3 เรื่องเงิน ต้องวางแผน ก่อนแต่งงาน
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
แต่งงานทั้งที…เรื่องเงินต้องพร้อม!
ชวนมาดู 3 เรื่องเงินที่ต้องเช็ก–วางแผน ก่อนแต่งงานกัน
เคลียร์หนี้สินให้หมด
โดยเฉพาะหากเป็นหนี้บัตรเครดิตและหนี้นอกระบบ ซึ่งมีภาระอัตราดอกเบี้ยที่สูง ควรมีการเปิดอกพูดคุยกันถึงรายการผ่อนชำระแต่ละเดือน อัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย จำนวนงวดที่เหลือ เพื่อจะได้ทราบสภาพคล่องทางการเงินของแต่ละคน และไม่เกิดปัญหาในภายหลังตามมา
ตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้าน
ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าผ่อนบ้านผ่อนรถ ค่าอาหาร ฯลฯ ใครเป็นผู้จ่าย บางบ้านอาจใช้การเก็บเงินร่วมกันเป็นกองกลางไว้ใช้จ่ายส่วนนี้ หรือบางบ้านอาจแบ่งจ่ายตามรายได้ เช่น ใครมีรายได้มากจ่ายมาก ใครมีรายได้น้อยจ่ายน้อยและไปรับผิดชอบด้านอื่นทดแทน ซึ่งเหล่านี้ไม่มีผิดถูก ขึ้นกับการตกลงกันของแต่ละบ้าน
วางแผนเก็บเงิน–ลงทุนร่วมกัน
หลังแต่งงานหลายคู่มีแพลนซื้อบ้านซื้อรถ มีลูก เตรียมค่าใช้จ่ายการศึกษาลูก อยากมีเงินไว้ใช้ยามเกษียณ ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้คุณอาจแพลนเก็บเงินร่วมกัน โดยนำเงินนั้นไปลงทุนเพื่อต่อยอดความมั่งคั่งตามวัตถุประสงค์การลงทุน เช่น อาจลงทุนในกองทุนรวมผสมที่ให้ผลตอบแทนประมาณปีละ 5%, อาจลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีในลักษณะ DCA, อาจซื้อคอนโดและปล่อยให้เช่าเก็บค่าเช่าเป็นรายได้ เป็นต้น และอีกสิ่งหนึ่งที่คุณไม่ควรมองข้ามนอกจากการลงทุน นั่นคือ การป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินด้วยการทำประกันภัยนั่นเอง
เมื่อเช็กและวางแผนความพร้อมทางการเงินทั้ง 3 ข้อแล้ว เราก็มาเริ่มวางแผนค่าใช้จ่ายในการแต่งงานกันต่อเลย โดยเริ่มจาก
- ค่าสินสอด/ ของหมั้น/ แหวนหมั้น ควรจะมีการพูดคุยตกลงกันกับทางผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย
- ค่าสถานที่จัดงาน เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ซึ่งค่าใช้จ่ายสถานที่จัดงานนี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ในการจัดงานก้อนหนึ่ง
- ค่าชุดแต่งงาน/ ค่าแต่งหน้าทำผม
- ค่าช่างภาพถ่ายรูป/ ถ่ายวิดีโอ/ พรีเวดดิ้ง
- ค่าการ์ด/ ของชำร่วย/ พิธีขันหมาก/ พิธียกน้ำชา
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนเกิน
ลองมาดูตัวอย่างการคำนวณการวางแผนเก็บเงินจัดงานแต่งงานกัน
ตัวอย่าง: วางแผนแต่งงานในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยใช้งบประมาณจัดงาน 500,000 บาท
หากนำเงินไปลงทุนที่ผลตอบแทน 5% ต่อปี เมื่อคำนวณย้อนกลับเป็นเงิน ณ เวลาปัจจุบันที่ต้องเก็บในแต่ละปี ตกปีละ 158,604.28 บาท เก็บเป็นระยะเวลา 3 ปี หากคำนวณเป็นรายเดือนจะอยู่ที่เดือนละ 13,217.02 บาท (158,604.28/12) เมื่อสิ้นปีที่ 3 ก็จะได้เงินแต่งงานตามเป้าหมายที่ 500,000 บาท
การนำเงินเก็บที่มีอยู่ออกมาเป็นเงินตั้งต้นและนำไปลงทุนเพื่อแต่งงาน ก็เป็นอีกตัวช่วยที่ทำให้การเก็บเงินต่อเดือนของคุณลดลง หรืออาจเลือกลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า 5% แต่ก็ควรอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้ หรือคุณอาจจะขยับเวลาแต่งงานออกไปเพื่อเก็บเงินก็ย่อมทำได้