×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

เบี้ยประกัน Unit-Linked กับเงินที่ลงทุน

3,124

 

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

การเลือกทำประกันชีวิตในปัจจุบันนี้ ที่มีการระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งขยายเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ทำให้ทุกคนหันมาพิจารณาเรื่องของประกันชีวิตและประกันสุขภาพมากขึ้น โดยแบบประกันชีวิตที่มีความน่าสนใจแบบหนึ่งในปัจจุบันคือ ประกันชีวิตควบการลงทุน หรือเรียกย่อๆ ว่า “แบบประกัน Unit-Linked” โดยมีความเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบประกันชีวิตรูปแบบเดิมๆ ที่ให้เราตัดสินใจหลักๆ เพียงแค่ 4 เรื่อง คือ ความคุ้มครองที่ต้องการ เบี้ยประกันที่จ่าย ระยะเวลา และผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับ โดยสิ่งที่เพิ่มขึ้นมา คือ เราต้องมีความเข้าในการลงทุน ความเสี่ยง และค่าการประกันภัย (Cost of Insurance ) เพราะผลตอบแทนจากการลงทุน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง วันนี้ผู้เขียนขอแนะนำการเตรียมความเข้าใจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ของแบบประกัน เพื่อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์นี้อย่างถูกวิธี

 

โดยเบี้ยที่ชำระในแบบประกัน Unit-Linked จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ

 

ส่วนที่ 1 ค่าความคุ้มครองตามกรมธรรม์

 

โดยผู้ขอเอาประกันภัยสามารถเลือกสัดส่วนความคุ้มครองได้ตามความต้องการ โดยมีศัพท์ทางประกันเรียกว่า ค่า Cost of Insurance หมายถึงอัตราการเสี่ยงภัยที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการรับประกันสำหรับวงเงินเอาประกันภัย โดยค่า COI จะเพิ่มขึ้นจากสองปัจจัย คือ อายุ และทุนประกันที่เราเลือก ยิ่งอายุและการเลือกทุนประกันสูงเท่าไหร่ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็จะสูงตามไปด้วย โดยบริษัทจะอ้างอิงค่าใช้จ่ายตามเงื่อนไขความเสี่ยงที่บริษัทได้รับ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ละบริษัท) และนำไปคำนวณจากตารางมรณะไทย (อ้างอิง https://www.oic.or.th/th/consumer/25)  และบริษัทจะเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการนำเงินในส่วนนี้ไปลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินประเภทต่างๆ

 

ส่วนที่ 2 ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่บริษัทเรียกเก็บ

 

เพื่อเป็นค่าดำเนินการ ค่าดูแลรักษากรมธรรม์ และค่าบริการในการลงทุน ซึ่งจะกำหนดแตกต่างกันไปแล้วแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัท ซึ่งเราในฐานะที่เป็นลูกค้า อาจสอบถามข้อมูลค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วนำมาเปรียบเทียบ เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บตลอดอายุสัญญากรมธรรม์ และส่งผลอย่างยิ่งในการคิดคำนวนเงินที่จะนำไปลงทุนในส่วนที่ 3 เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้สูงย่อมส่งผลให้เงินที่จะนำไปลงทุนของเราในแต่ครั้งที่ชำระเบี้ยไปน้อยลงนั่นเอง

 

ส่วนที่ 3 เงินที่จะนำไปลงทุน ตามสัดส่วนและกองทุนที่เลือก

 

เป็นส่วนที่จัดสรรเข้าไปเป็นการลงทุนตามสัดส่วนที่ผู้ขอเอาประกันภัยเลือก ซึ่งบริษัทประกันชีวิตจะนำไปซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตามคำสั่งของผู้เอาประกันภัย โดยบริษัทที่รับจัดการเงินดังกล่าว จัดการหน่วยลงทุนให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยบริษัทประกันชีวิตเป็นผู้ดูแลระบบบัญชีกรมธรรม์ของผู้เอาประกันภัย

 

ส่วนที่ 3 นี่เองที่เราจะเป็นผู้เลือกลงทุนได้เองตามกองทุนที่บริษัทได้ทำการคัดเลือกมาให้ ดังนั้นส่วนที่ได้มาลงทุนมากหรือน้อยจะต้องขึ้นกับปัจจัยสำคัญคือ เราพิจารณาเลือกกำหนดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ 1 และบริษัทประกันคิดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ 2 เท่าไหร่ เช่น  เลือกทุนประกันสูง ค่าการประกันภัยก็จะสูง จะส่งผลเงินในส่วนที่ 3 จะน้อยลงไป เป็นต้น ดังนั้น เราจะไม่สามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนการลงทุนใน Unit-Linked  กับการลงทุนในกองทุนรวมได้ เพราะเงินลงทุนส่วนหนึ่งได้ถูกหักไปเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนการประกันภัยและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น แต่ถ้าเป็นการเปรียบเทียบกับประกันแบบทั่วไป ยังมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เพราะสามารถเลือกบริหารการลงทุนผ่านกองทุนรวมเองได้ และเมื่อใช้ระยะเวลามากขึ้น ความเสี่ยงในการลงทุนย่อมมีโอกาสที่จะลดลง ทั้งนี้ในการนำเสนอผลตอบแทนของเงินในส่วนนี้ ตัวแทนมักจะนำเสนอผลตอบแทนที่คาดหวัง เช่น 5% คงที่ตลอดเป็นต้น  ไม่ใช่ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริง ผู้ที่เลือกซื้อจึงควรพิจารณาจากผลตอบแทนย้อนหลัง และความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนที่นำเสนอมาเปรียบเทียบด้วย

 

แบบประกัน Unit-Linked เป็นแบบประกันที่มีการรายงานสรุปข้อมูลการดำเนินงาน ให้กับผู้เอาประกันทราบอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนับเป็นข้อดีที่เราสามารถบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับเมื่อมีความเข้าใจเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ ในรูปแบบของประกัน Unit-Linked กันมากขึ้น จึงควรเลือกใช้ข้อมูลนี้ ในการวางแผนตอบสนองเป้าหมายในชีวิต ทำให้ทุกย่างก้าวในการดำเนินชีวิตมีความมั่นคง และรักษาความมั่งคั่งไปในเวลาเดียวกัน

 

ติดตามความรู้และข่าวสารสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้ที่
LINE@cfpthailand | สมาคมนักวางแผนการเงินไทย Facebook Fanpage | www.tfpa.or.th

 

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats