ปูนิสัย ‘เก็บออม’ ตามช่วงวัย
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติและธนาคารแห่งประเทศไทยปี 63 พบว่า มีคนไทยเพียง 43.5% ที่เข้าใจการ ”จัดสรรเงินก่อนใช้” ได้ถูกต้อง ซึ่งคนเป็นพ่อแม่อย่างน้อยคงอยากให้ลูกที่โตขึ้นเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความเข้าใจเรื่องการจัดสรรเงินอย่างถูกต้อง รวมถึงมีนิสัยเรื่องเงินที่ดีด้วย โดยพ่อแม่สามารถปลูกฝังให้กับลูกในช่วงวัยต่างๆ ได้ ดังนี้
ลูกวัยประถม
ทุกครั้งที่ลูกแบ่งค่าขนมมาเป็นเงินเก็บ พ่อแม่ลองช่วยเก็บสมทบเพิ่มให้อีก 2 เท่า ซึ่งถือเป็นรางวัลก้อนโตสำหรับลูก (แต่เป็นเงินที่ไม่มากสำหรับพ่อแม่) ให้มีแรงจูงใจเก็บเงินต่อไป และเพื่อให้ลูกรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของเงินเก็บนั้นรวมถึงไม่เผลอนำออกไปใช้ได้ง่ายๆ ลองพาลูก ไปเปิดบัญชีออมทรัพย์โดยมีชื่อลูกเป็นเจ้าของบัญชีเองเพื่อไว้เก็บเงินก็ได้ (บัญชีเงินฝากสำหรับบุตร ลูกมักต้องอายุ 7 ขึ้นไป)
ลูกวัยมัธยม
ที่เริ่มจัดการเงินด้วยตนเองได้แล้ว
ลองชวนลูกตั้งเป้าเก็บเงินให้ได้ทุกเดือน ด้วยเงินฝากประจำปลอดภาษีชื่อตนเอง ที่หากเก็บเงินได้ทุกเดือน เป็นเวลา 24 เดือนขึ้นไป ดอกเบี้ยที่ได้รับจะสูงกว่าออมทรัพย์ทั่วไป แล้วถ้าลูกฝากได้จนครบ 24 เดือนแล้ว การเก็บเงินรอบต่อไป พ่อแม่อาจเปิดเพิ่มอีก 1 บัญชีเป็นชื่อพ่อ/แม่ (1 คน รวมทุกธนาคารเปิดได้ 1 บัญชีเท่านั้น) เพื่อช่วยลูกเก็บสมทบอีก 1-2 เท่า ทุกเดือนก็ได้
สอนให้คิดก่อนจ่ายทุกครั้ง ว่าสิ่งที่กำลังจะซื้อเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ หรือแค่อยากได้ตามกระแส และเมื่อตัดสินใจซื้อจริงๆ แล้ว ลองชวนลูกเปรียบเทียบของที่ใกล้เคียงกันกับราคาที่ต้องจ่าย รวมถึงตอนจ่ายเงิน มีทางเลือกการจ่ายแบบไหนที่คุ้มค่าหรือประหยัดเงินที่สุด เช่น มีส่วนลด เงินคืน เป็นต้น
ลูกวัยมหาวิทยาลัย
ที่สามารถตัดสินใจหลายอย่างได้ด้วยตนเอง
สอนให้รู้จักการลงทุน (สำหรับลูกอายุ 20 ปีขึ้นไป) โดยนำเงินบางส่วนที่เก็บมาไปลงทุนในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น หุ้น หรือกองทุนรวม ซึ่งใช้เงินเริ่มต้นไม่มาก ที่หลายครั้งผลลัพธ์อาจไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทาน ความเข้าใจความเสี่ยงจากสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตนเองในโลกการลงทุนและเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญ ก่อนที่ต้องออกไปทำงานมีรายได้และเงินเก็บเงินลงทุนของตนเองมากขึ้น
สอนให้รู้จักการตั้งเป้าหมาย เพื่อให้การดำเนินชีวิตได้เริ่มมีการวางแผน โดยอาจเริ่มต้นจากเป้าหมายเล็กๆ อย่างการมีเงินแสนก่อนเรียนจบ (หรืออาจเงินล้านสำหรับบางคน) และลองลงมือเก็บหรือลงทุนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ก่อนที่จะก้าวสู่วัยทำงานซึ่งอาจมีเป้าหมายที่ใหญ่ ยาก และสำคัญยิ่งขึ้น เช่น การมีบ้าน/รถยนต์เป็นของตนเอง เก็บเงินท่องเที่ยว หรือแม้แต่การเก็บเงินเพื่อสร้างครอบครัวด้วยมือตนเอง เป็นต้น
นิสัยการใช้จ่ายและเก็บออม ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตคนส่วนใหญ่ที่ต้องเติบโตด้วยน้ำพักน้ำแรงตนเอง การปลูกฝังนิสัยเรื่องเงินที่ดี จะช่วยให้อนาคตลูกมีความมั่นคงยิ่งขึ้น แม้ในวันที่เราไม่มีโอกาสได้อยู่สอนหรือให้คำแนะนำเขาแล้วก็ตาม