ความเหมือนและความแตกต่างของ หุ้น, ETFs และกองทุนรวมดัชนี
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
“นักลงทุนไม่ต้องคิดอะไรเยอะก็ลงทุนได้แล้ว และวิธีการซื้อก็ง่าย ๆ คือ ทยอยซื้อด้วยเงินจำนวนไม่มาก ใส่เงินเข้าไปเรื่อย ๆ ที่เรียกว่า DCA” เป็นคำพูดของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนหุ้นคุณค่าเบอร์หนึ่งของโลก หลังจากเขาตัดสินใจเข้าซื้อ ETFs 2 กอง
ก่อนหน้านี้แทบไม่ได้ยินว่าบริษัท Berkshire Hathaway ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ จะสนใจลงทุนกองทุน ETFs แต่ก่อนขึ้นปี 2563 เขาได้ออกมาประกาศว่าได้เข้าซื้อ ETFs 2 กอง รวมเป็นเงิน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ
เขาให้เหตุผลว่า ETFs เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ต้องการเพิ่มพูนมูลค่าทรัพย์สินของตัวเองในระยะยาว เพราะ ETFs จะเติบโตตามดัชนีตลาดในระยะยาว
“จึงเป็นอีกทางเลือกที่ลดโอกาสทำพลาดจนขาดทุนถาวร และถือเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดีและมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำ” บัฟเฟตต์ กล่าว
ETF ย่อมาจาก Exchange Traded Fund
- Exchange หมายถึง มีการซื้อขายเปลี่ยนมือหน่วยลงทุนโดยเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
- Traded หมายถึง สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านโบรกเกอร์ที่ตัวเองเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายหุ้น ดังนั้น ETF จึงเหมือนกับเป็นหุ้นตัวหนึ่ง
- Fund หมายถึง ETF เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง
พูดง่าย ๆ ETFs เป็นกองทุนเปิดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ซื้อขายได้เหมือนหุ้น บริหารจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ซึ่งมีนโยบายสร้างผลตอบแทนตามดัชนีอ้างอิง (Passive Fund) โดยสามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลายประเภท เช่น หุ้นในประเทศ , หุ้นต่างประเทศ ทองคำ เป็นต้น
ข้อมูลจาก บลจ.บางกอก แคปปิตอล ระบุว่า ETFs เป็นนวัตกรรมทางการเงินที่นำจุดเด่นของกองทุนรวมดัชนีและหุ้นเข้าไว้ด้วยกัน โดยสามารถกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่าลงทุนด้วยตัวเอง มีมืออาชีพคอยบริหารจัดการลงทุนแทนให้ และยังมีกลไกในการปกป้องผู้ถือหน่วยลงทุนเหมือนกองทุนรวม สามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้ Real Time เหมือนซื้อขายหุ้นโดยไม่ต้องรอให้ถึงสิ้นวันถึงจะรู้ราคา
จุดเด่นของ ETFs
- สามารถซื้อ ขายได้ Real Time เหมือนกับหุ้นตัวหนึ่ง
- ช่วยในเรื่องการกระจายความเสี่ยง เช่น ลงทุนในกองทุนรวมที่อ้างอิงตามดัชนี SET50 ก็เปรียบเหมือนว่าเราได้ซื้อหุ้น 50 ตัว
- ค่าธรรมเนียมถูก (เท่ากับค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้น)
- เงินน้อยก็ลงทุนได้ (ลงทุนเป็น Board Lot 100 หน่วย)
- กำไรที่ได้จากการซื้อขาย ไม่ต้องเสียภาษี
ETFs มีนโยบายการลงทุนเลียนแบบหรือล้อกับดัชนีที่ถูกนำมาใช้อ้างอิง โดยดัชนีอ้างอิงนั้นมีหลากหลายประเภท เช่น ดัชนี SET50, SET100, SETHD นอกจากนี้ยังอาจอ้างอิงกับดัชนีอื่น ๆ เช่น ดัชนีราคาทองคำ ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนของกองทุนรวมโดยส่วนใหญ่ที่เลือกลงทุนในหุ้นรายตัว ตราสารหนี้รายประเภท หรือสินทรัพย์รายตัวตามนโยบายการลงทุนที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้า
ดังนั้น การลงทุนของ ETFs จึงสามารถลดความเสี่ยงจากการลงทุนได้ดี เพราะมีการกระจายการลงทุนตามแบบดัชนี ที่สำคัญจะมุ่งเน้นให้ได้ผลตอบแทนเท่ากับหรือใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงมากที่สุด โดยผู้จัดการกองทุนจะเลือกกระจายการลงทุนในลักษณะเดียวกันกับสัดส่วนหรือน้ำหนักของสินทรัพย์รายตัวที่ใช้ในการคำนวณดัชนีอ้างอิงอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทนที่เท่ากับหรือใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงให้มากที่สุด
ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ ETFs จึงเป็นทางเลือกให้นักลงทุนสามารถนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพให้พอร์ตลงทุนของตัวเองด้วยการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท และถ้าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ สินทรัพย์ประเภทหนึ่งปรับตัวลง แต่อีกประเภทปรับตัวขึ้น ก็จะช่วยประคองพอร์ตให้ไม่ขาดทุนหนัก ๆ จึงลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวมได้
ผลตอบแทน ETFs มี 2 รูปแบบ
- กำไรจากส่วนต่างของราคา (Capital Gain)หากซื้อในราคาต่ำ แล้วสามารถขายได้ในราคาสูงกว่าตอนที่่ซื้อมา จะได้รับกำไรจากส่วนต่างของราคา
- เงินปันผล (Dividend)โดยมีโอกาสได้รับเงินปันผลจากการถือหน่วยลงทุน ETFs ที่มีนโยบายในการจ่ายเงินปันผล ทั้งนี้ เงินปันผลซึ่งได้มาจากหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่ ETFs ไปลงทุนโดยผู้จัดการกองทุน จะจัดสรรปันผลหลังจากหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของกองทุน
ปัจจุบัน ETFs เป็นเครื่องมือทางการเงินที่กำลังได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก