เผื่อไว้เท่ากับค่าใช้จ่าย 6 เดือน
เงินเพื่อสุขภาพ
ตัวช่วยที่นิยมกัน คือ ประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรง โดยควรมีความคุ้มครองเพียงพอกับค่ารักษาพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะโรคร้ายแรง รวมถึงต้องครอบคลุมค่ารักษาที่เพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงอายุ 85 ปี ด้วย เช่น หากค่ารักษาโรคร้ายแรงตอนนี้อยู่ที่ 1 ล้านบาท และปัจจุบันอายุ 60 ปี ก็ควรมีความคุ้มครองสุขภาพประมาณ 5-7 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอกับค่ารักษาที่อาจเพิ่มขึ้นปีละ 7%-8%ต่อปี ไปอีก 25 ปี
ส่วนใครที่ไม่มีประกันสุขภาพหรือโรคร้ายแรง ก็ควรเตรียมและเก็บเงินก้อนนี้ไว้ในทางเลือกเสี่ยงต่ำที่พร้อมถอนได้เสมอ เช่น เงินฝากประจำ หรือเงินฝาก e-Savings
เงินลงทุน
เป็นเงินส่วนที่เกินกว่า 4 ก้อนแรกที่เล่ามา ทำให้สามารถลงทุนเสี่ยงสูงได้ เช่น ลงทุนหุ้นหรือกองทุนหุ้นในสัดส่วนเกินครึ่ง หรือนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนคอนโดเพื่อปล่อยเช่าได้
แต่หากยังมีเงิน 4 ก้อนแรกไม่เพียงพอ นอกจากไม่ควรนำเงินไปลงทุนในทางเลือกที่เสี่ยงสูงแล้ว ยังควรมองหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้หลังเกษียณอีกด้วย
คนวัยเกษียณต้องแบ่งเงินให้ดี เพราะถ้ามีสิ่งผิดพลาด อาจไม่มีเงินใหม่มาเติม แล้วชีวิตที่เหลือคงไม่มีอะไรมาจุนเจือ ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบายอีกต่อไป