5 เคล็ดลับ สู้ความเครียดทางการเงิน
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
McKinsey&Company บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการทั่วโลก ทำการสำรวจความพึงพอใจในชีวิตของผู้คนหลายภูมิภาค เริ่มจากชาวยุโรปยอมรับว่านับตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้วเป็นต้นมา “ความเป็นอยู่ที่ดี ๆ” ได้ลดลงอย่างรวดเร็วและรู้สึกความสุขอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2523 ในทำนองเดียวกันผู้คนในเอเชียและสหรัฐอเมริกา 9 ใน 10 คน ยอมรับว่าวิกฤติ COVID ทำให้รับรู้ถึงความเครียดทางการเงินอย่างมาก
สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดความเครียดทางการเงิน เช่น ไม่มีเงินเก็บเพียงพอไว้ใช้กรณีเหตุฉุกเฉิน, เงินลงทุนมีผลขาดทุน, เงินที่เตรียมไว้ใช้หลังเกษียณต้องถอนออกมาใช้แทบไม่เหลือ, รายได้ประจำลดลง, ตกงานหรือจำเป็นต้องลาออก, หนี้บัตรเครดิตหรือหนี้เงินกู้, จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่ไม่คาดคิด, ไม่สามารถจ่ายหนี้หรือค่าเช่าได้
ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือหลายอย่างและต่อเนื่องมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็สามารถทำให้ความเครียดทางการเงินลดลงได้ในช่วงสั้น ๆ เพราะหากมองไปในระยะยาวแล้วผู้คนยังต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงินต่อไป ดังนั้น นอกจากมาตรการของภาครัฐแล้วผู้คนที่กำลังเผชิญกับความเครียดทางการเงินก็ต้องหาทางออก อย่างน้อย ๆ ก็เพื่อทำให้ความเครียดลดลง ที่สำคัญทำให้แผนการเงินที่วางเอาไว้กลับคืนมาในเร็ววัน โดยอาจเริ่มต้นจาก 5 เทคนิค
ตรวจสอบสถานะการเงิน
วิธีหนึ่งในการช่วยลดความเครียดทางการเงิน คือ การทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าตัวเองมีเงินเท่าไหร่, ในแต่ละเดือนมีรายได้เข้ามาเท่าไหร่และต้องจ่ายหนี้อะไรบ้าง ซึ่งเทคนิคง่าย ๆ คือ จดบันทึกรายรับรายจ่าย หรือในช่วงนี้อาจทำให้ละเอียดมากขึ้นด้วยการทำเครื่องหมายวันที่มีรายได้เข้ามาและวันที่ต้องจ่ายหนี้ต่าง ๆ ลงบนปฏิทิน เช่น ผ่อนบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ บัตรเครดิต มือถือ ไวไฟ
ข้อดีของการตรวจสอบสถานะทางการเงิน คือ ช่วยให้เข้าใจกระแสเงินสดของตัวเอง เช่น วันนี้ 1 ของทุกเดือนเงินเดือนเข้าบัญชี วันที่ 10 จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ วันที่ 15 จ่ายหนี้บัตรเครดิต วันที่ 20 จ่ายค่าบ้าน ก็จะได้รู้ว่าต้องแบ่งเงินไว้จ่ายหนี้วันที่เท่าไหร่ หรือถ้ากรณีรายได้ไม่เพียงพอก็จะได้เตรียมติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอเปลี่ยนวันที่ครบกำหนดจ่ายหนี้ เป็นต้น
ติดตามค่าใช้จ่าย
หากเงินตึงมือหรือคาดว่าไม่น่าจะเพียงพอ ให้ลองติดตามการใช้จ่ายของตัวเองเป็นเวลา 1 – 2 เดือนเพื่อดูว่ามีพฤติกรรมใช้จ่ายเงินอย่างไร และทุกครั้งที่ซื้อข้าวของให้จดลงสมุดหรือบันทึกลงในมือถือ และอย่าถ้าร้านไหนให้บิลก็เก็บเอาไว้ทุกครั้ง หลังจากนั้นให้ดูรายการว่าค่าใช้จ่ายไหนที่สามารถตัดออกได้ และค่าใช้จ่ายไหนที่จำเป็น จากนั้นให้ตั้งงบค่าใช้จ่ายรายเดือนต่อไปและดูว่ารายจ่ายลดลงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในความเป็นจริงเมื่อตัดค่าใช้จ่ายบางอย่าง เงินก็ควรจะเหลือมากขึ้นตามไปด้วย
อย่าตัดสินใจเรื่องการเงินชั่ววูบ
ในช่วงที่มีความเครียดมากอาจทำให้การตัดสินใจทางด้านการเงินผิดพลาด เช่น ช้อปปิ้งออนไลน์เพื่อระบายความเครียด หรือหลายคนบอกกับตัวเองว่า “ไหน ๆ แก้ปัญหาการเงินไม่ได้ก็ใช้จ่ายให้หมด ๆ ไปก็แล้วกัน” ดังนั้น แทนที่จะเพิ่มปัญหาและเพิ่มความเครียด ควรหาทางแก้ปัญหาทางการเงินของตัวเองทีละขั้นตอนและใช้เหตุผลในการตัดสินใจ เพราะหากตัดสินใจเพียงชั่ววูบด้วยอารมณ์และไม่ทันคิดอาจทำให้สถานการณ์ทางการเงินย่ำแย่ลงไปได้
อย่าลืมเป้าหมายทางการเงิน
ถึงแม้ตอนนี้เงินจะตึงจนชักหน้าไม่ถึงหลัง แต่ไม่ได้หมายความว่าเป้าหมายทางการเงินและชีวิตจะล้มเหลว หมายความว่านับจากวันนี้เป็นต้นไปนอกจากการเก็บออมแล้ว ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่สามารถอยู่ต่อไปได้และบรรลุเป้าหมายทางการเงิน เช่น หารายได้พิเศษ บริหารรายได้และรายจ่าย มีสติในการ
ช้อปปิ้ง แบ่งเงินไปลงทุน ที่สำคัญคอยตรวจสอบการเงินของตัวเองสม่ำเสมอ
คิดไม่ออก ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
การวางแผนการเงินไม่ใช่แค่การจัดทำงบประมาณรายรับรายจ่าย การออมเงินหรือวางกลยุทธ์สำหรับการลงทุน แต่ยังรวมถึงการจัดทำแผนบริหารจัดการเรื่องความเสี่ยงให้เหมาะสมเพื่อทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายชีวิตได้ แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID อาจทำให้เกิดความเครียดทางการเงินและส่งผลให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ทางออก คือ ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือนักวางแผนการเงิน ซึ่งสามารถแนะนำว่า ควรทำสิ่งใดบ้างเพื่อให้ความเครียดทางการเงินลดลง เช่น การวางแผนการบริหารกระแสเงินสด การบริหารหนี้สิน ขณะเดียวกันก็แนะนำแผนการเงินในระยะยาวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน ทั้งการวางแผนการลงทุน การวางแผนประกันชีวิต การวางแผนเพื่อวัยเกษียณ และแนะนำกลยุทธ์การวางแผนการเงินองค์รวมที่เหมาะสมแต่ละคน