1O หุ้นร้อนแรงปี 2564
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ตั้งแต่ต้นปีจนถึงต้นเมษายนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยกำลังกลับมาสร้างความหวังให้กับนักลงทุน เมื่อดัชนีหุ้นปรับขึ้นทะลุ 1,600 จุด และเชื่อกันว่าจะเป็นปีแห่งการกอบกู้ผลตอบแทน หลังจากได้รับบาดเจ็บเมื่อปีก่อน
แต่ความหวังสะดุดลงอย่างกะทันหัน เมื่อ COVID-19 กลับมาระบาดรอบใหม่ก่อนเทศกาลสงกรานต์ และจนถึงวันนี้ตลาดหุ้นได้ทำให้นักลงทุนได้ลุ้นระทึกอีกรอบว่าจะออกหัวหรือออกก้อย
ท่ามกลางความผันผวน ยังมีหุ้นหลายตัวที่มีการซื้อขายอย่างคึกคักจนทำให้ราคาหุ้นปรับพุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง จึงมีคำถามตามมาว่าหุ้นบางตัวอาจจะมีราคาหุ้นที่สูงเกินกว่าพื้นฐานที่แท้จริงไปแล้ว จึงตามมาด้วยคำแนะนำให้นักลงทุน ลงทุนด้วยความระมัดระวัง
ถ้าพูดถึงปัจจัยที่ทำให้ “ราคาหุ้น” ปรับเพิ่มสูงขึ้น ล้วนมาจากปัจจัยพื้นฐาน หลัก ๆ แล้วแบ่งออกเป็น 3 ปัจจัย
ภาวะเศรษฐกิจ
ถ้าเศรษฐกิจเติบโตดี ขยายตัวต่อเนื่อง ราคาหุ้นมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เพราะนักลงทุนมองว่าบริษัทมีโอกาสจะขาดทุนน้อย จึงกล้าเข้ามาซื้อหุ้น โดยช่วงเศรษฐกิจดี ผู้คนมีรายได้ดี กล้าจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้ยอดขายและผลกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตรงกันข้ามถ้าเศรษฐกิจไม่ดี อยู่ในภาวะซบเซา ราคาหุ้นมักปรับลดลง นักลงทุนไม่กล้าลงทุน กำลังซื้อหดตัว ทำให้บริษัทมีผลการดำเนินงานปรับลดลง
ภาวะอุตสาหกรรม
ถ้าอุตสาหกรรมอยู่ในภาวะขาขึ้น ราคาหุ้นมักปรับขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากนักลงทุนประเมินว่าผลประกอบการของบริษัทในอุตสาหกรรมนั้นจะมีแนวโน้มสดใส แต่ถ้าอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงขาลง ราคาหุ้นมักปรับลดลงหรือ เพราะนักลงทุนกังวลถึงความเสี่ยงจึงขายหุ้นตัวนั้น
ผลการดำเนินงาน
ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่บอกว่าบริษัทมีผลการดำเนินงานดีหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น กลยุทธ์ของบริษัท อยู่ในอุตสาหกรรมเป็นขาขึ้น ปรับตัวเก่ง มีความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถของผู้บริหาร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ราคาหุ้นปรับขึ้นหรือปรับลง เช่น การวิเคราะห์ทางด้านปัจจัยเทคนิค ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ในการวิเคราะห์
นอกจากนี้ ยังมีหุ้นที่มีการเก็งกำไรจนราคาหุ้นเกินมูลค่าที่แท้จริง ซึ่งมักจะอ่อนไหวต่อข่าวที่ประกาศออกมา หากมีข่าวในแง่บวกเข้ามากระทบบริษัท ราคาหุ้นก็จะปรับตัวสูงขึ้นทันที แต่ความเสี่ยงสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ถ้าหากข่าวนั้นอาจไม่เป็นความจริงหรือผลประกอบการไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ราคาหุ้นก็จะปรับตัวลดลงทันทีเช่นกัน นักลงทุนอาจได้รับผลกระทบจากการการขาดทุนได้ รวมถึงหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำและมีการเปลี่ยนแปลงการซื้อขายจนทำให้สภาพคล่องสูงขึ้นกว่าปกติก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าจับตามองก่อนตัดสินใจลงทุน
ดังนั้น การเลือกหุ้นในการลงทุนในช่วงที่มีความผันผวนสูง นักลงทุนจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของบริษัทโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของการประกอบธุรกิจ ฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน ผลประกอบการในอนาคต แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว รวมถึงอัตราส่วนทางการเงินและประเมินมูลค่า เพื่อเปรียบเทียบกับราคาหลักทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ดังคำกล่าวที่ว่าไว้ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนเสมอ”