×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

Libra ช่วยโอนเงินคล่องเหมือนส่งสติกเกอร์

3,634

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

หลังจากฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐอเมริกาได้ทำจดหมายแจ้งให้ Facebook หยุดพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล Libra เอาไว้ก่อน เพื่อขอเวลาประเมินความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดกับระบบการเงินทั่วโลก หลายคนอาจเริ่มตั้งคำถามว่า เราจะมีโอกาสเห็นโปรเจ็กต์ Libra แจ้งเกิดหรือไม่ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน Wealth Me Up จะพาไปฟังมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญในโลกการเงินกัน

 

เงินดิจิทัล Social Banking ของต้องมี

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและ Group CEO บริษัทบิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนเงินดิจิทัล มองว่า เมื่อมีการเปิดตัว Libra คนที่เสียโอกาสก็ต้องออกมาต่อต้าน ซึ่งเป็นแพตเทิร์นของสิ่งที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลก 

 

เทรนด์โลกในอนาคต คนจะต้องใช้เงินดิจิทัล เพียงแต่จะออกมาในรูปแบบไหน Social Banking ต้องมาแน่นอน

 

โดยเขาเห็นว่า Libra เป็นสิ่งที่ควรมีมาตั้งนานแล้ว  เพราะปัจจุบันเป็นยุคของอินเทอร์เน็ต แต่ภาคการเงินยังพัฒนาผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานของเงินสด ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่ได้ก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลกันหมดแล้ว 

 

พร้อมอธิบายต่อว่า โลกมีประชากร 8,000 ล้านคน ประมาณ 2,300 ล้านคนใช้ Facebook เป้าหมายของ Libra ก็คือ กลุ่มคนนับพันล้านคนที่มีโทรศัพท์มือถือ แต่ไม่มีบัญชีธนาคาร เพื่อให้คนเหล่านี้ใช้บริการทางการเงินผ่านมือถือได้  โดยการใช้ Libra จะดีกว่า เพราะเป็นการรับจ่าย และโอนเงินง่ายเหมือนการส่งสติกเกอร์หากัน และไม่มีค่าใช้จ่าย 

 

“Facebook ไม่ได้กำไรจากการสร้าง Libra แต่การสร้าง Libra เปรียบเหมือนสร้างสะพานลอย Facebook เป็นเจ้าของห้าง ลงทุนสร้างสะพานลอย ซึ่งไม่ได้ทำเงิน แต่ก็ดึงดูดคน และเปิดให้คนพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมได้ ถือเป็นนวัตกรรมเปิด”

 

แรงสะเทือนต่อโลกการเงิน

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.)  ระบุว่า Libra นำเทคโนโลยีแบบ Peer-To-Peer Payments มาใช้ แต่สเกลใหญ่ระดับโลกและไร้พรมแดน ทุกคนสามารถโอนเงินให้ได้ แค่มีบัญชี Facebook นี่คือสิ่งที่ Facebook ฝัน ทำให้ระบบการเงินทั้งโลกเชื่อมเป็นอันเดียวกัน 

 

 “Libra เป็นสกุลเงินข้ามชาติมากๆ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ กำกับได้แค่ตอนแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างเงินบาทกับ Libra แต่ไม่สามารถกำกับควบคุมคนที่รับชำระเป็นสกุลเงิน Libra ได้ นี่คือความยากของโลกการเงินในแง่ของกฎหมาย”

 

ต้องปรับตัวให้ทัน

ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มองว่า การเปิดตัวของ Libra ทำให้ภาครัฐต้องปรับตัว โดยเฉพาะโครงสร้างการกำกับดูแลให้ทันสมัย  เพราะ Libra ต่างจากสกุลเงินอื่นๆ ที่มีในประเทศไทย เป็นสกุลเงินสากล แปลว่า ผู้ประกอบการไทยไม่ได้รับการป้องกันจากภาครัฐ ดังนั้น โลกยุคใหม่ที่เสรีมากขึ้น ผู้ประกอบการ ประชาชน จึงต้องปรับตัว ดูแลตัวเองให้มากขึ้น ไม่ใช่รอรัฐให้คอยแต่ป้องกัน

 

ย้อนกลับทำความรู้จัก Libra

Libra คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ถูกคิดค้นและพัฒนาโดย Facebook ด้วยเทคโนโลยี blockchain และเข้ารหัสแบบ cryptography โดย Facebook ร่วมกับพันธมิตร 28 บริษัท จัดตั้ง Libra Association ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรร่วมกันดูแล 

 

เงินสกุลนี้ มี 2 แบบ ได้แก่ Libra Coin ที่เปิดให้คนทั่วไปได้ใช้ มีค่าเงินคงที่ เพราะนำสินทรัพย์ที่มีอยู่จริงค้ำประกัน และ Libra Investment Token มีคุณสมบัติคล้ายหลักทรัพย์ ออกมาให้กับกลุ่มบริษัทที่เป็นสมาชิก มีกำหนดเปิดตัวในปี 2020

 

Libra จะถูกโอนผ่าน Calibra  ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลสำหรับเงินสกุลนี้โดยเฉพาะ สามารถรับส่งเงินผ่าน Facebook Messenger, WhatsApp  ซึ่ง Facebook รับรองว่า ธุรกรรมใดๆ ของ Calibra จะไม่ผูกติดกับ Facebook เพื่อป้องกันข้อครหาเรื่องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats