×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

เคล็ดลับแก้หนี้นอกระบบ

2,850

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ออกบทวิเคราะห์ว่า หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 1 ปี 2564 แตะระดับ 90.5% ต่อ GDP สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีข้อมูลมาในปี 2546และสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากหนี้ครัวเรือนที่ยังมีการขยายตัวที่ 4.6%YOY ขณะที่ GDP หดตัวที่ -7.3%YOY ในช่วงเดียวกัน โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่

 

  • เมื่อเกิดวิกฤตโควิด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้รายย่อยทั้งในรูปแบบของการพักชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งช่วยลดภาระการชำระหนี้ในระยะสั้นและช่วยป้องกันการเกิดหนี้เสียในวงกว้าง อย่างไรก็ดี การชำระหนี้ที่ถูกพักหรือเลื่อนออกไปมีส่วนทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนในภาพรวมปรับลดลงช้ากว่าปกติ

 

  • วิกฤตโควิดได้ส่งผลทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนขาดรายได้ จึงเกิดการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่าย ดังจะเห็นได้จาก การเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลในระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีอัตราการเติบโตในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ 9%YOY เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.8%YOY นอกจากนี้ ข้อมูลประกอบจาก Google Trends ในส่วนของการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับ “เงินกู้-เงินด่วน” เพิ่มขึ้นถึง 79.0%YOY ในปี 2563 โดยปริมาณการค้นหาทำจุดสูงที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการล็อกดาวน์เป็นครั้งแรก และปริมาณการค้นหาคำเหล่านี้ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีตอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้นเป็นต้นมา โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ยังคงมีปริมาณการค้นหาที่เพิ่มขึ้น 16.4%YOY

 

  • ผู้ประกอบการมีการลดราคา ออกโปรโมชันจูงใจเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้หนี้ครัวเรือนในส่วนนี้เติบโตได้ดีในช่วงวิกฤต สะท้อนจากสินเชื่อผู้บริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์ในหมวดที่อยู่อาศัยที่เติบโตได้ค่อนข้างดีที่ 9%YOY ณ สิ้นปี 2020 และยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ 6.8%YOY

 

การที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง แต่สภาพคล่องกลับลดลงจากการลดลงของรายได้ โดยรายได้ของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 ลดลงถึง -8.8%YOY ขณะที่ nominal GDP ลดลงเพียง -2.1%YOY ในช่วงเดียวกัน จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสีย และการเป็นหนี้นอกระบบ

 

แม้ทุกคนจะรู้ว่าหนื้นอกระบบ ดอกเบี้ยสูง และทวงหนี้โหด หลายคนก็ยังเป็นหนี้นอกระบบเพราะความจำเป็น แต่ก็มีหลายคนอาจเป็นหนี้นอกระบบ เพราะไม่ทันกลโกงหนี้นอกระบบ ข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรมสืบสวนคดีพิเศษ ระบุว่าปัจจุบันกลโกงจากแก๊งหนี้นอกระบบมี 3 ประเภท ได้แก่

 

แก๊งหมวกกันน็อค 

 

มีลักษณะเป็นการปล่อยเงินกู้เงินรายวันโดยไม่มีการทำสัญญา อาจใช้วิธียึดบัตรเครดิต บัตรประชาชน หรือยึดบัตรของคนที่ค้ำประกัน กลโกงของแก๊งหมวกกันน็อคนั้นมีอยู่ 2 วิธีคือ

 

  • การคิด “ดอกลอย”

 

เช่น ให้กู้ 100,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน ซึ่งเท่ากับเดือนละ 10,000 บาท ก็จะให้ลูกหนี้ส่งดอกเบี้ยเดือนละ 10,000 บาทไปเรื่อยๆ จนกว่าลูกหนี้จะมีเงินต้นครบ 100,000 บาทมาใช้คืน ซึ่งส่งผลให้ลูกหนี้ไม่สามารถหลุดจากการเป็นหนี้ได้ และต้องส่งเงินให้เจ้าหนี้มากกว่าเงินต้นที่กู้ยืมมาหลายเท่า

 

  • “ล้ม เงินส่ง 24 วัน”

 

ยกตัวอย่าง เงินกู้ 10,000 บาท คิดดอกเบี้ย 2,000 บาท รวมเป็น 12,000 บาท ให้ผ่อนชำระเป็นเวลา 24 วัน วันละ 500 บาท ระหว่างที่ผ่อนชำระหากวันใดวันหนึ่งลูกหนี้ไม่สามารถส่งเงินได้ เจ้าหนี้จะยกเลิกเงินที่ส่งมาแล้วทั้งหมดเท่ากับศูนย์ หรือที่เรียกกันว่า “ล้ม” และลูกหนี้ต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ในการผ่อนชำระ ซึ่งวิธีนี้ทำให้ลูกหนี้จำนวนมากไม่สามารถหลุดจากการเป็นหนี้ได้

 

กลุ่มนายทุนที่ทำสัญญาแบบเอาเปรียบ

 

ก่อนหน้านี้รูปแบบที่นิยมทำกันมากคือการขายฝากในจำนวนเงินกู้ที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ดินมาก โดยทำสัญญาไถ่ถอนระยะสั้นส่งผลให้ลูกหนี้ไม่สามารถหาเงินมาไถ่ถอนที่คืนได้ทัน ที่ดินก็จะตกเป็นของเจ้าหนี้ หรือให้ลูกหนี้“โอนที่ดิน”ให้เจ้าหนี้ก่อนรับเงิน (โดยทำสัญญาจะซื้อจะขาย) เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนและนำเงินมาชำระหนี้ ลูกหนี้ถึงจะได้ที่ดินคืน  แต่สิ่งที่ลูกหนี้ไม่รู้คือ“กรรมสิทธิ์”ในที่ดินได้ตกเป็นของเจ้าหนี้โดยสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ลูกหนี้โอนที่ดินให้เพื่อแลกกับเงินกู้ เมื่อครบกำหนดไถ่ถอนเจ้าหนี้ก็จะหลีกเลี่ยงการรับชำระหนี้

 

เงินกู้ออนไลน์ 

 

มีทั้งสินเชื่อในระบบ หนี้นอกระบบ มิจฉาชีพ วิธีพิจารณาว่าเป็นแอปกู้เงินที่น่าเชื่อถือหรือไม่

 

  • ต้องดูว่าแอปกู้เงินนั้นมีค่าธรรมเนียมการดำเนินเอกสาร หรืออากรแสตมป์เพิ่มหรือไม่ แอปกู้เงินที่น่าเชื่อถือส่วนใหญ่ละเว้นค่าธรรมเนียมส่วนนี้

 

  • แอปกู้เงินที่น่าเชื่อถือ ยึดอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 2.75% ต่อเดือน หรือไม่เกิน 33% ต่อปี ถ้าเกินจากนี้ระแวงได้เลยว่าจะเป็นแอปหลอกลวง

 

  • แอปกู้เงินที่น่าเชื่อถือ เมื่อขอเอกสารการเดินบัญชี แค่ Statement มีชื่อสกุล และเลขบัญชีเท่านั้น หากขอเกินกว่านั้นต้องถามเจ้าหน้าที่แล้วว่าเอาไปใช้ทำอะไร

 

  • แอปกู้เงินที่น่าเชื่อถือ เมื่อขอสำเนาบัตรประชาชน จะขอให้ผู้กู้ลงชื่อด้วยลายเซ็น หรือการสแกนลายนิ้วมือเท่านั้น ไม่มีการขอเอกสารให้เซ็นสำรองเผื่อ

วิธีแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

 

  • ใช้ความขยัน-ประหยัดแก้หนี้

 

เริ่มที่ตัวเองก่อนด้วยการลดรายจ่ายไม่จำเป็น หารายได้เพิ่มขึ้น

 

  • ใช้สินทรัพย์แก้หนี้

 

ขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็น หรือขายทรัพย์สินที่จำเป็นบางอย่าง เช่น รถ บ้าน ฯลฯ ยอมลำบากตอนนี้ เพื่อความสุขในอนาคต

 

  • ใช้หนี้แก้หนี้

 

หาแหล่งเงินกู้ในระบบ เช่น สินเชื่อตามนโยบายรัฐของธนาคารออมสิน สินเชื่อโครงการธนาคารประชาชน เพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบของธนาคารออมสินที่ให้กู้ตามมูลหนี้นอกระบบจริง และตามความสามารถในการชำระหนี้ ไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 1 ต่อเดือน เป็นต้น

 

  • หาคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ยประนอมหนี้

 

ติดต่อสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด สายด่วน 1157

 

ขอคำปรึกษาและร้องเรียนปัญหาหนี้นอกระบบได้ที่หน่วยงานราชการดังต่อไปนี้

 

  • ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โทร. 1359
  • ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ กระทรวงมหาดไทย โทร. 1567
  • ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โทร. 0 2575 3344
  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 สายด่วน 1599
  • ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร. 0 2575 3344

 

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats