แนวคิดทฤษฎีใหม่ VS การลงทุนส่วนบุคคล
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
จุดเด่นสำคัญของศาสตร์พระราชาที่เกิดจากพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือการนำความรู้ด้านต่างๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน และได้ทดลองจนเห็นผลเพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ทำให้เราสามารถนำแนวพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” มาประยุกต์ใช้กับการวางแผนการเงินได้เช่นเดียวกัน
“(เกษตร) ทฤษฎีใหม่” มีแนวคิดในการจัดสรรที่ดินที่มีจำกัดเพื่อทำให้เราสามารถดำรงชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้และลดรายจ่าย หากเหลือก็นำไปขายเป็นเงินเพื่อใช้ในด้านอื่นๆ ที่ดินส่วนหนึ่งใช้เพื่อสะสมน้ำที่เป็นหัวใจสำคัญทางการเกษตร เพื่อให้มีเพียงพอสำหรับใช้ในการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ตลอดปี
ด้วยหลักการจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดและมีความไม่แน่นอน ทำให้สามารถสร้างประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความมั่นคง ทำให้สามารถพัฒนาตัวเองให้ พออยู่พอกิน ไปจนถึง การสร้างแหล่งรายได้เพิ่มเติมในระยะยาว เกษตรทฤษฎีใหม่ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน เริ่มจาก
ทฤษฎีใหม่ขั้นพื้นฐาน
มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรสามารถ “พออยู่พอกินและพึ่งพาตนเองได้” โดยเริ่มสร้างพื้นฐานด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดคือที่ดิน และการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีความไม่แน่ไม่นอนคือน้ำ ที่ดินที่มีอยู่สามารถแบ่งออกเป็น 4 ส่วนเพื่อแยกการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันในสัดส่วน 30:30:30:10 หรือยืดหยุ่นปรับให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่แตกต่างกันได้
- พื้นที่ 30% สำหรับขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำฝนไว้รองรับการใช้น้ำในช่วงนอกฤดู และใช้เลี้ยงปลา
- พื้นที่ 30% สำหรับปลูกข้าว เพื่อเป็นอาหารให้เพียงพอตลอดปีสำหรับครอบครัว และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร
- พื้นที่ 30% สำหรับปลูกพืชผักผลไม้ เพื่อเป็นอาหารประจำวัน และนำส่วนที่เหลือไปขายเป็นเงินเพื่อใช้จ่ายต่างๆ
- พื้นที่ 10% สำหรับอยู่อาศัย โรงเลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่นๆ
ที่ดิน 30% ส่วนแรกที่ถูกจัดสรรเพื่อนำไปใช้บริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีความไม่แน่นอนและแปรผันไปตามสภาพอากาศในแต่ละฤดูทำให้เสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีอยู่ เพื่อเก็บสะสมน้ำให้มีมากเพียงพอสำหรับการบริหารจัดการและนำไปใช้ประโยชน์จะเป็นการลดความผันผวนของปริมาณน้ำตามฤดูกาลและแต่ละปีที่มีปริมาณมากน้อยไม่เท่ากันทำให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อใช้กับที่ดิน 60% ที่ถูกจัดสรรเพื่อสร้างผลผลิตประเภทต่างๆ และที่ดินที่เหลืออีก 10% นั้นเพียงพอสำหรับใช้ประโยชน์ส่วนตัว
หลังจากเราลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งจน “พออยู่พอกิน” แล้ว เกษตรกรก็สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ ทฤษฎีใหม่ในขั้นต่อไป คือ ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง ที่จะช่วยทำให้เกษตรกร “พอมีอันจะกิน” และ ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า ที่เกษตรกรไม่จำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากการเป็นเกษตรกรแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
การจัดสรรการเงิน ตามแนวทาง “ทฤษฎีใหม่” จะเห็นได้ว่าหลักการของ “ทฤษฎีใหม่” คือเป็นเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรที่เรามีอยู่จำกัดเพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรนั้นอย่างมีประสิทธิภาพ และเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีความไม่แน่ไม่นอนเพื่อป้องกันผลกระทบและเพิ่มโอกาสในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่มีทั้งหมด
ในการจัดสรรการเงินการลงทุน ทรัพยากรที่มีจำกัดและมีความไม่แน่ไม่นอน ไม่ใช่ “ที่ดินและน้ำ” แต่คือ “เงิน” เราจึงควรจัดสรรเงินทั้งที่เรามีอยู่และที่เราคาดการณ์ว่าจะได้รับเข้ามาไปในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่การจัดสรรรายได้ และบริหารสินทรัพย์ทางการเงินด้วยการจัดสรรเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนประเภทต่างๆ อย่างเป็นขั้นๆ ตั้งแต่ขั้นของการ “พออยู่พอกิน” และพึ่งพาตนเอง ไปจนถึงขั้น “พอมีอันจะกิน” และ “ไม่ต้องพึ่งพาแหล่งรายได้เดียว” เช่นเดียวกับแนวคิดของ “ทฤษฎีใหม่”
การจัดสรรสินทรัพย์การเงินขั้นพื้นฐานจะเริ่มตั้งแต่การจัดสรรเงินรายได้ออกมาเป็นส่วนๆ คือ ส่วนของเงินออม ส่วนของเงินค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ และสภาพคล่อง รวมไปถึงการบริหารหนี้สินต่างๆ เช่น
- เงินออม เพื่อนำไปลงทุน
- เงินรายจ่ายประจำวัน สำหรับการดำรงชีวิตทั่วไป
- เงินสำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะต่างๆ สำหรับเป็น ค่ารักษาพยาบาล ค่าการศึกษาพัฒนาตน และอื่นๆ
- เงินใช้จ่ายเพื่อความสุข เพื่อเป็นรางวัลชีวิต หรือ เพื่อการสันทนาการ
ช่วงเริ่มออมเปรียบเหมือนช่วงที่เริ่มขุดสระที่ต้องอดทนรอให้ฝนที่ตกช่วยเติมน้ำเข้าไปในสระจนพอใช้ ต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน และมีวินัยทางการเงิน รายได้ เงินสำรองฉุกเฉิน และเงินที่ออมไว้ เปรียบเหมือน น้ำในสระที่เก็บสำรองเพื่อให้พอใช้ตลอดปี ในฤดูฝนน้ำฝนที่ไหลลงสระก็คือเงินออมประจำที่ออมจากรายได้ของเราที่เติมเข้าในงบดุลของเรา เมื่อมีน้ำในสระจนเพียงพอ ก็นำไปสู่การมีรายได้จากการสร้างผลตอบแทนจากเงินออมที่เรานำไปลงทุนให้ออกดอกออกผล เหมือนกับการนำน้ำในสระไปใช้ในที่ดินเพื่อการเกษตรที่เราจัดสรรเอาไว้ ในช่วงวิกฤติต่างๆ เงินสำรองฉุกเฉินก็จะช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นวิกฤติไปได้ เช่นเดียวกับน้ำในสระที่เอาไว้ใช้ในฤดูแล้งนั่นเอง
เงินในส่วนของสินทรัพย์ลงทุนที่เราแยกตามเป้าหมายด้านต่างๆ และจัดสรรพอร์ตการลงทุนตามสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อให้เงินเหล่านี้งอกเงยเพิ่มพูนตามเป้าหมายที่เราวางไว้ และยังช่วยให้เรามีเงินเพิ่มนอกจากรายได้ประจำด้วย เช่นเดียวกับที่ดินของเกษตรกรที่แบ่งออกมาเป็นพื้นที่ปลูกข้าวและพืชผักผลไม้ เพื่อให้เราก้าวผ่านขั้นของการพออยู่พอกิน ไปถึงขั้นพอมีอันจะกิน และจนถึงขั้นของการสร้างรายได้จากสินทรัพย์การเงินที่เพียงพอต่ออิสรภาพทางการเงินของเรา
ส่วนของสินทรัพย์ส่วนตัวนั้นจะเห็นได้ว่ามีการจัดสรรตามความจำเป็นเหมาะสม ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป เพื่อนำไปใช้เป็นสินทรัพย์ลงทุนที่สร้างความมั่งคั่งให้กับเราในระยะยาว
หลายปีที่ผ่านมาคนไทยต้องประสบทั้งปัญหาภัยแล้ง ภัยจากโรคระบาด รวมถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นรุนแรงอย่างไม่คาดฝัน ในสภาวะแบบนี้หากเราได้มีการจัดการที่ดินหรือสินทรัพย์ไว้บ้าง ก็น่าจะช่วยให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้อย่างไม่ลำบากนัก