บริษัทประกันภัยล้ม ถ้าทำประกันโควิดไว้ ทำไงดี?
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
จากกรณีบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา จากพิษของโควิด 19 โดยเฉพาะประกันประเภท “เจอ จ่าย จบ” ที่ไม่ได้แค่ทำให้คนติดมีโอกาสเสียชีวิต ยังทำให้บริษัทประกันมีโอกาสเสียชีวิต (เจ๊ง) ด้วยเช่นกัน
จริงๆแล้ว เรื่องบริษัทประกันภัยที่เจ๊ง (ปิดกิจการ) ไม่ได้เพิ่งมีในประเทศไทย มีมานานแล้ว ก็คือ
- ปี 2552 บริษัทสัมพันธ์ประกันภัย
- ปี 2553 บริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์
- ปี 2554 บริษัทลิเบอร์ตี้ประกันภัย
- ปี 2554 บริษัท วิคเตอรีประกันภัย
- ปี 2556 บริษัทส่งเสริมประกันภัย
- ปี 2557 บริษัทศูนย์สุขภาพประเทศไทย
- ปี 2559 บริษัทสัญญาประกันภัย
- ปี 2560 บริษัทสัจจะประกันภัย
- ปี 2561 บริษัทเจ้าพระยาประกันภัย
- ปี 2564 บริษัทเอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน)
ซึ่งที่ผ่านมา ข่าวบริษัทประกันภัยล้มไม่ค่อยได้รับความสนใจมากเท่าไหร่ เนื่องจากกลุ่มคนที่โดนกระทบยังอยู่ในวงจำกัด แต่กรณีบริษัทเอเชียประกันภัยล้ม จากประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ” ซึ่งเป็นประกันแบบที่คนขายไม่ต้องขาย คนวิ่งหาซื้อกันเอง และจากที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิดสูงมากเกินความคาดหมาย (ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ 1 เม.ย. 2564 มีจำนวนสูงถึง 1,774,071 ราย) จึงทำให้มีผู้เคลมประกันโควิด 19 มากขึ้น
ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) เปิดเผยว่า “ตัวเลขยอดเคลมประกันภัยโควิด-19 ในปัจจุบัน (15 ส.ค. 2564) มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 9,000 ล้านบาท จากจำนวนเบี้ยประกันโควิดรับรวมกว่า 10,000 ล้านบาท มาจากยอดเคลมประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบราว 7 ล้านกรมธรรม์ จากจำนวน 5-6 บริษัทประกันวินาศภัย ในขณะทั้งระบบมีจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยโควิดรวมอยู่กว่า 20 ล้านกรมธรรม์”
แสดงว่ายังมีกรมธรรม์อีกประมาณ 13 ล้านกรมธรรม์ที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ เหมือนกับเป็นระเบิดเวลาที่บริษัทประกันภัยทั้งหลายยังต้องกังวลกันต่อไป
เมื่อเกิดกรณีบริษัทเอเชียประกันภัยล้ม ก็ได้เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า แล้วยังไงต่อ
- ผู้เอาประกันที่ป่วยจากโควิด 19 แล้ว แต่ยังไม่ได้สินไหมตามที่ระบุในกรมธรรม์ จะยังไงต่อ
- ผู้เอาประกันที่ยังไม่ป่วย แต่ยังมีความคุ้มครองอยู่ตามกรมธรรม์ที่ซื้อไปแล้ว จะยังไงต่อ
ผู้เอาประกันที่ป่วยจากโควิด 19 แล้ว แต่ยังไม่ได้สินไหมตามที่ระบุในกรมธรรม์ จะยังไงต่อ
ตามกฎหมายเรามีกองทุนประกันวินาศภัยทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย (คือ ผู้เอาประกันภัยที่มีการเคลมประกันแต่ยังไม่ได้รับสินไหมนั่นเอง เจ้าหนี้อื่นๆ เช่น เจ้าหนี้การค้าไม่ได้รับการคุ้มครองจากกองทุนประกันวินาศภัย)
ในกรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยจำนวนเงินที่เจ้าหนี้แต่ละรายมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทุนประกันวินาศภัยเมื่อรวมกับจำนวนเงินที่ได้รับชำระหนี้ตามกระบวนการกฎหมายว่าด้วยล้มละลายแล้วต้องไม่เกินมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย หากมูลหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยทุกสัญญารวมกันมีจำนวนเกิน 1 ล้านบาท ก็ให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียง 1 ล้านบาท
