เปรียบเทียบ "หุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม"
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
หากนึกถึงหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่โดดเด่นและเป็นขวัญใจนักลงทุน ต้องยกให้ AMATA, ROJNA และ WHA ซึ่งขนาดยังไม่เปิดประเทศ ราคาหุ้นก็พุ่งขึ้นไปรอแล้ว และนักลงทุนเข้ามาซื้อดักกันอย่างคึกคัก เช่น ราคา ROJNA ปรับขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี ที่ระดับ 8.50 บาทเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 เช่นเดียวกับราคาหุ้นอีกสองตัวก็เริ่มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจะอยู่ในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยเป็นธุรกิจที่จะมีการเจริญเติบโตไปพร้อม ๆ กับเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นธุรกิจจัดสรรที่ดินเพื่อขายหรือให้เช่าสำหรับประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม โดยมีการให้บริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เช่น ไฟฟ้า ประปา ระบบป้องกันน้ำท่วม การบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง เป็นต้น
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม
- ความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการ
- กฎระเบียบหรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของภาครัฐที่สนับสนุนการลงทุนภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ รวมถึงการให้สิทธิพิเศษเพิ่มเติมแก่นักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม
- สภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจหรือการเมืองในประเทศ
- นโยบายของบริษัทข้ามชาติในการกระจายฐานการผลิตและการลงทุนมายังประเทศไทย
- ศักยภาพทางด้านกายภาพและภูมิศาสตร์ของประเทศ
โดยรายได้หลักของผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมมาจาก 2 ส่วน คือ รายได้จากการขายและเช่าที่ดิน และรายได้จากการให้บริการต่าง ๆ เช่น ให้เช่าโรงงานหรือคลังสินค้า สาธารณูปโภค (เช่น ไฟฟ้า ประปา) โดยรายได้ส่วนนี้จัดเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง (Recurring Income) ซึ่งจะช่วยลดทอนความเสี่ยงจากความผันผวนของรายได้จากการขายที่ดินได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเกิดวิกฤติ COVID-19 ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดสัดส่วนรายได้จากการขายและเช่าที่ดิน เนื่องจากมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ โดยได้เพิ่มสัดส่วนรายได้จากภาคบริการและสาธารณูปโภคอื่น ๆ เช่น การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า บริการบำบัดน้ำเสีย เนื่องจากเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องและค่อนข้างมีความแน่นอน ซึ่งจะช่วยลดทอนความเสี่ยงจากความผันผวนของรายได้จากการขายที่ดิน
นอกจากนี้ยังให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจสาขาอื่นเพื่อหนุนการเติบโตของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งจะหนุนให้ผู้ประกอบการหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับความสามารถการแข่งขัน เช่น ระบบหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ เป็นต้น
เนื่องจากราคาหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมจะมีความผันผวนค่อนข้างสูง ดังนั้น จึงอาจเหมาะกับนักลงทุนสไตล์ตามกระแส (Momentum Investor) เน้นการลงทุนตามเทรนด์ขาขึ้นของตลาด เกาะกระแสตามทิศทางเงินทุนไหลเข้า ประกอบกับการใช้ข้อมูลทางเศรษฐกิจมาช่วยในการวิเคราะห์ ขณะเดียวกันหุ้นนั้นต้องอยู่ในความสนใจของตลาด หุ้นเก็งกำไร หรือหุ้นที่มีสัญญาณซื้อทางเทคนิค และต้องผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ รวมถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับหุ้นนั้นในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ
หมายเหตุ
- P/E Ratio ตลาดหลักทรัพย์ 31.19 เท่า, P/E Ratio กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 27.31 เท่า
- P/BV Ratio ตลาดหลักทรัพย์ 1.79 เท่า, P/BV Ratio กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 1.38 เท่า
- อัตราปันผลตอบแทน ตลาดหลักทรัพย์ 2.21%, อัตราปันผลตอบแทน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์2.66%
- อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น ตลาดหลักทรัพย์ 7.53%, อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 4.91%
- อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ 3.45%, อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 3.79%
- IAA Consensus คือ การสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์ต่าง ๆ ที่ติดตามข้อมูลรายบริษัทอย่างใกล้ชิด โดยจะนำเสนอในรูปตารางสรุปตัวเลขสำคัญทางการเงินรายบริษัท เช่น กำไรสุทธิ กำไรต่อหุ้นอัตราเงินปันผล มูลค่าตามปัจจัยพื้นฐาน คำแนะนำสำหรับการลงทุน เป็นต้น
- เนื้อหานี้ไม่ได้เป็นการชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้น-กองทุนนี้
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
- ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
(ข้อมูล ณ 11 มิถุนายน 2564)