9 กองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว ผลตอบแทนเด่น เหมาะกับดอกเบี้ยเริ่มนิ่ง
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Facebook | Line | Youtube | Instagram
หลังจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25 – 5.50% ในการประชุมเมื่อ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้ตลาดประเมินว่าเป็นการจบรอบการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น คำถามคือ เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อไหร่ เนื่องจากมีผลต่อการลงทุนตราสารหนี้
ตามหลักการลงทุนในตราสารหนี้ จะถือครองจนครบกำหนดอายุของตราสารเพื่อรับดอกเบี้ยเป็นรายงวด แต่หากช่วงที่ “อัตราดอกเบี้ยนโยบายกำลังเป็นขาขึ้น” และถือตราสารหนี้ระยะยาว มีอายุคงเหลือยาว อาจเห็นมูลค่าพอร์ตลงทุนโดยรวมปรับลดลง
เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น ราคาตราสารหนี้ปรับลดลง เนื่องจากนักลงทุนรับรู้ล่วงหน้าว่าจะได้รับเงินเท่าไร โดยวิธีการคำนวณราคาตราสารหนี้ คือ นำเงินที่จะได้ในอนาคตหารด้วยอัตราดอกเบี้ย ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นราคาตราสารหนี้
ดังนั้น ถ้าตัวหาร (อัตราดอกเบี้ย) สูงขึ้นเท่าไร ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะลดต่ำลงเท่านั้น หมายความว่า ยิ่งอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นเท่าไร ราคาตราสารหนี้ก็ยิ่งปรับลดลงเท่านั้น ตรงกันข้ามถ้าช่วงไหนที่อัตราดอกเบี้ยเป็นขาลง ราคาตราสารหนี้จะปรับสูงขึ้น
หมายความว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ควรลงทุนกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุน “ตราสารหนี้ระยะสั้น” เพราะมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เนื่องจากตราสารหนี้ระยะสั้นที่ออกมาใหม่จะอิงดอกเบี้ย ณ ช่วงเวลานั้น จึงให้ผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้รุ่นก่อนหน้า
ตรงกันข้าม เมื่ออัตราดอกเบี้ยกำลังเป็นขาลง กองทุนรวมมีนโยบายลงทุน “ตราสารหนี้ระยะกลางถึงระยะยาว” จะมีความน่าสนใจ เนื่องจากตราสารหนี้ที่ออกใหม่จะให้ผลตอบแทนที่น้อยลง ตามนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนั้น
โดยให้เลือกกองทุนที่มีนโยบายลงทุนพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากความเสี่ยงต่ำ เพราะรัฐบาลมีความน่าเชื่อถือจึงมีความมั่นคงสูง โอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้มีน้อย สามารถรองรับต่อความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย โดยปัจจุบันอัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับสูงตามระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการสะท้อนภาพอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้สามารถเลือกกองทุนที่มีนโยบายลงทุนหุ้นกู้ โดยเน้นหุ้นกู้คุณภาพดี (Investment Grade) รวมถึงหุ้นกู้ของบริษัทที่มีความแข็งแกร่งทางการเงิน ปัจจัยพื้นฐานที่ดี
สำหรับการเลือกกองทุนตราสารหนี้เบื้องต้น เริ่มจากการเปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุนย้อนหลัง เช่น 1 ปี, 3 ปี โดยดูผลตอบแทนจากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุป (Fund Fact Sheet) โดยผลตอบแทนควรเติบโตและสม่ำเสมอ อีกทั้ง ควรเปรียบเทียบกับกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีนโยบายการลงทุนใกล้เคียงกัน