×

Wealth Me Up ให้เงินทำงาน

ESG การลงทุนในโลกยุคใหม่

3,553

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

ปัจจุบันมีแนวคิดเรื่องการลงทุนใหม่ที่ผสมผสานระหว่าง Conventional Investment และ Philanthropy Investment โดยมุ่งเน้นการใส่ใจทั้งผลตอบแทนทางการเงินควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG นั่นคือ การลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investing)

 

โดยก่อนที่จะไปทำความรู้จักว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนนั้นมีลักษณะการลงทุนแบบใดบ้าง เรามาทำความรู้จักกับคำว่า ESG กันก่อน ซึ่งปัจจุบันบริษัทหลายแห่งนำไปปรับใช้ในกระบวนการดำเนินงานของบริษัท

 

E – Environmental มุ่งเน้นการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินการขึ้นอยู่กับบริบทการดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัท เช่น การบริหารจัดการพลังงาน บริหารจัดการน้ำ และอาจรวมถึงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบจากการทำงานของบริษัท

 

S – Social มุ่งเน้นการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน มีการดูแลสวัสดิภาพของพนักงาน รวมทั้งการประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า คู่ค้า ชุมชน และสังคม

 

G – Governance เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างคุณค่าให้กิจการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างมีบรรษัทภิบาล และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 

 

บริษัทที่ทำธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG มักมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าบริษัทที่ไม่คำนึงในเรื่องดังกล่าว เช่น ความเสี่ยงที่จะกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัท และความเสี่ยงที่มีผลต่อการทำธุรกิจกับคู่ค้าและลูกค้า ซึ่งมีผลต่อรายได้ของบริษัท เป็นต้น

 

มาดูลักษณะการลงทุนอย่างยั่งยืนกันบ้าง การลงทุนอย่างยั่งยืนนั้นมีหลายรูปแบบด้วยกัน โดยมีสิ่งสำคัญที่เหมือนกันคือ การมุ่งเน้นที่ผลตอบแทนทางการเงินควบคู่ไปกับการช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีด้วยกัน 5 รูปแบบ ดังนี้

 

Negative/Exclusionary

 

คัดกรองและเลือกที่จะไม่ลงทุนในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่สร้างผลกระทบเชิงลบในด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม เช่น ไม่ลงทุนในธุรกิจค้าอาวุธ ยาสูบ แอลกอฮอล์ คาสิโน เป็นต้น

 

ESG Integration

 

พิจารณาปัจจัย ESG ร่วมกับปัจจัยอื่นในการตัดสินใจลงทุน เช่น เลือกลงทุนโดยใช้ปัจจัยด้าน ESG เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจลงทุนควบคู่กับการดูผลประกอบการทางการเงิน

 

Best-In-Class Screening

 

คัดกรองและเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG โดดเด่น เช่น ลงทุนในธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG ดี โดยอาจได้รับการจัดอันดับหรือคัดเลือกให้อยู่ในดัชนีหรือรายชื่อหุ้นยั่งยืน

 

Thematic Investment

 

ลงทุนในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เกาะธีมความยั่งยืน เช่น ลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น

 

Impact Investment

 

ลงทุนในธุรกิจที่สร้างสรรค์ให้สังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เช่น ลงทุนในธุรกิจ Startup ที่พัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้ง หรือลงทุนในธุรกิจ SME ที่สนับสนุนการสร้างอาชีพให้คนในชุมชนห่างไกล

 

การลงทุนอย่างยั่งยืน นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวแล้ว ยังมีข้อดีคือ หากลงทุนในบริษัทที่มีการจัดการเรื่อง ESG ได้ดี จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับนักลงทุนได้ ถัดมาคือ ได้ร่วมลงทุนไปกับบริษัทที่อาจจะมีแนวโน้มเติบโตไปกับเทรนด์ในอนาคต เช่น บริษัทที่อยู่ในกลุ่มพลังงานสะอาด กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ล้วนเป็นกลุ่มที่อยู่ธีม ESG และสุดท้ายคือ ได้รับความสุขใจจากการมีส่วนร่วมที่ช่วยให้โลกของเราดีขึ้นอีกด้วย ดังนั้น ปัจจัย ESG จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี สำหรับนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats