คนแบบไหนเก็บเงินได้ทุกเดือน!
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
คงได้ยินเวลานักวางแผนการเงินบอกเราว่า “ให้แบ่งเงินไปเก็บออมอย่างน้อยๆ เดือนละ 15% ของเงินเดือน” เราอาจนึกในใจว่าแค่เอาตัวรอดให้ได้จนถึงสิ้นเดือนก็โชคดี เพราะแค่ก้าวออกจากบ้านไปถึงหน้าปากซอยก็ต้องควักเงินซื้อของแล้ว ถ้าต้องแบ่งไปเก็บออมคงไม่พอยาไส้
แต่ทุกวันนี้ หากต้องการเก็บเงินเพื่อเตรียมไว้ใช้หลังวัยเกษียณ อาจต้องเก็บให้ได้อย่างน้อยๆ เดือนละ 20% ของเงินเดือน
เงินเดือน 15,000 บาท เก็บ 3,000 บาท
เงินเดือน 20,000 บาท เก็บ 4,000 บาท
เงินเดือน 30,000 บาท เก็บ 6,000 บาท
เงินเดือน 50,000 บาท เก็บ 10,000 บาท
หลายคนอาจโต้แย้งว่าขนาดเก็บ 15% ของเงินเดือน เลือดตายังแทบกระเด็น จะให้เพิ่มมากกว่านี้ คงเป็นไปได้ยาก คำตอบคือ ดูเหมือนยาก แต่มีหนทาง ถ้าเป็นเช่นนั้นมาดูกันว่าผู้ที่เก็บเงินได้อย่างน้อยๆ 20% ในแต่ละเดือนแบบชิลๆ ทำกันอย่างไร
หลีกเลี่ยงเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงลิ่ว
หลายคนดำรงชีวิตด้วยบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด แปลว่าใช้จ่ายอะไรก็รูดผ่านบัตรเครดิต ถ้าใช้อย่างมีวินัยก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าชำระหนี้แบบขั้นต่ำในแต่ละงวด ผลที่ตามมาหนีไม่พ้นการเจอดอกเบี้ยอ่วม
18% คือ ดอกเบี้ยบัตรเครดิต
28% คือ ดอกเบี้ยบัตรกดเงินสด
เห็นอัตราดอกเบี้ยแล้วจะเป็นลม แต่หันไปดูผลตอบแทนที่เรานำเงินไปลงทุนได้ปีละไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ถ้าอยากจะมีเงินเก็บในแต่ละเดือนให้มากขึ้น โปรดหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ
รู้เส้นทางการเงิน
เวลาจะเดินทางก็ต้องรู้เส้นทางว่าจะไปทางไหนถึงจะถึงจุดหมายปลายทาง เช่นเดียวกันก็ควรรู้ว่าเส้นทางของเงินว่าได้มาอย่างไร เท่าไหร่ และมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่และจ่ายอะไรบ้าง แต่หลายคนกลับไม่รู้ว่าเงินหมดไปกับอะไร ทำให้เก็บเงินไม่ค่อยอยู่
ดังนั้น ถ้าอยากเก็บเงินให้ได้เยอะๆ ควรเริ่มจากจดบันทึกรายรับ – รายจ่ายเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน ถัดมาก็รวบรวมข้อมูลสมุดบัญชีเงินฝาก ข้อมูลการลงทุน ข้อมูลบัตรเครดิต พูดง่ายๆ ต้องรู้ข้อมูลด้านการเงินของตัวเองทุกอย่าง แล้วก็จดข้อมูลทุกอย่างให้ละเอียด
ถ้าทำแบบนี้ จะทำให้รู้ว่าเส้นทางเงินของตัวเอง เช่น รายรับมากจากไหน เท่าไหร่ ซื้ออะไรไปบ้าง ซื้อวันไหน กี่บาท พอบวกลบคูณหารออกมาแล้วเป็นอย่างไร
วิธีการนี้จะทำให้รู้ว่ามีหลายอย่างที่ไม่ควรซื้อ หลายคนถึงกับตกใจว่าของชิ้นนี้ซื้อมาทำไม ซื้อตอนไหน และเมื่อรู้ก็จะเกิดอาการเสียดายเงิน ผลที่ตาม ก็คือ เงินก็เหลือ และก็นำไปลงทุน
รู้จักลงทุน
พอเงินเหลือมากขึ้นก็ต้องนำไปลงทุนเพื่อให้ออกดอกออกผล ซึ่งมีหลายช่องทาง เริ่มตั้งแต่เงินฝาก ซื้อพันธบัตร หุ้นกู้ ลงทุนผ่านกองทุนรวม หรือซื้อหุ้น อย่างไรก็ตาม ก่อนลงทุนก็ศึกษาข้อมูลให้ดีๆ และจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง
คิดถึงชีวิตหลังวัยเกษียณ
เวลาถามผู้ที่เก็บเงินในแต่ละเดือนได้เยอะๆ มักจะได้คำตอบว่า “เก็บไว้ใช้ตอนแก่เฒ่า” ที่สำคัญส่วนใหญ่เริ่มเก็บกันตั้งแต่อายุน้อยๆ หลายคนอายุ 20 ต้นๆ เริ่มลงทุน พออายุ 30 กว่าๆ มีเงินทะลุล้านบาท
ลดความอยาก
บอกเลยว่าผู้ที่มีเงินเก็บ ไม่ใช่คนขี้เหนียวแต่เป็นผู้ที่รู้จักคุณค่าเงิน คือ ซื้อในสิ่งที่ควรซื้อ หรือก่อนซื้อก็ถามตัวเองว่า ซื้อมาแล้วจะใช้หรือไม่มั้ย ถ้าคำตอบคือ ไม่ ก็จะเลือกเก็บเงินเอาไว้ ดังนั้น ผู้ที่รู้จักควบคุมความอยากได้ อยากมี จะมีเงินเก็บทุกเดือน