อย่าหวัง! มาตรการกระตุ้นศก.จีน ไม่ช่วยศก.โลก
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่า 18% ของ GDP โลก หลายคนคงคาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จีนจะทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เหมือนตอนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ที่รัฐบาลจีนออกมาตรการช่วยเหลือทางการคลัง 4 ล้านล้านหยวน ($586,000 ล้านดอลลาร์) พร้อมทั้งมาตรการปล่อยกู้เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งคู่ค้าสำคัญอย่าง ออสเตรเลียและบราซิลได้รับอานิสงส์ไปด้วย รวมถึงปี 2016 ที่รัฐบาลจีนก็ใช้นโยบายการคลังในการฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ
แต่วิกฤติครั้งนี้จีนเดินแก้เกมต่างไปจากเดิม แม้ว่าทางการจีนสัญญาว่าจะมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและลดภาษีรวมกันประมาณ 4.5 ล้านล้านหยวน แต่ก็ยังลังเลที่จะให้รัฐบาลท้องถิ่นก่อหนี้นอกงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ตัวเงินที่ใช้ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่เคยใช้เมื่อปี 2008 เนื่องจากกังวลปัญหาหนี้สินและการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสำคัญที่ต่างจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปี 2008 คือปัจจุบันจีนต้องเผชิญหน้ากับการระบาดของ COVID-19 พร้อมใช้มาตรการปลอดผู้ติดเชื้อใหม่ (Covid-Zero) ทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นไปได้ยาก และอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามเศรษฐกิจโลก หลังธนาคารกลางต่างๆ ทยอยขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
Helen Qiao, Chief Economist จาก Greater China at Bank of America ระบุว่า รัฐบาลจีนกำลังทำสิ่งที่ “เป็นไปไม่ได้” ด้วยการตั้งเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2022 ไว้ที่ 5.5% พร้อมกับใช้มาตราการปลอดโควิด และตั้งเป้าลดปริมาณหนี้
โดยในช่วงก่อนหน้านี้ผู้กำหนดนโยบายของจีน ได้ทำการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง กระตุ้นภาคอสังหาฯ และสนับสนุนการลงทุนจำนวนมาก ขณะที่ปัจจุบันกลับดำเนินนโยบายเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับในอดีต ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น พร้อมกับธนาคารกลางสหรัฐที่กำลังเร่งขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งล้วนส่งผลให้ผลของนโยบายที่มีต่อเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพลดลง
ขณะที่บริษัทเอกชนต่างออกมาพูดถึงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์เมือง โดยบริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจในประเทศจีนประเมินว่ากำไรใน Q1/2022 จะลดลงแตะ 4.71 แสนล้านหยวน ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ Q1/2020 ขณะที่แบรนด์ระดับโลกอย่าง Gucci ก็ประเมินการทำธุรกิจในเซี่ยงไฮ้ที่กำลังถูกล็อกดาวน์ว่าเป็น “ความยากลำบากที่สุด” เช่นเดียวกับ Starbucks ที่รายงานยอดขายในจีน (ตลาดที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2) ลดลง 23% เช่นเดียวกับ KFC ที่ยอดขายลดลง 9%
Craig Botham, Chief China Economist จาก Pantheon Macroeconomics เชื่อว่าด้วยหลายเหตุผลทำให้ “เศรษฐกิจจีนไม่เอื้อต่อการเติบโต เหมือนช่วงที่ผ่านมา” เช่นเดียวกับ Frederic Neumann, Co-Head of Asian Economic Research จาก HSBC Holdings ที่เปรียบเทียบว่าเศรษฐกิจจีนเหมือนกับ “การขับรถที่เหยียบคันเร่ง แต่เบรกมือก็ถูกดึงเอาไว้…มีการกระทำหลายอย่าง พร้อมๆ กับแรงฉุดเล็กๆ”