อธิบายง่ายๆ ก็คือ สมมติเราซื้อประกันวินาศภัยเอาไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง มีประกันมะเร็งทุน 1 ล้านบาท และประกันโควิด “เจอจ่ายจบ” ทุน 500,000 บาท บังเอิญเราเป็นทั้งมะเร็งและโควิด ทำเรื่องเคลมไปแล้วควรจะได้เงิน 1.5 ล้านบาท ยังไม่ได้ตังค์ ปรากฏว่าบริษัทประกันเจ๊งก่อน ก็จะต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายมีการพิทักษ์ทรัพย์และชำระบัญชีก่อน สมมติหลังชำระบัญชี
- เราในฐานะเจ้าหนี้ผู้เอาประกันได้เงินคืนมาแค่ 1.2 ล้านบาท ถือว่าเราได้ชำระหนี้เกิน 1 ล้านบาทแล้ว กองทุนประกันวินาศภัยก็ไม่ต้องจ่ายอะไรให้เรา แต่หาก
- เราในฐานะเจ้าหนี้ผู้เอาประกันได้เงินคืนมาแค่ 8 แสนบาท กองทุนประกันวินาศภัยก็จะเติมส่วนที่ขาดให้ 2 แสน เพื่อให้ครบ 1 ล้านบาท
สิ่งที่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทุนต้องทำต่อ คือ ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 2 เดือนนับแต่วันที่กองทุนประกาศกำหนดให้มายื่นคำ ขอรับชำระหนี้พร้อมหลักฐานแห่งหนี้ (กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประชาชน ใบเคลม/ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้)
สรุป สำหรับคนที่ซื้อแต่ประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ” ที่ทุนประกันไม่เกิน 1 ล้านบาท และไม่มีเคลมประกันภัยอย่างอื่นก็น่าจะได้เงินสินไหมคืนครบ แต่ช้าหน่อย (หลายปี) เพราะต้องผ่านกระบวนการกฎหมายว่าด้วยล้มละลายก่อน ตอนนี้ก็คอยติดตามข้อมูลจากกองทุนประกันวินาศภัย
ผู้เอาประกันที่ยังไม่ป่วย แต่ยังมีความคุ้มครองอยู่ตามกรมธรรม์ที่ซื้อไปแล้ว จะยังไงต่อ
ที่ผ่านมา หากบริษัทประกันรายใดรายหนึ่งล้ม ทางการก็จะมีวิธีการแก้ไขปัญหาหลักๆ 2 รูปแบบ คือ
- ขอความร่วมมือกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยหาบริษัทประกันวินาศภัยมารับโอนกรมธรรม์ที่ยังมีผลระยะเวลาคุ้มครองอยู่ เหมือนอย่างกรณีรับโอนลูกค้าประกันรถยนต์ของบริษัทประกันที่ล้มมาดูแล
- ยกเลิกกรมธรรม์หรือยุติความคุ้มครอง แล้วให้กองทุนคุ้มครองประกันวินาศภัยเป็นผู้จ่ายคืนเบี้ยในส่วนที่เหลือคืนให้กับผู้ถือกรมธรรม์
ในกรณีปัญหาบริษัทเอเชียประกันภัยล้ม สำนักงาน คปภ. ดำเนินการดังนี้
- ผู้เอาประกันที่ป่วยจากโควิด 19 แล้ว และได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับเอเชียประกันภัย กับผู้ที่ยังไม่ได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ให้ติดต่อกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันภัยวินาศภัยจะเข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทน
- ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภท (ไม่เฉพาะประกันโควิด19) สามารถขอรับคืนเบี้ยประกันภัยที่เหลือจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้ตามส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่ หรือให้นำเบี้ยประกันภัยที่จะได้รับคืนไปใช้แทนเงินสด เพื่อเลือกซื้อประกันภัยจากบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการได้ทุกประเภทกรมธรรม์ประกันภัย