ข้อดี-ข้อเสีย การแบ่งจ่ายเงินเดือน 2 รอบ
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
ช่วงกลาง ก.ย. 66 มีข่าว ครม.ชุดใหม่ มีแผนแบ่งการจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 งวด จนเกิดเป็นกระแสบนโลกโซเชียลที่หลากหลาย
อย่างไรก็ตามด้วยเงินเดือนเท่ากัน เช่น รับเงินสิ้น ม.ค. 20,000 บาท เทียบกับการแบ่งรับ 15 ม.ค. 10,000 บาท และ 31 อีก 10,000 บาท รวมแล้วในแต่ละเดือนก็ยังมีรายได้เท่าเดิม แล้วการแบ่งรับเงินเดือน ไม่ว่าสำหรับข้าราชการหรือพนักงานเอกชน มีความแตกต่างกันอย่างไร Wealth Me Up มีคำตอบมาฝากกัน
แบ่งรับเงินเดือน ยังมีข้อดี
1. มีโอกาสมากขึ้น: หากเราเลือกได้ว่าเดือนหน้า จะขอรับเงินเดือนวันที่ 1 ทันทีหรือรอไปรับวันที่ 31 ดี เชื่อว่าหลายคนคงเลือกรับตั้งแต่วันที่ 1 เลย ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุ (ก) “ความรู้สึก” ยิ่งได้เงินเร็ว ยิ่งสบายใจที่มีเงินเข้าบัญชีและอำนาจการซื้อเร็วขึ้น (ข) “โอกาส/ต้นทุนการเงิน” การได้เงินมาโปะหนี้ก่อน ทำให้ดอกเบี้ยโดยรวมลดลง เช่น การผ่อนหนี้บ้านเร็วขึ้น 15 วันทุกรอบ ดอกเบี้ยที่ลดลงจะเสมือนได้ส่วนลดค่าบ้านประมาณ 1%* หรือหากใครไม่มีหนี้ก็สามารถนำไปฝากธนาคาร เพื่อให้เงินได้ทำงานเร็วขึ้นไปครึ่งเดือน
*คำนวณจากวงเงินกู้ 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี สัญญาผ่อน 30 ปี
2. ช่วยคุมงบใช้จ่าย: ธรรมชาติคนทั่วไปไม่ว่ามีเงินเยอะหรือน้อย มักมีนิสัยใช้จ่ายตามเงินที่มี เช่น เมื่อได้รับเงิน 20,000 บาท ในช่วงแรกอาจเลือกที่ไปสังสรรค์หรือซื้อสินค้าราคาสูง จนเริ่มรู้ตัวว่าเงินในบัญชีเหลือน้อยจึงค่อยคุมค่าใช้จ่ายให้น้อยลง แต่ถ้าได้รับเงินครั้งละ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการสังสรรค์หรือซื้อของฟุ่มเฟือยจะน้อยลงตามเงินที่ได้รับ และหากเผลอใช้จ่ายเกินตัว ก็รออีกไม่เกิน 15 วัน ก็ได้รับเงินเข้ามาอีกเพื่อใช้จ่ายในครึ่งเดือนต่อไปได้
3. เปลี่ยนพฤติกรรมใช้ชีวิต: เช่น เดิมร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ มักมีลูกค้าแออัดในช่วงสิ้น–ต้นเดือนตามช่วงที่เงินเดือนออก ส่งผลต่อต้นทุนภาคธุรกิจ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ฯลฯ ที่ต้องจ่ายทั้งเดือนเตรียมรองรับลูกค้าจำนวนมากที่เข้าเพียงเดือนละครั้งเท่านั้น แต่เมื่อหลายคนได้รับเงินหลายครั้ง การไปใช้บริการ ก็มีการกระจายตัว ไม่ต้องรอต่อคิวนาน ช่วงสิ้น–ต้นเดือนอย่างที่ผ่านมา
ข้อควรระวัง เมื่อแบ่งรับเงินเดือน
1. ระวังค่าใช้จ่ายผูกพัน: เช่น ภาระผ่อนธนาคาร ค่าเบี้ยประกันรายเดือน ฯลฯ ที่มักเป็นการหักยอดเต็มรายเดือน รวมถึงเงินประกันสังคม/กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กบข. หากไม่ได้แบ่งหัก 2 ครั้งตามเงินเดือน แม้แต่ละรอบจะได้รับเงินเดือนเท่ากันแต่เงินเหลือใช้จ่ายจะต่างกัน เราจึงต้องเข้าใจและรู้จักจัดสรรเงินที่ได้มาตอนกลางเดือนให้ดี
2. เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้: โดยปกติเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินมักให้ผู้กู้เลือกหักเงินค่าผ่อนจากบัญชีเงินฝากซึ่งมักเป็นบัญชีเงินเดือน ซึ่งหากใครมีกู้หลายอย่างหรือมีภาระผ่อนหนี้เกิน 50% ของเงินเดือน ก็มีความเสี่ยงที่หากจัดสรรเงินไม่ดี เงินในบัญชีอาจไม่พอให้หักค่าผ่อนได้เต็มจำนวน ซึ่งจะส่งผลต่อประวัติการชำระหนี้และการขอกู้ในอนาคตได้
การรับเงินเดือน ไม่ได้สำคัญว่าแบ่งรับกี่ครั้ง แต่สำคัญที่ยอดรับเงินรวมทั้งเดือนอยู่ที่เท่าไร และวินัยทางเงินของผู้รับเงินแต่ละคน ในสังคมยังมีอีกหลายอาชีพที่สามารถดำรงชีวิตและมีเงินเก็บได้ ทั้งที่รายได้ไม่แน่นอนเมื่อรับเงินมาแต่ละครั้งก็จำเป็นต้องใส่ใจในการจัดสรร เพราะในเดือนต่อไป เขาเหล่านั้นอาจไม่มีรายได้เข้าเหมือนอย่างมนุษย์เงินเดือนทั่วไป