สำรวจดอกเบี้ยเงินฝากประจำ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
นอกจากการฝากเงินรูปแบบบัญชีออมทรัพย์แล้ว บัญชีเงินฝากประจำก็ได้รับความนิยมพอสมควร ซึ่งบัญชีประเภทนี้จะมีกำหนดระยะเวลาการฝากถอนที่แน่นอน เช่น 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือน โดยธนาคารจะสามารถนำเงินส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์หรือลงทุนได้ตามระยะเวลาการรับฝาก โดยไม่ต้องสำรองไว้เหมือนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เนื่องจากหากผู้ฝากต้องการได้รับดอกเบี้ยตามเงื่อนไขก็จะต้องไม่ถอนเงินออกจากบัญชีนี้ก่อนกำหนด คือ จะไม่สามารถใช้เงินจำนวนที่ฝากประจำอยู่ในระยะเวลาหนึ่งได้
โดยบัญชีเงินฝากประจำเหมาะกับผู้ที่มีเงินก้อน ไม่มีแผนใช้เงินหรือต้องการออมเงินระยะยาว และคาดหวังอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องคงเงินในบัญชีจนครบกำหนด แต่ก็สามารถถอนก่อนกำหนดได้เพียงแต่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่ธนาคารระบุไว้
อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจนำเงินไปฝากออมไว้กับธนาคาร ควรพิจารณาปัจจัยสำคัญ ดังนี้
อัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนที่แท้จริง
พิจารณาและเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนที่จะได้รับ ซึ่งธนาคารจะเปิดเผยเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยให้ทราบ เช่น วิธีการคำนวณดอกเบี้ย ความถี่ในการจ่าย จำนวนวันต่อปีที่ใช้ในการคิดดอกเบี้ย ซึ่งต้องปิดประกาศไว้ทุกสาขาและเผยแพร่ในเว็บไซต์ และอย่าลืมสังเกตวันที่อัตราดอกเบี้ยมีผลบังคับใช้ด้วย
หักภาษี ณ ที่จ่าย
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลตอบแทนที่แท้จริงลดลงไป เช่น บัญชีเงินฝากประจำ เมื่อได้รับดอกเบี้ยก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยรับ
อัตราเงินเฟ้อ
เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อค่าของเงิน เช่น อดีตซื้อก๋วยเตี๋ยวถ้วยละ 20 บาท แต่ปัจจุบันราคาเพิ่มขึ้นเป็น 50 บาท ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือเงินเฟ้อทำให้เงินมีมูลค่าหรืออำนาจซื้อลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจึงยังไม่ใช่ผลตอบแทนที่แท้จริง ต้องมีการหักผลกระทบจากเงินเฟ้อออกก่อน เช่น นำเงินไปฝากประจำที่มีอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี หากอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 1% ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเท่ากับ 1% และในบางครั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอาจน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ อาจกล่าวได้ว่าเงินที่งอกเงยขึ้นไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทางออก คือ แบ่งเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า
เงื่อนไขอื่นๆ
เมื่อฝากประจำแล้วและถอนก่อนครบกำหนดก็อาจได้รับดอกเบี้ยน้อยกว่าอัตราที่ธนาคารประกาศไว้ หรือการนับวันครบกำหนดระยะเวลาการฝากประจำ โดยทั่วไปจะตรงกับวันที่เดียวกันแต่เป็นเดือนถัดๆ ไป เช่น ถ้าเริ่มฝากประจำ 3 เดือนวันที่ 5 มกราคม ก็จะครบกำหนดวันที่ 5 เมษายน หรือธนาคารบางแห่งจะกำหนดให้ผู้ฝากเงินในบัญชีเงินฝากประจำเปิดบัญชีออมทรัพย์ด้วย เพื่อที่ธนาคารจะโอนดอกเบี้ยเข้าไปในบัญชีออมทรัพย์อัตโนมัติเมื่อครบกำหนดการจ่ายดอกเบี้ย หรืออาจโอนเงินต้นเข้าไปด้วยเมื่อครบกำหนดระยะเวลา
ข้อดีของการฝากประจำ
- เหมาะกับผู้ที่ต้องการมีเงินเก็บและไม่คาดหวังผลตอบแทนจำนวนมาก โดยการฝากประจำแบบฝากทุกเดือน จะช่วยสร้างวินัยทางการเงินได้ดี
- ความเสี่ยงต่ำ
- เพิ่มเครดิตทางการเงิน ทำให้การขอสินเชื่อได้รับการอนุมัติง่ายขึ้น เป็นแหล่งเงินทุนสำรอง
ข้อเสียของการฝากประจำ
- เมื่อได้รับดอกเบี้ยก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยรับ
- ถอนก่อนกำหนดไม่ได้ดอกเบี้ย หรือได้ดอกเบี้ยต่ำมาก จำนวนเงินฝากเริ่มต้นค่อนข้างสูง ผลตอบแทนจึงจะคุ้มค่า