1O ETF ลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น ผลตอบแทนเด่น
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงอย่างรวดเร็ว และถึงแม้วิกฤต COVID-19 จะเริ่มทุเลา นักลงทุนก็ต้องเผชิญกับการหดตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาขึ้น ผลที่ตามมา คือ ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม มีตลาดหุ้นประเทศหนึ่งที่สามารถดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่หลังวิกฤต COVID-19 นั่นคือ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่เป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน
- ดัชนี TOPIX Index ปรับลดลงต่ำสุดเดือนมีนาคม 2563 ปิดที่ระดับ 1,261.70 จุด หลังจากนั้นก็ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ปิดที่ระดับ 2,239.10 จุด
- ดัชนี JPX-Nikkei Index 400 ETF ปรับลดลงต่ำสุดเดือนมีนาคม 2563 ปิดที่ระดับ 12,790 จุด หลังจากนั้นก็ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ปิดที่ระดับ 20,400 จุด
- ดัชนี NIKKEI 225 Index ปรับลดลงต่ำสุดเดือนมีนาคม 2563 ปิดที่ระดับ 18,917.01 จุด หลังจากนั้นก็ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ปิดที่ระดับ 32,391.26 จุด
ถ้ามองย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ดัชนี NIKKEI 225 Index ปิดที่ระดับสูงสุดในรอบ 30 ปีในวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนี TOPIX Index ก็ทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2533
โดยมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น รัฐบาลญี่ปุ่นทำการปฏิรูปธรรมาภิบาลของบริษัทญี่ปุ่นในเชิงรุก (Corporate Governance) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้ของบริษัทในประเทศญี่ปุ่น, แนวโน้มการบริโภคภายในประเทศดีขึ้น ทำให้บริษัทจำนวนมากในญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นกับผู้ถือหุ้น, นักลงทุนกระจายความเสี่ยงออกจากจีนท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น
ที่สำคัญนักลงทุนที่มีประสบการณ์อย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ตัดสินใจลงทุนจำนวนมากในตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนี NIKKEI ปรับขึ้นได้อย่างน่าประทับใจ ซึ่งไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่าบัฟเฟตต์ เป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดให้นักลงทุนทั่วโลกตัดสินใจตามในการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น
จากข้อมูลล่าสุด พบว่าในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีเงินไหลเข้าลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Large cap) มากถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย Daniel Hurley ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่นและตลาดเกิดใหม่ของ T.Rowe Price กล่าวว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเนื้อหอม คือ เชื่อว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ฟื้นตัวหลังจากเผชิญกับวิกฤต COVID-19 แล้ว ที่สำคัญก็มั่นใจว่าบริษัทจดทะเบียนจะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ รวมทั้งยังมีบริษัทอีกหลายแห่งที่ดีที่คาดว่าจะสามารถสร้างการเติบโตของกำไรในอนาคตได้ ล่าสุด ตลาดหุ้นญี่ปุ่นโดยรวมยังซื้อขายที่ P/BV Ratio ต่ำกว่า 1 เท่า (ราคาหุ้นในตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง)
ที่น่าจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะยุติภาวะเงินฝืดที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 30 ปี โดยปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณเงินเฟ้อเกิดขึ้นแล้ว เช่น ราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ปรับขึ้น รวมถึงค่าจ้างเพิ่มขึ้นในหลาย ๆ บริษัท ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว
เมื่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลายเป็นตลาดที่สร้างผลตอบแทนที่ดี ทำให้นักลงทุนไทยอาจตัดสินใจไปลงทุน ซึ่งนอกจากซื้อหุ้นโดยตรงเป็นรายตัวและลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นแล้ว อีกทางเลือกที่น่าสนใจ คือ กองทุน ETF ที่เน้นกระจายการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งเหมาะกับผู้ที่มีเงินลงทุนไม่มากและต้องการความสะดวกสบาย
กองทุน ETF มีวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ที่ ETF นั้นอ้างอิงอยู่ และเนื่องจากกองทุน ETF สามารถอ้างอิงกับสินทรัพย์ได้หลากหลาย จึงเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนและช่วยการกระจายการลงทุนอีกด้วย