3 เรื่องเงินต้องรู้ ของคนวัย 3O
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
เมื่ออายุเข้าเลข 3 แสดงว่าเป็นวัยที่ทำงานมาได้ระยะเวลาหนึ่ง หรือประมาณ 5 ปีขึ้นไปแล้ว เรื่องเงินจึงควรมีความแข็งแรงมากขึ้น เพื่อรองรับการสร้างอนาคตให้กับชีวิต ซึ่งสิ่งใดที่คนวัย 30 ต้องรู้บ้าง บทความนี้มีคำตอบมาฝากกัน
แยกบัญชี ‘เงินเก็บ’ vs ‘เงินเดือน‘
หลายคนชอบใช้บัญชีเงินฝากเดียว ทั้งรับเงินเดือน ใช้จ่าย ตัดบัตรเครดิต ตัดค่าสาธารณูปโภค และใช้เก็บเงินที่เหลือแต่ละเดือนไว้ในบัญชีเดียวกัน แต่ปัญหาที่ตามมา คือ เจ้าของบัญชีไม่มีทางรู้เลยว่า เงินเดือนที่เข้าเมื่อปลายเดือนที่แล้ว หลังจากใช้จ่ายมาสักพักตอนนี้เหลือเท่าไร เงินที่เหลือต้องถูกตัดไปจ่ายเป็นค่าบัตรเครดิตเท่าไร ทำให้การมีเงินเก็บเป็นเรื่องยาก
แต่หากลองเปิดเพิ่มอีกอย่างน้อย 1 บัญชี และตั้งโอนเงินอัตโนมัติจากบัญชีเงินเดือนส่วนหนึ่งมาเก็บไว้ในบัญชีที่เปิดเพิ่มนี้ทุกเดือน และถ้าก่อนวันเงินเดือนออก หากยังมีเงินเหลือในบัญชีเงินเดือน ก็โอนส่วนที่เหลือนั้นมาเก็บเพิ่ม การมีเงินเก็บก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย
ส่วนบัญชีเงินฝากที่เปิดเพิ่ม อาจเป็นเงินฝาก e-Savings ที่นอกจากสะดวกสามารถเปิดได้ทันทีบน Mobile Banking แล้ว ยังให้ดอกเบี้ยสูง 5-6 เท่า ของเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปด้วย
เก็บเงินให้ได้ 40% ของรายได้ ก่อนคิดเป็นหนี้
กูรูหรือบทความการเงินหลายที่มักแนะนำเสมอว่าเราควรเก็บเงินให้ได้อย่างน้อย 10%-20% ของรายได้ทุกเดือน เพื่อเป็นเงินเก็บและเงินลงทุนในระยะยาว แต่สำหรับคนวัย 30 ที่ส่วนใหญ่น่าจะเริ่มคิดเรื่องการซื้อบ้านของตนเอง ด้วยการขอสินเชื่อ การเก็บเงินให้ได้อย่างน้อย 40% ของรายได้ ก่อนที่จะเริ่มก่อหนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสินเชื่อบ้านส่วนใหญ่มักให้ผู้กู้ผ่อนได้ 40%-50% ของรายได้
ดังนั้นหากตอนนี้การเก็บเงินให้ได้ 40% ของรายได้ ยังรู้สึกเป็นเรื่องยาก หรือยังไม่สามารถเก็บได้ การสร้างภาระผ่อนหนี้ 40%-50% ของรายได้ อาจเป็นเรื่องที่ยังไม่ควรทำ ณ ตอนนี้
เริ่มต้นลงทุน ก่อนสายเกินไป
การลงทุนมีความเสี่ยงเป็นประโยคที่ไม่เคยผิด แต่การเลือกไม่ลงทุนเพราะกลัวความเสี่ยงอาจเป็นความผิดพลาดได้ เพราะจะพลาดโอกาสทำให้เงินเก็บที่มีอยู่ได้งอกเงย เช่น หากลงทุนในทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี ซึ่งอาจเป็นกองทุนผสมที่มีความเสี่ยงปานกลาง เงินที่เริ่มต้นลงทุน ณ วันนี้ จะโตขึ้นกลายเป็น 1.6 เท่า 2.7 เท่า และ 4.3 เท่า ในอีก 10 ปี 20 ปี และ 30 ปีตามลำดับ
อีกทั้งเงินทุนที่ต้องมีในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือ เงินเพื่อใช้จ่ายยามเกษียณ ในวันที่เราไม่มีรายได้จากการทำงานแล้ว ซึ่งเป็นเงินก้อนโตหลายล้านบาท ส่วนจะกี่ล้านนั้นก็ขึ้นกับเป้าหมายของแต่ละคน ซึ่งการเน้นแต่เพียงเก็บเงินโดยไม่ลงทุนให้งอกเงย เมื่อผ่านไป 30 ปี เงินที่เก็บคงไม่เพียงพอให้ใช้ยามเกษียณ หรือแม้เพียงพอก็ต้องออกแรงเก็บเงินมากกว่าคนที่ลงทุนถึง 3.3 เท่า เพื่อให้ได้จำนวนเงินที่เท่ากัน
3 เรื่องเงินต้องรู้ ของคนวัย 30 เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ที่คนวัย 30 ควรให้ความสำคัญ เพื่อให้สุขภาพและสถานะการเงินมีความเข้มแข็ง ตลอดช่วงวัยทำงานอีก 30 ปี และอีก 25 ปี ตลอดอายุขัยหลังเกษียณ จนถึงอายุ 85 ปี