ทางเลือกเก็บเงิน "ความเสี่ยงต่ำ"
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
เงินเก็บที่มี ลงทุนอะไรก็กลัวขาดทุนไปหมด แล้วจะเก็บเงินไว้ที่ไหนดีล่ะ ที่ไม่เสี่ยงที่จะขาดทุน
พันธบัตรรัฐบาล
เป็นตราสารหนี้ที่แสดงสถานะระหว่างผู้ถือและผู้ออก โดย
- ผู้ออกพันธบัตร คือ หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงการคลัง ฯลฯ มีสถานะเป็นลูกหนี้ ซึ่งที่มีภาระผูกพันที่ต้องชำระคืนดอกเบี้ยและเงินต้น แก่ผู้ถือพันธบัตร
- ผู้ถือพันธบัตร ซึ่งก็คือประชาชนทั่วไปที่มีการซื้อหรือลงทุนพันธบัตร มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นคืนตามสัญญา
ดังนั้นการซื้อหรือลงทุนพันธบัตร ก็เสมือนการนำเงินที่มีอยู่ไปให้หน่วยงานภาครัฐกู้ยืม ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่จะชำระคืนทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นตามจำนวนและระยะเวลาที่สัญญาไว้ โดยปราศจากความเสี่ยงที่หน่วยงานภาครัฐนั้นจะผิดนัดชำระหนี้
เงินฝากธนาคารรัฐ
ธนาคารภาครัฐนอกจากมีรัฐถือหุ้นแล้ว บางแห่งยังถูกจัดตั้งขึ้นตามกฏหมายเฉพาะ เช่น ธนาคารออมสิน ที่ตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติธนาคารออมสิน ซึ่งมีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุถึงความมั่นคงและหลักประกันของธนาคารนี้ว่า “มีรัฐบาลเป็นประกัน” จึงอาจเสมือนว่าเงินที่ฝากหรือสลากออมทรัพย์ของธนาคารนี้จะได้รับการค้ำประกันจากภาครัฐเต็มจำนวน หากธนาคารไม่สามารถชำระเงินคืนได้ด้วยตัวธนาคารเอง
สำหรับธนาคารรัฐอื่น แม้กฎหมายอาจไม่ได้ระบุว่ารัฐบาลต้องเป็นประกัน แต่ก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ ตราบเท่าที่มีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นหลัก
เงินฝากธนาคารพาณิชย์
เงินฝากธนาคารพาณิชย์ได้รับความคุ้มครองจาก “สถาบันคุ้มครองเงินฝาก” โดยปัจจุบันผู้ฝากเงินแต่ละคน ได้รับความคุ้มครองในเงินฝากทุกบัญชี รวมกันไม่เกินธนาคารละ 5 ล้านบาท และนับตั้งแต่ 11 ส.ค. 64 เป็นต้นไป ความคุ้มครองจะลดลงเหลือธนาคารละ 1 ล้านบาท
เช่น วันที่ 11 ส.ค. 64 นาย A มีเงินฝากรวมกันทั้งหมด 10 ล้านบาท โดยกระจายฝากธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งๆ ละ 1 ล้านบาท ก็เท่ากับว่าเงินฝากของนาย A ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก รวมกันทุกธนาคารเป็นเงิน 10 ล้านบาท (แห่งละไม่เกิน 1 ล้านบาท)
ในกรณีที่หนึ่งในธนาคารที่นาย A ฝากเงินอยู่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือถูกปิดกิจการ สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะจ่ายเงินคืนแก่นาย A ไม่เกินวงเงินคุ้มครอง (เช่น 1 ล้านบาท) ภายใน 30 วัน ผ่านทาง PromptPay ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน หรือจัดส่งเช็คไปที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
ประกันชีวิต
แม้ “กองทุนประกันชีวิต” หลักๆ จะคุ้มครอง “มูลค่าเวนคืนกรมธรรม์” ซึ่งอาจมีมูลค่าสูงกว่าหรือต่ำกว่าเบี้ยประกันรวมที่เคยจ่ายไป หากบริษัทประกันชีวิตถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือถูกปิดกิจการ จึงถือว่ามีความเสี่ยงจะขาดทุนได้ อย่างไรก็ตามผู้ซื้อประกันชีวิตจะทราบ มูลค่าเวนคืนฯ ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ซื้อประกันแล้ว
หากตอนบริษัทปิดกิจการ ผู้ถือกรมธรรม์ยังมีชีวิตอยู่ กองทุนประกันชีวิตจะคุ้มครองตามจำนวนมูลค่าเวนคืนฯ ณ ขณะนั้น แต่เมื่อรวมกับเงินที่ได้รับจากบริษัทประกัน(ชำระบัญชี) แล้ว จะไม่เกิน 1 ล้านบาท
แม้ทางเลือกเก็บเงินที่ไม่เสี่ยงขาดทุนจะมีอยู่ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอื่นแฝงอยู่ หนึ่งในนั้นคือ “ความเสี่ยงที่เงินเก็บด้อยค่า” เพราะทางเลือกเหล่านี้ล้วนให้ผลตอบแทนที่แสนต่ำ และมักต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อด้วย เช่น
- พันธบัตร อายุ 7 ปี (เสนอขายล่าสุด ก.ย. 63) ดอกเบี้ย 2.22% ต่อปี
- ธนาคารออมสิน ฝากประจำ 24 เดือน (ประกาศ ณ 20 ส.ค. 63) ดอกเบี้ย 0.95% ต่อปี
- ธนาคารพาณิชย์ ฝากประจำ 24 เดือน (ข้อมูล ธปท. ณ 02 พ.ย. 63) ดอกเบี้ย 0.5%-1.30% ต่อปี
- ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ IRR 1%-2% ต่อปี
ไม่เสี่ยงขาดทุนแต่ต้องใช้แรงทำงานเยอะขึ้น กับยอมเสี่ยงขาดทุนบ้างในช่วงสั้นๆ แล้วปล่อยให้เงินทำงานไป ทางเลือกไหนกัน ที่จะทำให้เรามีความมั่งคั่งในระยะยาวได้มากกว่ากัน