×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

แชร์ลูกโซ่...กลโกงการเงิน

4,094

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

ไม่โดนกับตัว ไม่รู้ ทุกครั้งที่มีข่าวคดีโกงการเงิน ไม่ว่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่ แก๊ง Call Center ฯลฯ ก็จะมีหลายคนพูดในทำนองที่ว่า “อีกแล้ว ทำไมยังโง่ให้โดนหลอกอีก” จริง ๆแล้ว คนที่เป็นเหยื่อกลโกงการเงินเป็นเพราะโง่จริงหรือเปล่า เพราะเหยื่อหลายคนไม่ได้เป็นคนสูงอายุ ไม่มีความรู้เหมือนอดีต หลายคนจบการศึกษาระดับสูง หลายคนมีตำแหน่งหรือธุรกิจที่ใหญ่โต ฯลฯ แล้วอย่างนี้พวกเขาเหล่านี้เป็นเหยื่อได้เพราะอะไร กลโกงการเงินมีอะไรบ้าง เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังโดนหลอก และหากสงสัยว่าเป็นเหยื่อแล้วเราต้องทำอย่างไร

 

จากรายงานวิจัย สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เกี่ยวกับการลงทุนในลักษณะบอกต่อ (แชร์ลูกโซ่) ของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,161 คน โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4 – 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 พบสาเหตุสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่ผู้คนสนใจ/หลงเชื่อเข้าร่วมลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ ดังนี้ ต้องการหารายได้เพิ่มคิดเป็นร้อยละ 19 ได้รับการชักชวนจากคนรู้จัก เช่น ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงานคิดเป็นร้อยละ 69 ลงทุนง่ายไม่ยุ่งยาก คิดเป็นร้อยละ 33 คิดว่าได้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนประเภทอื่นคิดเป็นร้อยละ 28 มีความน่าเชื่อถือจากการนำเอาผู้มีชื่อเสียงในสังคมมาโฆษณาจูงใจคิดเป็นร้อยละ 66

 

จากรายงานวิจัยดังกล่าว พอจะสรุปสาเหตุของการเป็นเหยื่อได้ ดังนี้

 

  • ความโลภ อยากได้ผลตอบแทนมาก ๆ อยากรวยเร็วๆง่ายๆ
  • การไม่มีความรู้เรื่องการเงิน ในการพิจารณา และความรู้ในการตรวจสอบ
  • ความเชื่อใจในคนรู้จัก ในคนที่น่าเชื่อถือ โดยพิจารณาจาก อาชีพ ความรู้ ตำแหน่งหน้าที่ บุคคลอ้างอิง

 

รูปแบบการชักชวน

 

  • ยุคอดีต

 

รูปแบบของแชร์ลูกโซ่ยุคอดีต มีลักษณะ ชักชวนให้ร่วมเล่นแบบปากต่อปาก เช่น การขายสินค้า การลงทุนแบบต่าง ๆ

 

  • ยุคกลาง

 

รูปแบบของแชร์ลูกโซ่ยุคกลาง จะมีลักษณะเหมือนยุคอดีต แต่เน้นการหาสมาชิกมากกว่าการขายสินค้า

 

  • ยุคปัจจุบัน

 

รูปแบบของแชร์ลูกโซ่ยุคปัจจุบันที่เน้นการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือหาสมาชิกเข้าร่วม

 

วิธีสังเกต

 

  • ลงทุนน้อย การันตีผลตอบแทนสูงมีหลากหลายการลงทุน 

 

ได้แก่ สินค้าเกษตร เช่น พันธุ์ไม้กฤษณา ไม้สัก มะม่วง ยางพารา ฯลฯ สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ทองคำ ฯลฯ สินค้าแบรนด์เนม แพ็คเกจทัวร์ ร่วมลงทุนในธุรกิจขายตรง ระดมทุนตั้งบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ การออมเงินที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น สหกรณ์ ฯลฯ อัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศ หรือคริปโทเคอร์เรนซี  แม้จะมีหลากหลายวิธีการชักจูง แต่ทุกวิธีจะมีลักษณะพื้นฐานให้สังเกตได้ว่าเป็นแชร์ลูกโซ่

 

  • สร้างภาพลักษณ์ให้ดูรวย

 

เน้นหาสมาชิก การันตีผลตอบแทนสูงเกินจริง อย่างเช่น 8% – 15% ต่อเดือน และมักมีการอ้างคนที่น่าเชื่อถือ เช่น นักธุรกิจ นักการเมือง บุคคลที่มีอาชีพน่าเชื่อถือ เช่น แพทย์ ทนายความ ฯลฯ

 

  • อาจจะเสียเงินก่อนลงทุน

 

อาจเป็นการเสียเงินก่อนลงทุน ในการลงทุนมีการใช้เงินลงทุนสูง

 

  • หาลูกทีมเพื่อเพิ่มรายได้

 

เน้นการหาสมาชิก ถ้าหาสมาชิกเพิ่มได้จะได้ผลตอบแทนเพิ่ม หรือ คอมมิชชั่น

 

  • ช่วงแรกรายได้ดีแต่จะลดลงเรื่อยๆ

 

ช่วงแรกจะได้ผลตอบแทนตามที่การันตี แล้วจะค่อยๆ เลื่อน สุดท้ายหนีหายไปเลย

 

วิธีตรวจสอบ

 

หากมีการแอบอ้างว่าเป็นธุรกิจขายตรง จะสามารถตรวจสอบธุรกิจขายตรงที่มีการขึ้นทะเบียนได้จากข้อมูลรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจขายตรง ที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และได้วางหลักประกันตามกฎกระทรวง การวางหลักประกันการประกอบธุรกิจ ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2561 หรือ รายชื่อผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และได้วางหลักประกันตามกฎกระทรวง การวางหลักประกันการประกอบธุรกิจ ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2561

 

ในกรณีที่มีการชักชวนให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอเรนซี (cryptocurrency) สามารถค้นหารายชื่อผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงค้นหาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตเพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์/สินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านช่องทาง​ SEC CHECK FIRST (https://market.sec.or.th/LicenseCheck/Search) ได้ด้วยตนเอง

 

หากพบข้อสงสัยหรือต้องการร้องเรียนเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ สามารถติดช่องทางต่าง ๆ ได้ ดังนี้

 

  • ติดต่อด้วยตนเองที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
  • ติดต่อผ่านสายด่วน 1202 หรือ 02-831-9888
  • ติดต่อผ่านเว็บไซต์ dsi.go.th หรือ opm.1111.go.th
  • ติดต่อผ่านเฟซบุ๊ก “กรมสอบสวนคดีพิเศษ”
  • ติดต่อผ่านตู้สีขาว “DSI”
  • ติดต่อผ่านศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาคทั่วประเทศ
  • ติดต่อผ่านแอปพลิเคชัน ‘DSI Map Extended’

 

โดยผู้กระทำผิดในคดีแชร์ลูกโซ่จะต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 5 ปี พร้อมโทษปรับวันละ 1 หมื่นบาท และอาจเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats