1O กองทุน RMF ผลตอบแทน 1O ปีดีที่สุด
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
หากถามว่า “ควรซื้อกองทุน RMF ช่วงนี้หรือไม่” หลายคนอาจขอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนกว่านี้แล้วค่อยตัดสินใจ หรือขอรอซื้อปีหน้า เพราะกังวลว่าเมื่อซื้อไปแล้วตลาดปรับลดลงและทำให้ขาดทุน อย่างไรก็ตาม กองทุน RMF ถูกออกแบบเพื่อลงทุนระยะยาว ดังนั้น เมื่อเห็นตลาดปรับลดลง น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าซื้อ
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (กองทุน RMF) หลัก ๆ มีนโยบายการลงทุน 4 ประเภท
- นโยบายลงทุนหุ้น (เช่น หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ)
- นโยบายลงทุนตราสารหนี้ (เช่น ตราสารหนี้ไทย ตราสารหนี้ต่างประเทศ)
- นโยบายลงทุนแบบผสม (ผสมระหว่างหุ้นกับตราสารหนี้)
- นโยบายลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก (เช่น ทองคำ)
ถ้าสนใจซื้อกองทุน RMF จุดที่เหมาะสม คือ ซื้อเมื่อพร้อมและจังหวะตลาดปรับลดลง และใช้วิธีทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ (DCA) เพราะการลงทุนแบบ DCA ด้วยจำนวนเงินที่เท่ากัน (เช่น ทุกเดือน) และทำต่อเนื่องจะทำให้ได้ถัวเฉลี่ยต้นทุนไปเรื่อย ๆ ซึ่งเหมาะกับผู้ที่เริ่มต้นวัยทำงาน มีเงินออมจำกัด หรือยังไม่กล้าใส่เงินก้อนใหญ่เข้าลงทุน อีกทั้ง ผู้ที่เสียภาษีจะรู้ว่าในแต่ละปีจะต้องจ่ายภาษีจำนวนเท่าใด จึงรู้ว่าควรแบ่งเงินมาซื้อ RMF จำนวนเท่าใดด้วย ที่น่าสนใจไปกว่านั้น กองทุน RMF ยังถูกออกแบบมาเพื่อเป็นช่องทางสะสมเงินเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณอีกด้วย
สำหรับการลงทุนกองทุน RMF ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แนะนำว่าสามารถใช้อายุของตัวเอง เทียบกับระยะเวลาในการถือครองกองทุน เพื่อเป็นแนวคิดในการลงทุน
วัยเริ่มทำงาน เนื่องจากกองทุน RMF สามารถขายคืนได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น ถ้ายังอายุไม่มาก อาจเลือกซื้อกองทุน SSF ก่อน แต่หากฐานภาษีสูงและซื้อกองทุน SSF จนเต็มสิทธิแล้ว ควรซื้อกองทุน RMF เพื่อลดหย่อนภาษีด้วย ถือเป็นทางเลือกที่ดีในการเริ่มวางแผนเกษียณตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะข้อดี คือ การถือครองในระยะยาว สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ เพราะระยะเวลาถือครองที่นานขึ้น เป็นการลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง
อายุ 46 ปี ขึ้นไป เป็นช่วงอายุที่การซื้อกองทุน RMF ใช้เวลาถือครองตามเกณฑ์ลดหย่อนภาษีน้อยกว่าการซื้อกองทุน SSF หลายคนจึงหันมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีผ่านกองทุน RMF แทนจนเต็มสิทธิ
วัยใกล้เกษียณ ถ้ามีแนวคิดว่าเมื่อเกษียณไปแล้วต้องนำเงินในกองทุน RMF ออกมาใช้ ควรจะซื้อกองทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำ (เช่น ตราสารหนี้) และควรดูผลประกอบการของกองทุนที่ถือครองอยู่ เช่น ถ้ามีกองทุน ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอยู่เป็นจำนวนมาก ควรเริ่มเปลี่ยนมายังกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อเน้นการรักษาเงินต้น