จัดพอร์ตลงทุน สำหรับวัยเกษียณ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสำรวจจำนวนผู้สูงอายุคนไทย พบว่า ณ สิ้นปี 2564 กลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีสัดส่วนสูงถึง 20% ของประชากรทั้งหมด และที่น่าสนใจ คือ ประชากรสูงอายุดังกล่าวมีแหล่งรายได้หลักมาจากการทำงาน 32% มาจากบุตรหลาน 32% เบี้ยยังชีพข้าราชการ 19% บำเหน็จ/บำนาญ 8% ขณะที่มาจากการออมเงินเพียง 2%
สะท้อนว่าการวางแผนการเงินเพื่อเก็บไว้ใช้ยามเกษียณอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในระยะยาว โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพหรือรักษาพยาบาล ที่มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับรายได้ที่ปรับตัวลง
โดยคำถามแรก สำหรับผู้ที่เริ่มต้นวางแผน คือ จะนำเงินที่ไหนมาเก็บออม และจะเริ่มลงทุนเมื่อไหร่ดี แม้ว่ายังไม่สามารถออมเงินต่อเดือนได้ตามที่ปรากฎในโปรแกรมคำนวณ แต่ถ้าเริ่มช้าก็ยิ่งต้องไปเร่งเก็บออมในช่วงใกล้เกษียณ ซึ่งเป็นวัยที่ไม่ควรต้องเคร่งเครียดกับการวางแผนการเงิน เพราะจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพกายและใจ และอาจทำให้ต้องนั่งทำงานต่อไปอีกหลายปี
ดังนั้น ควรเริ่มลงมือวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณตั้งแต่อายุน้อย ๆ ด้วยการมองหาแนวทางการลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง ถ้าทำได้ก็จะพบว่าการจัดพอร์ตลงทุนเพื่อเกษียณอายุแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาสำคัญ
ลงทุนก่อนเกษียณ เก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ
ในกรณีนี้ นักลงทุนต้องคำนวณออกมาให้ได้ก่อนว่าต้องการใช้เงินหลังเกษียณจำนวนเท่าไหร่ เช่น ถ้ามีค่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท (ปีละ 240,000 บาท) และคาดว่าจะใช้ชีวิตถึงอายุ 80 ปี แสดงว่าต้องมีเงิน ณ วันที่เกษียณ 4,800,000 บาท (ยังไม่คำนึงถึงเงินเฟ้อ)
สมมติว่า มีเวลาออมเงิน 15 ปี และคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5% ก็ต้องเริ่มลงทุนให้ได้เดือนละ 18,000 บาท (โดยที่ยังไม่ได้รวมผลกระทบจากเงินเฟ้อและความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งอาจกระทบต่อผลตอบแทนที่ได้รับจริง) ก็จะมีเงินเก็บออมตามเป้าหมายที่วางไว้ 4,800,000 บาท
โดยในช่วงแรกที่ลงทุนเพื่อเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ พอร์ตลงทุนที่ประกอบไปด้วยหุ้นคุณค่า (Value Stock) และหุ้นเติบโต (Growth Stock) ถือว่ามีความเหมาะสม เพราะยังมีระยะเวลาลงทุนอีกหลายปีและเพียงพอที่จะทำให้มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น
ลงทุนหลังเกษียณ เน้นรักษาเงินลงทุน
คือ เป็นการให้ความสำคัญกับความเสี่ยงในการลงทุนมากกว่าผลตอบแทน ซึ่งต่างจากกรณีแรกที่จะให้ความสำคัญกับผลตอบแทนมากกว่าความเสี่ยง
เมื่อเกษียณไปแล้ว จะเป็นช่วงเน้นลงทุนเพื่อรักษาเงินต้นพร้อมกับสร้างรายได้ที่เข้ามาต่อเนื่อง แนะนำให้ลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มีความปลอดภัย (Defensive Stock) หุ้นจ่ายเงินปันผล (Dividend Stock) หรือหุ้นที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน หรือหุ้น ESG เพราะเป็นการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงในการลงทุน
โดยหุ้นกลุ่มที่มีความปลอดภัย จะเป็นบริษัทที่ผลประกอบการไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจมากนัก มีอัตราการเติบโตไม่สูง แต่เติบโตอย่างมั่นคง และสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ เช่น กลุ่มค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม สื่อสาร และโรงไฟฟ้า เป็นต้น
ขณะที่หุ้นจ่ายเงินปันผล จะเป็นบริษัทที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และพยายามรักษาอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ให้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต เพื่อเป็นการจูงใจให้นักลงทุนถือหุ้นในระยะยาว ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นมีความผันผวนน้อย และจะวนกลับมาช่วยให้บริษัทสามารถรักษาระดับผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ดีได้