1O กองทุนรวมหุ้นญี่ปุ่น ผลตอบแทนเด่น
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
นับตั้งแต่อดีตนายกฯ ญี่ปุ่น ชินโสะ อาเบะ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 เมื่อปลายปี 2555 ก็ได้ใช้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า อาเบะโนมิกส์ (Abenomics) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่อยู่ในภาวะชะงักงันต่อเนื่องมานานกว่ายี่สิบปี ผลปรากฏว่าได้ผลดี ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง รวมถึงตลาดหุ้นก็กลับมาคึกคักจนถึงปัจจุบัน
วันที่ 4 มิถุนายนปี 2555 ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่น TOPIX Index ปรับลดลงจุดต่ำสุดที่ระดับ 695.51 จุด ขณะที่ดัชนี Nikkei 225 ปรับลดลงจุดต่ำสุดที่ระดับ 8,440.25 จุด เมื่อวันที่ 27 เดือนพฤษภาคมปี 2555 จากนั้นดัชนีหุ้นทั้งสองก็ปรับขึ้นมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยวันที่ 19 เดือนพฤษภาคมปี 2566 ปิดที่ระดับ 2,161.69 จุด และ 30,808.35 จุด ตามลำดับ
การลงทุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นคึกคักและได้รับความน่าสนใจ สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนทั่วโลกมั่นใจต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นระยะยาว เช่น Warren Buffett ที่ออกมาประกาศกลางปี 2563 ว่าได้เข้าลงทุนในบริษัทญี่ปุ่น 5 แห่ง ซึ่งทั้งหมดก็จดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น และเมื่อกลางเดือนเมษายนปี 2566 เขาก็ประกาศว่าได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น พร้อมส่งสัญญาณว่ายังมีความตั้งใจเพิ่มเงินลงทุนในญี่ปุ่นในอนาคตด้วย
ความเคลื่อนไหวของ Warren Buffett ส่งผลให้กระแสการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากนักลงทุนทั่วโลก โดยวันที่ 10–14 เมษายนปี 2566 นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นญี่ปุ่นประมาณ 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจัยสำคัญนอกจากมุมมองเชิงบวกของ Warren Buffett ที่มีต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่น นักลงทุนทั่วโลกมองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มมีเสถียรภาพที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้นักวิเคราะห์ให้คำแนะนำว่า “เพิ่มน้ำหนักการลงทุน” ในตลาดหุ้นญี่ปุ่น
ดังนั้น หากสนใจลงทุนตลาดหุ้นญี่ปุ่น นอกจากจะเข้าลงทุนหุ้นญี่ปุ่นโดยตรงแล้ว การลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายไปลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็เป็นอีกทางเลือก เพราะใช้เงินลงทุนไม่มาก มีผู้เชี่ยวชาญการลงทุนคอยดูแลเงินลงทุนตลอดเวลา
สำหรับกองทุนรวมไทยที่มีนโยบายลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมี 2 ประเภท คือ กองทุนแบบ Passive ด้วยการลงทุนในกองทุนที่อิงกับดัชนีหุ้น TOPIX กับ Nikkei 225 ข้อดี คือ มีค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนต่ำ กระจายการลงทุนไปยังหุ้นที่อิงกับดัชนีของตลาดที่ดี จึงมีความเสี่ยงต่ำ
อีกประเภทหนึ่ง คือ กองทุนแบบ Active มีนโยบายลงทุนแบบเชิงรุก ผู้จัดการกองทุนก็จะหาจังหวะเหมาะสมในการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ดีกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนแบบ Passive แต่ก็มีโอกาสได้กำไรสูงกว่า ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนควรศึกษาข้อมูล นโยบายการลงทุนแต่ละกองทุนให้ถี่ถ้วน เพื่อให้สอดคล้องกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง