×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

รวม ‘ศัพท์เศรษฐกิจ 1O1’ ยอดฮิต…UpSkill การลงทุน

2,417

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

การติดตามข้อมูลข่าวสารเศรษฐกิจอย่างเป็นประจำ ช่วยให้เราได้เปรียบอย่างมากในการลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) ที่เน้นวิเคราะห์หุ้นแบบ Top Down Analysis โดยเริ่มจากภาพใหญ่สุด นั่นคือภาวะเศรษฐกิจจากนั้นจึงวิเคราะห์อุตสาหกรรมที่มีโอกาสได้รับประโยชน์ แล้วปิดท้ายด้วยการเจาะลึกบริษัทที่น่าสนใจ

 

แต่เชื่อว่าคงมีหลายคนที่มักจะเจอปัญหาเวลาฟังหรืออ่านข่าวเศรษฐกิจ เพราะเต็มไปด้วยคำศัพท์ที่ไกลตัวและเข้าใจยากเต็มไปหมด บทความนี้จึงได้รวบรวม 10 คำศัพท์ยอดฮิตในข่าวเศรษฐกิจ พร้อมถอดรหัสแปลความหมายออกมาเป็นภาษาที่ทุกคนเข้าใจได้ง่ายขึ้นมาฝาก  

 

ดัชนีหุ้น

 

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ หรือที่ได้เรียกกันสั้น ๆ ว่า ดัชนีหุ้น เป็นเครื่องมือชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นในภาพรวม โดยมีด้วยกันอยู่หลากหลายดัชนี เช่น ดัชนี SET หรือ SET Index คือ ดัชนีที่สะท้อนราคาหุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์ฯ, ดัชนี SET50 คือ ดัชนีที่สะท้อนราคาหุ้นที่มีสภาพคล่องและมูลค่าตลาดสูงสุด 50 ตัวแรก เป็นต้น

 

ประโยชน์ของการติดตามความเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้นักลงทุนมองเห็นภาพรวมของตลาดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงจากทิศทางการขึ้นลงของดัชนี นอกจากนี้ เราสามารถนำดัชนีหุ้นมาเป็นเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) วัดประสิทธิภาพการลงทุนได้ด้วย โดยการดูว่าหุ้นที่เราลงทุนนั้น สร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าหรือแย่กว่าตลาด

 

GDP 

 

GDP ย่อมาจาก Gross Domestic Product ความหมายเต็มในภาษาไทย คือ ผลิตภัณฑ์รวมประชาชาติ เป็นตัวเลขที่สะท้อนมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ Consumption คือ การบริโภคของภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป, Investment คือ การลงทุนของภาคเอกชน, Government Spending คือ การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ และ Net Export คือ มูลค่าการส่งออกสุทธิ

 

หากมีการรายงานว่าตัวเลข GDP ของไทยปรับตัวสูงขึ้น แปลว่าภาพรวมเศรษฐกิจมีการเติบโต แต่หาก GDP ติดลบ ก็แสดงถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งเราสามารถนำปัจจัยเหล่านี้มาวิเคราะห์ทิศทางการลงทุนในอนาคตได้

 

อัตราเงินเฟ้อ

 

อัตราเงินเฟ้อ คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ราคาพลังงาน ฯลฯ ดังนั้น การที่ตัวเลขเงินเฟ้อสูงขึ้น แปลง่าย ๆ ว่าราคาสินค้าแพงขึ้นนั่นเอง และส่งผลต่อมูลค่าเงินในกระเป๋าที่มีอยู่เท่าเดิมแต่ซื้อสินค้าได้ปริมาณน้อยลง

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมหนึ่งการเกิดเงินเฟ้ออ่อน ๆ ถือว่าดีต่อตลาดหุ้น เพราะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจกำลังโตไปข้างหน้า แต่หากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นรวดเร็วเกินไป ก็อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ด้วย

 

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย

 

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดโดยธนาคารกลาง หรือ แบงก์ชาติของแต่ละประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์

 

อัตราแลกเปลี่ยน หรือ ค่าเงิน

 

ในข่าวเศรษฐกิจจะมีคำว่าเงินบาทแข็งค่า’ ‘เงินบาทอ่อนค่าสิ่งนี้แหละคืออัตราแลกเปลี่ยน โดยเป็นการเปรียบเทียบราคาของเงินสกุลหนึ่งเทียบกับเงินอีกสกุลหนึ่ง  เช่น เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แสดงว่าเรานำเงินบาทเท่าเดิม ไปแลกเงินดอลลาร์ได้ในจำนวนที่มากขึ้นนั่นเอง 

 

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค

 

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค หรือ Consumer Confidence Index เป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงทัศนคติของประชาชนต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วงนั้น ๆ โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากรายได้ การว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น

 

ดัชนีวัดความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะสำรวจเป็นประจำทุกเดือน เราจึงสามารถนำข้อมูลตรงนี้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตด้วย เพราะหากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะดี ก็จะมีการจับจ่ายใช้สอยและลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม 

 

การเคลื่อนย้ายเงินทุน หรือ Fund Flow

 

Fund Flow หมายถึง เงินจากนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมาในรูปแบบกองทุนที่มีมูลค่าสูง เพราะฉะนั้น เมื่อมี Fund Flow ไหลเข้าที่ไหน ก็มักส่งผลให้ตลาดหุ้นของประเทศนั้นปรับตัวสูงขึ้นตาม และทำให้ตลาดนั้นได้รับความสนใจยิ่งขึ้น

 

นโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง

 

นโยบายการเงิน คือ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือทางการเงิน ได้แก่ การควบคุมปริมาณเงิน อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหน้าที่ของธนาคารกลาง หรือ แบงก์ชาติ กำหนดทิศทางการดำเนินนโยบาย

 

นโยบายการคลัง หรือ Fiscal Policy คือ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการหารายได้และรายจ่ายของรัฐบาล ได้แก่ การจัดเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ  ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบาย

 

มาตรการ QE และ QT

 

QE ย่อมาจาก Quantitative Easing คือ การเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน โดยการเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ด้วยการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต แต่ก็ต้องแลกมากับภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

 

QT ย่อมาจาก Quantitative Tightening คือ การย้อนกลับของ QE โดยการดึงเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ ด้วยการขายสินทรัพย์ทางการเงินที่เคยซื้อไว้ เพื่อลดปริมาณสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งมักจะถูกนำออกมาใช้เวลาที่เศรษฐกิจเติบโตร้อนแรงเกินไป

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) หมายถึง ประเภทสินค้าที่มีลักษณะเหมือนกัน หรือมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ราคาสินค้ากลุ่มนี้ถูกกำหนดโดยความต้องการของตลาดโลก โดยที่ผู้ผลิตไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าด้วยตัวเอง เช่น ข้าว ยางพารา น้ำมัน ทองคำ เป็นต้น

 

หากเรามีความเข้าใจปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจ ก็คงเหมือนการติดกระดุมเม็ดแรกของการลงทุนที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์การลงทุนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถนำปัจจัยทางเศรษฐกิจพิจารณาควบคู่กับบทวิเคราะห์หุ้นรายตัว ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุน

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats