‘ไทย’ อยู่ตรงไหน? ท่ามกลางสงครามมหาอำนาจที่ลากยาว 2O-3O ปี
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
“ไทยจะทำยังไง..ถ้าจะกระจายความเสี่ยงไปที่ New Rising Powers การกระจายความเสี่ยงมีความสำคัญมาก เพราะถ้าสามารถมีตลาดใหม่ๆ และพึ่งพาทั้งจีน ทั้งอเมริกาน้อยลง เราก็มีอำนาจต่อรองกับเขาสูงขึ้น ผมคิดว่าอันนี้คือเป็นยุทธศาสตร์ที่เราต้องเดินในยุคที่ภูมิรัฐศาสตร์โลกผันผวนแบบปัจจุบัน”
ในโลกที่มหาอำนาจเบอร์ 1 และ 2 กำลังแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในทุกมิติ “ประเทศไทย” ควรวาง “ยุทธศาสตร์” แบบไหน และควรมี “จุดยืน” อย่างไร เพื่อแสวงหา “โอกาส” ในโลกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
“Wealth Me Up” ได้พูดคุยกับ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แนะนำข้อเสนอสำหรับประเทศไทย เพื่อการมุ่งหน้าสู่อนาคตที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ดร.อาร์มฉายภาพให้เห็นว่า เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศส่งผลกลับมายังภายในประเทศเสมอ เห็นได้ชัดจากหลายทศวรรษที่ผ่านมา “เศรษฐกิจไทย” ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจภายนอกค่อนข้างมาก
ตัวอย่างเช่น สมัยก่อนเคยมีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญคือ การเกิดขึ้นของ “Plaza Accord” หรือ ข้อตกลงพลาซา ในปี 1985 ที่ส่งผลให้ “เงินเยน” ของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หากญี่ปุ่นผลิตสินค้าในประเทศจะทำให้สินค้ามีราคาแพง แต่ญี่ปุ่นสามารถนำเงินเยนไปซื้อวัตถุดิบ สินค้า และจ้างแรงงานในต่างประเทศได้ถูกกว่าการลงทุนผลิตในประเทศ และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ส่งผลให้ทุนญี่ปุ่นหลั่งไหลเข้ามาเมืองไทยมหาศาล ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราเลข 2 หลักอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง
ขณะที่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีอีกเทรนด์หนึ่งเกิดขึ้นมา คือ การเติบโตอย่างรวดเร็วของจีน (The Rise of China) ซึ่งทำให้เกิดคลื่นนักท่องเที่ยวจีนมหาศาลก่อนเกิดวิกฤต Covid ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดการเติบโตจุดใหม่ของเศรษฐกิจไทย
“เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงภายนอกบางทีเราไม่ได้สังเกต แต่เกิดผลกระทบมากมายต่อทิศทางเศรษฐกิจการเมืองภายในของบ้านเรา”
[Now] โอกาส-ความท้าทาย สงครามการค้า “จีน-สหรัฐฯ”
ดร.อาร์ม ชี้ว่า ตอนนี้การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์เกิดเร็วขึ้น แรงขึ้น และหนักขึ้น ผลกระทบที่เข้ามาในประเทศจะยิ่งกว่าในอดีตเยอะมาก
“เราคุยกันบ่อยๆ เรื่อง Technical Disruption การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของประชากร แต่จริงๆ ปัจจัยที่สำคัญมากๆ ในยุคสมัยพวกเราต่อจากนี้ ผมคิดว่า 30 ปีต่อจากนี้ ภาพภูมิรัฐศาสตร์ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เรากำลังอยู่ในจุดรอยต่อประวัติศาสตร์ใหม่ของโลก”
ดร.อาร์มอธิบายว่า สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ การเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจนว่า เป็นการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา คือ พี่เบิ้มเบอร์ 1 กำลังถูกท้าชิงจากเบอร์ 2 อย่างจีน ที่กำลังหายใจรดต้นคอเบอร์ 1
“เราต้องพูดให้ชัดเจนและเห็นภาพว่า ไม่ใช่ว่าเราจะคาดหมายว่า อเมริกาจะทุบจีนพัง และอเมริกาจะเป็นเบอร์ 1 เป็นมหาอำนาจเดียวของโลก และเราไม่ได้พูดถึงภาพที่ว่า จีนจะขึ้นมาชนะอเมริกา ทุบอเมริกาพังแล้วจีนเป็นเบอร์ 1 ของโลกแทน เรากำลังพูดถึงภาพที่มีคู่ชิงบัลลังก์จักรพรรดิ มีจักรพรรดิ 2 คน ซึ่งมันยากขึ้นนะครับ โลกที่มีพระอาทิตย์ 2 ดวง ตอนนี้เบอร์ 1 กับเบอร์ 2 มีขนาดเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกัน และจะอยู่ในภาวะใกล้เคียงกัน ไม่ได้มีใครใหญ่กว่าใครเท่าตัวไปอีกอย่างน้อย 20-30 ปี ซึ่งนี่เป็นภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์โลก”
ดร.อาร์มขยายความต่อว่า หากเบอร์ 1 กับเบอร์ 2 สู้กันในทุกมิติอย่างนี้ ทั้งเศรษฐกิจ การค้า และเทคโนโลยี เศรษฐกิจโลกก็จะดีได้ยาก
“เราบอกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกก็ต่ำ เศรษฐกิจภายนอกไม่เป็นมิตรเหมือนเดิม เพราะเค้าตีกัน เกิดการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ เกิดศัพท์ใหม่ๆ เกิดคำว่า Friend-shoring คือ การจะไปลงทุนที่ไหน ไปค้าขายที่ไหน ดูว่าเป็นเพื่อนเราหรือเปล่า แต่ว่าจริงๆ ถ้าพูดทางเศรษฐศาสตร์ง่ายๆ ก็คือ ก้อนพายสมัยก่อนที่เราค้าขายกันคล่อง ตอนนี้ก้อนพายมันเล็กลง มันติดขัด มันสะดุด คนนี้ไม่ค้าขายกันคนนี้ คนนี้กีดกันคนนั้น เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ยุคสดใส ยุคที่เราบอกว่า แค่เราส่งออก แค่เราค้าขายกับโลก เศรษฐกิจไทยก็เติบโตได้ นักท่องเที่ยวจะมามากมาย แต่ตอนนี้จะเป็นยุคเศรษฐกิจหดตัวทั่วโลก”
แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง นี่คือยุคแห่ง “โอกาส” เพราะเมื่อเศรษฐกิจหดตัว มหาอำนาจก็อ่อนแอเช่นกัน ตอนนี้เศรษฐกิจมหาอำนาจทุกแห่งต่างประสบปัญหา เศรษฐกิจอเมริกา แม้ว่าข่าวจะบอกว่า แข็งแกร่งมาก แต่จริงๆ ก็มีปัญหาเงินเฟ้อ มีความเปราะบาง หากดูผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกัน พวกเขาไม่ได้คิดว่า เศรษฐกิจดี
“ต้องยอมรับว่า เวลาเขาชกกัน เขาเจ็บทั้งคู่ เพียงแต่ว่า ทั้งสองฝ่ายคิดว่า อีกฝ่ายเจ็บกว่า คือ อเมริกาบอกว่า เขาก็เจ็บ แต่ว่าจีนเจ็บมากกว่า จีนก็บอกว่า จีนต้องทน แต่จริงๆ เจ็บด้วยกันหมด”
มหาอำนาจกำลังเผชิญความท้าทาย แต่โอกาสอยู่ที่ไหน?
ดร.อาร์มชี้ว่า ตอนนี้โอกาสอยู่ที่ประเทศกำลังพัฒนา อยู่ที่อาเซียน และประเทศอื่นๆ ที่เรียกว่าเป็น “New Rising Powers” เพราะว่ายุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ คือ ต้องเอาอินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และอาเซียนมาแทนจีน ทั้งในฐานะของการเป็นโรงงานแห่งใหม่ และในฐานะการเป็นตลาดแห่งใหม่ เพราะว่าสหรัฐฯ ไม่ไว้ใจจีนแล้ว ไม่รู้สึกว่าเป็นเพื่อน แต่รู้สึกว่าเป็นภัยคุกคาม
ส่วนยุทธศาสตร์จีน คือ ต้องเอาลาตินอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอาเซียน มาแทนสหรัฐฯ และยุโรป ทั้งในฐานะการเป็นตลาด และแหล่งลงทุนใหม่ เพราะว่าหากจีนไปสหรัฐฯ ก็ถูกกีดกัน เมื่อไปยุโรป ก็ถูกตั้งกำแพงภาษี และถูกตรวจสอบการลงทุน
“แสดงว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างต้องการประเทศพันธมิตรใหม่ จึงเป็นยุคของ New Rising Powers ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม อาเซียน ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา แอฟริกา พวกนี้เป็นหมุดหมายใหม่ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ”
โลกไม่ได้มีเบอร์ 1 เพียงลำพังอีกต่อไป?
ดร.อาร์มเล่าว่า ในยุคสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นนั้น สหรัฐฯ สามารถจัดการญี่ปุ่นอยู่หมัด ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องติดหล่มยุค Lost Decade หรือทศวรรษที่หายไปในช่วงปี 1990 เป็นยุคที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตต่ำติดต่อกันเป็นเวลานาน จนทำให้คนญี่ปุ่นเก็บออมมากขึ้นและใช้จ่ายน้อยลง เพราะไม่มั่นใจว่า เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตได้เหมือนเดิมหรือไม่
แต่การแข่งขันทุกมิติของสหรัฐฯ และจีนในยุคปัจจุบันไม่น่าจะลงเอยแบบเดียวกัน…อ.อาร์ม อธิบายว่า ตอนนี้จีนและสหรัฐฯ กำลังต่อสู้กันด้วยความหวังว่า จะขึ้นมาจัดการอีกฝ่ายหนึ่ง แต่จริงๆ ยากมาก เพราะความแข็งแกร่งของทั้ง 2 ฝ่าย โดย “จีน” แตกต่างจากคู่ท้าชิงในอดีตของสหรัฐฯ อย่างญี่ปุ่น และสหภาพโซเวียต ในหลายแง่มุม
ประเด็นแรกคือ ญี่ปุ่นเก่งเรื่องเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้มีกองทัพหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนสหภาพโซเวียตเก่งเรื่องการทหาร มีหัวจรวดนิวเคลียร์แข่งกันกับสหรัฐฯ แต่สหภาพโซเวียตไม่ได้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ขณะที่ตอนนี้สหรัฐฯ เขียนในสมุดปกขาวว่า จีนเป็นมหาอำนาจแรกที่ขึ้นมาท้าทายสหรัฐฯ ในทุกมิติ ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และอิทธิพลทางการทูต
——————————
สหรัฐฯ เขียนในสมุดปกขาวว่า จีนเป็นมหาอำนาจแรกที่ขึ้นมาท้าทายสหรัฐฯ ในทุกมิติ ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และอิทธิพลทางการทูต
——————————
ประเด็นที่ 2 ญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ 1 ใน 3 ของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับสหภาพโซเวียตที่มีประชากรประมาณ 1 ใน 3 ของสหรัฐฯ เช่นกัน
“ถ้าอยากให้ขนาดเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และขนาดเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียดใหญ่เท่าหรือใหญ่กว่าอเมริกาGDP ต่อหัวของญี่ปุ่นต้องมากกว่าอเมริกา 3 เท่าตัว แต่ในทางกลับกัน ประชากรจีนมากกว่าอเมริกา 4 เท่า หมายความว่าแค่ GDP ของจีนขึ้นมา 1 ใน 4 ของอเมริกา ขนาดเศรษฐกิจจีนก็จะใหญ่เท่าและแซงอเมริกา ซึ่งโดยทั่วไปคิดว่าอาจจะเกิดขึ้นภายในช่วง 10 ปีต่อจากนี้ สาเหตุสำคัญก็เพราะว่า ตอนนี้เราบอกว่า GDP ต่อหัวขึ้นมาแล้วประมาณ 1 ใน 6 แต่เราพูดถึงขนาดเศรษฐกิจจีนในวันที่เปิดมาเจอพาดหัวข่าวว่า เศรษฐกิจเท่ากันกับอเมริกาและแซง แต่ไม่ได้แปลว่าจีนใหญ่กว่าอเมริกาเป็นเท่าตัว และอเมริกาก็ยังมี GDP ต่อหัวสูงกว่าจีน 4 เท่าตัว และยังเป็นประเทศที่รวยที่สุด”
ปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญมาก คือ จีนยังมีทักษะแรงงาน ทักษะมนุษย์ที่แข็งแกร่ง มีการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งทำให้ยังมีศักยภาพในการเติบโตทางเทคโนโลยี
ซึ่งต่างจากกรณีของญี่ปุ่นในอดีต ที่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ญี่ปุ่นก็หยุดการลงทุนเรื่องเทคโนโลยี หยุดการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี แต่ว่าจีนยังมีศักยภาพในจุดนี้
โอกาสของ “ไทย” อยู่ตรงไหน?
“ไทยเป็นส่วนหนึ่งและส่วนสำคัญของอาเซียน แต่อันนี้คิดว่ามีปริศนาธรรมหลายข้อซ่อนอยู่ ความหมายก็คือ ไทยเราอย่างเดียว เราดึงดูดใจใครไม่ได้ สมมติว่าไปคุยกับนักลงทุนทั่วโลก เขาก็บอกว่าไทยมีประชากร 70 ล้านคน เวียดนามประชากร 100 ล้านคน อินโดนีเซียประชากร 200 ล้านกว่าคน เวียดนามและอินโดนีเซียมีประชากรเป็นวัยหนุ่มสาว ส่วนไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ค่าแรงค่าไฟของเพื่อนบ้านก็ถูกกว่าไทย”
นั่นจึงนำมาสู่คำถามว่า “ไทยน่าดึงดูดอย่างไร? ดร.อาร์มมองว่า นี่เป็นคำถามที่ทำให้ไทยไม่ได้อยู่ในจอเรดาร์ของการลงทุน การค้า เวลาที่คนนึกถึงประเทศเติบโตใหม่ แต่ ASEAN และ ASEAN Mainland Southeast Asia เป็นสิ่งที่คนพูดถึงกัน มีการพูดถึงประเทศกลุ่ม CLMV
“คนจีนคิดถึงประเทศ (CLMV) เหล่านี้มาก เพราะคนจีนคิดว่าเหมือนจีนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ยังเพิ่งเติบโตทางเศรษฐกิจ ประชากรยังหนุ่มสาว กำลังทะยานขึ้นมา ถ้าเกิดว่าหาแสวงโอกาสแสวงประโยชน์ได้เหมือนกับได้โอกาสจีนเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ตอนที่กำลังเริ่มทะยาน”
ไทยจะต้องทำยังไง?
ดร.อาร์ม แนะนำว่า ไทยต้องไม่มองแค่ไทยอย่างเดียว แต่ต้องมองว่าด้วยจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ ไทยเป็นศูนย์กลาง เป็นตัวเชื่อมต่อภูมิภาค ทั้ง Mainland Southeast Asia และทั้ง ASEAN
“ผมบอกมันมีปริศนาธรรมซ่อนอยู่เยอะ เพราะว่ามีคำหนึ่งที่สำคัญมาก และคิดว่าเป็นปัจจัยทั้งในเรื่องการค้า เทคโนโลยี คือคำว่า ขนาด หรือ สเกล”
ความได้เปรียบของจีน คือ ความได้เปรียบเรื่องสเกล 1,400 ล้านคน ความได้เปรียบของสหรัฐฯ คือ ความได้เปรียบเรื่อง สเกล เพราะสหรัฐฯ ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นแค่ตลาด 350 ล้านคน แต่มองว่าเป็นสหรัฐฯ บวกยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และออสเตรเลีย โดยสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรกับประเทศพัฒนาแล้ว
“สำหรับประเทศไทย ถ้าพูดถึงแค่ 70 ล้านคน เราไม่ได้มีความได้เปรียบเรื่องสเกลนะครับ เราบอก Startup ไทยมีประชากร 70 ล้านคน เราคงจะเป็น Unicorn ได้ยาก เราคงไม่ได้ดึงดูด แต่ถ้าเกิดเราขยายภาพภูมิทัศน์ Vision ของเราให้ใหญ่ขึ้นเป็น Mainland Southeast Asia ถ้าเราไม่ได้มองแค่ตลาดไทย เรามองถึงกัมพูชา ลาว พม่า ที่แม้ยังมีสงครามภายในอยู่ แต่ว่ามีโอกาสมหาศาลเหมือนกัน เพราะไม่มีใครเข้าไป เวียดนาม ทำยังไงที่ไทยจะเป็นข้อต่อ เป็นศูนย์กลาง เป็นตัวเชื่อม ผมว่าเป็นเรื่องของการปรับภาพความคิด เพราะว่าไม่ใช่มองว่าไทยเป็นคู่แข่งเวียดนามยังไง เราจะเป็นคู่แข่งอินโดนีเซียยังไง เราต้องมองว่า เราจะเป็นคู่ค้ายังไง เราจะเต้นระบำไปกับเขายังไง เราจะเชื่อมกับโอกาสที่เขากำลังเติบโต เขากำลังทะยาน ทุกคนกำลังมองเขาได้อย่างไร”
——————————
ผมว่าเป็นเรื่องของการปรับภาพความคิด เพราะว่าไม่ใช่มองว่าไทยเป็นคู่แข่งเวียดนามยังไง เราจะเป็นคู่แข่งอินโดนีเซียยังไง เราต้องมองว่า เราจะเป็นคู่ค้ายังไง เราจะเต้นระบำไปกับเขายังไง เราจะเชื่อมกับโอกาสที่เขากำลังเติบโต เขากำลังทะยาน ทุกคนกำลังมองเขาได้อย่างไร
——————————
“เราไม่ได้มองแค่ประเทศไทย แต่เรามองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคที่กำลังเติบโต ภูมิภาคที่กำลังเข้าสู่ยุคทอง เพราะว่ามหาอำนาจทั้ง 2 ฝ่ายต่างต้องการภูมิภาคตรงนี้ได้อย่างไร ผมว่าถ้าเรามองยุทธศาสตร์ของไทยอย่างนี้ เราจะมองได้กว้าง และลึก และแสวงหาโอกาสได้มากกว่าเดิมครับ”
ในทางกลับกัน ดร.อาร์มพูดถึงโอกาสการดึงทุนต่างชาติเข้าไทยว่า “ถ้าเราไปดึงเขาและบอกว่ามาตลาด 70 ล้านคน ซึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุ ค่าแรงเท่านี้ มันอาจจะไม่น่าดึงดูดเท่ากับว่าเราสามารถเล่นบทบาทในการเชื่อมโยง ASEAN ภาคพื้นมากกว่านี้ เราบอกเราดึงเขามาเป็นพาร์ทเนอร์ด้วยกัน บุกตลาด ASEAN ร่วมกัน ไทยเข้าใจวัฒนธรรมการค้า วัฒนธรรมธุรกิจของลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า”
ดร.อาร์มพูดถึงโอกาสของบริษัทเทคโนโลยีไทยว่าจะต้องคิดถึงตลาดในระดับภาคพื้น ASEAN เช่นกัน
“ต่อไปเมื่อเราพูดถึงบริษัทเทคโนโลยีไทย ผมคิดว่าตลาดไทยก็เล็กไป ถ้าเราจะคิด ต้องคิดถึงตลาดภาคพื้น ASEAN เรามีความแข็งแกร่ง เพราะว่าถ้าเปรียบเทียบกับเพื่อนๆ เรา ไทยก็เป็นผู้นำธุรกิจของภูมิภาค เราสามารถที่จะส่งเสริมแพลตฟอร์มของเราเหมือนกับที่นานาชาติตอนนี้ก็แข่งกันที่แพลตฟอร์ม เคยมีท่านอาจารย์ที่ผมเคารพพูดไว้น่าสนใจมาก ท่านพูดว่า โลกาภิวัตน์ในยุคแรกๆ อาจจะส่งออกทุน ส่งออกสินค้า ค้าขายกัน ตอนนั้นอังกฤษเป็นมหาอำนาจ โลกาภิวัตน์ยุคที่ 2 คือ ส่งออกพ่อค้า เราเห็นนักธุรกิจเต็มไปหมดเลยเป็นฝรั่ง ตอนนี้ก็เห็นคนจีน แต่ว่าโลกาภิวัตน์ยุคปัจจุบันการส่งออกแพลตฟอร์ม”
——————————
โลกาภิวัตน์ยุคปัจจุบันการส่งออกแพลตฟอร์ม ทำยังไงที่เราจะคิดว่า ประเทศไทยสามารถส่งออกแพลตฟอร์มในภูมิภาคได้มั้ย ทำให้สเกลใหญ่ขึ้นได้มั้ย ทำยังไงที่เราจะมองแผนที่บ้าง ไม่ใช่มองกันอยู่ภายใน มันจะมีความจำเป็นมากขึ้นในยุคที่กลุ่มรัฐศาสตร์โลกผันผวนแบบนี้
——————————
“เราบอกว่าเราอยู่ในแพลตฟอร์มของไทย ถ้าเราพูดถึงแพลตฟอร์มในความหมายกว้าง เราพูดถึงว่าเราใช้แอปใคร แต่เราพูดถึงเราใช้กฎระเบียบใครด้วย เราใช้แบรนด์ใคร แต่ทำยังไงที่เราจะคิดว่า ประเทศไทยสามารถส่งออกแพลตฟอร์มในภูมิภาคได้มั้ย ทำให้สเกลใหญ่ขึ้นได้มั้ย ทำยังไงที่เราจะมองแผนที่บ้าง ไม่ใช่มองกันอยู่ภายใน มันจะมีความจำเป็นมากขึ้นในยุคที่กลุ่มรัฐศาสตร์โลกผันผวนแบบนี้”
เดินเกม “รุกกลับ” สู้ทุนจีนบุกไทย
สิ่งหนึ่งที่คนไทยพูดถึงเยอะคือ “ทุนจีน” ในฐานะที่ดร.อาร์มมีความเข้าใจเศรษฐกิจจีนในมิติของการเติบโต และเข้าใจไทย ดร.อาร์มได้แนะนำการรับมือกับ “ทุนจีน” ทะลัก ไว้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งสำคัญคือการ “ตั้งโจทย์” ต้องตั้งโจทย์ให้เห็นภาพที่กว้างไกลขึ้นจากเดิม หมายความว่า เรื่องทุนจีน ถ้าตั้งโจทย์ว่าไทยจะตั้งรับยังไง วิธีตั้งรับคือ การบังคับใช้กฎหมาย โดยใช้มาตรการทางภาษี
แต่ ดร.อาร์มชวนให้คิดถึงโจทย์ใหม่ คือ ไทยจะปรับจาก “ตั้งรับ” เป็น “แสวงหาโอกาส” เป็น “รุกกลับ” ได้อย่างไร
“ผมว่าโจทย์นี้ เรายังคุยกันไม่พอ คุยกันน้อยไปในประเทศไทย เพราะว่ามันมีเหตุ 2 ด้าน คือ ส่วนที่เป็นความท้าทาย คลื่นทุนจีน คลื่นสินค้าจีน แต่ว่าก็มีส่วนที่เป็นโอกาส ในส่วนของบริบทที่เปลี่ยนไปแบบนี้ ไม่ใช่บริบทแค่ปีเดียว ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือเป็นเรื่องระยะยาว การเติบโตที่ช้าของเศรษฐกิจจีน การแข่งขันระหว่างจีนและอเมริกา ทำให้สินค้าจีนแทนที่จะไปอเมริกา ไปยุโรป สินค้าจีนมาอาเซียน มาไทย มันจะไม่ใช่แค่ปีนี้ แต่จะเป็น 10 ปีต่อจากนี้”
ดร.อาร์มแจกแจงให้เห็น “โอกาส” เป็นข้อๆ ว่า โอกาสแรก ผู้ประกอบการไทย อุตสาหกรรมไทยมีโอกาสมหาศาลจากการใช้วัตถุดิบสินค้าเทคโนโลยีราคาถูกจากเมืองจีน มีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากส่วนนี้เพื่อ Transform ธุรกิจ ถ้าเป็นธุรกิจการผลิตก็สามารถจะมีเครื่องจักรราคาถูก วัตถุดิบราคาถูก สินค้าราคาถูกมากขึ้น ลดต้นทุน
——————————
ผู้ประกอบการไทย อุตสาหกรรมไทยมีโอกาสมหาศาลจากการใช้วัตถุดิบสินค้าเทคโนโลยีราคาถูกจากเมืองจีน มีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากส่วนนี้เพื่อ Transform ธุรกิจ
——————————
“ต้องยอมรับว่าต้นทุนของสินค้าเครื่องจักร วัตถุดิบ เทคโนโลยีของจีนก็ถูกกว่าของฝรั่ง อันนี้คือจุดแข็งที่ทำให้เราบอกว่าตอนนี้สินค้าจีนในเชิงของเทคโนโลยีไปในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกเลย เพราะว่าถ้าเราซื้อเทคโนโลยีจีน เราบอกว่าช่วย Digital Transformation ได้เร็ว และถูกกว่าเทคโนโลยีฝรั่ง”
ส่วนโอกาสที่ 2 คือ การดึงดูดทุนจีนเข้ามาในประเทศไทย เข้ามาในภูมิภาค ซึ่งเป็นเทรนด์อยู่แล้ว
“ผมเล่าให้ฟังว่าจีนไปฝรั่ง ไปอเมริกาไม่ได้ ตอนนี้กระจายความเสี่ยงออกจากโลกตะวันตก เขาต้องการมาแสวงหาโอกาส ทั้งโอกาสในไทย ใน Mainland Southeast Asia ใน ASEAN แต่ว่าเรื่องนี้มีโจทย์สำคัญทางนโยบายว่า มายังไงที่เราได้ประโยชน์มากที่สุด ทำยังไงให้เขาใช้ชิ้นส่วนของไทย ใช้ Local Content ด้วย ไม่ใช่มาแล้วใช้แต่ชิ้นส่วนของจีนทั้งหมด อันนี้เป็นรายละเอียดว่า Step แรก คือ ทำยังไงที่เราจะได้ทุนจีน และ Step ถัดไปคือ การใช้ประโยชน์ทั้งพัฒนาแรงงาน การศึกษา ถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างให้เกิด Local Content Supply Chain”
โอกาสที่ 3 คือ มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ชวนคนจีนมาเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกันบุกตลาดภาคพื้น ASEAN ร่วมกัน
“ผมอธิบายแล้วว่าถ้าประเทศไทย ถ้าธุรกิจไทยเป็นธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจไทยอย่างเดียว แต่เป็นธุรกิจของ Mainland Southeast Asia และมีฐานในลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม เราจะเป็นที่น่าดึงดูดสำหรับทุนจีน ทุนฝรั่ง ที่จะมาขอเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา มาขอกลยุทธ์ธุรกิจของเรา เพราะเราจะเข้าใจวัฒนธรรมธุรกิจ เข้าใจตลาดเหล่านั้นได้ดีกว่า ทำยังไงที่เราจะชวนเขามาพาร์ทเนอร์ร่วมกันบุกตลาด Mainland Southeast Asia ร่วมกัน บุกตลาด ASEAN ในยุคทองของ ASEAN”
ดร.อาร์มชี้ว่า ส่วนโอกาสสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ ตลาด 1,400 ล้านคนของจีน ตอนนี้เศรษฐกิจจีนเติบโตช้าลง เป็นยุคที่คนจีนรัดเข็มขัด แต่จีนเป็นตลาดใหญ่ มีผู้บริโภค 1,400 ล้านคน และเป็นตลาดที่ยังมีศักยภาพมหาศาล
“คนจีนเขารัดเข็มขัด เขาประหยัดจริงนะครับ แต่ไม่ใช่เขาไม่มีเงิน หนี้เขาต่ำ เขามีปัญหาเงินเก็บสูงเกินไป ไม่ยอมใช้เงิน เทรนด์การบริโภคก็เปลี่ยนไป เขาไม่บริโภคของแพง เขาบริโภคของราคาถูก เขาบริโภคสินค้าเชิงวัฒนธรรม สินค้าที่ติดกระแสบริโภคตามโซเชียลมีเดีย ถ้าเราจับเทรนด์การบริโภคเขาได้ ถ้าเรายังจับตลาดเขาได้ ถ้าเราสามารถบุกรุกกลับไปได้ เราก็ได้โอกาสจากตลาด 1,400 ล้านคน แพลตฟอร์มจีนบุกไทย อันนี้เป็นเรื่องของการกำกับดูแล การกำกับใช้กฎหมายแต่เราต้องคิดกันเหมือนกันว่าเราจะใช้แพลตฟอร์มเขาบุกกลับไปตลาดเขายังไง”
พร้อมกันนี้ หากการบุกกลับของไทยเกิดอุปสรรคทางการค้า ไทยก็ต้องเปิดการเจรจา “เกิดว่าการบุกกลับไปมีอุปสรรคทางการค้า เราเจรจาพูดคุยกับเขา เราไปเขามีอุปสรรคอย่างไร เขามาเราไม่มีอุปสรรคเลยหรือเปล่า แต่ว่าทำยังไงที่เราจะรุกกลับไปโดยใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ใช้ประโยชน์จากตลาดขนาดใหญ่ในการรุกกลับไปตลาด 1,400 ล้านคน”
ดร.อาร์มย้ำว่า โจทย์เหล่านี้เป็นโจทย์สำคัญไม่แพ้การตั้งรับ และเป็นโจทย์ที่คิดว่า ประเทศไทยยังพูดคุยหาแนวทางในการแสวงหาโอกาสจากภาพที่เปลี่ยนไป จากการรุกกลับ น้อยเกินไป
คนไทยกระหายน้อย แข่งขันจีน “ยาก” ?
ด้วยสไตล์การทำงานของคนไทยไม่ได้มีความ “กระหาย” เมื่อเทียบกับการทำงานแบบคนจีนหรือธุรกิจจีน อาจจะทำให้ไทยแข่งขันกับจีนยาก และจะทำให้ “การรุกกลับ” ไม่ “ง่าย”
ดร.อาร์มมองประเด็นนี้ว่า ไทยต้องคิดให้ได้ว่าอะไรคือ “จุดแข็ง” ของประเทศ และใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้น
“จุดแข็งของเราอาจจะไม่ใช่ความถึก ไม่ใช่ความขยัน ไม่ใช่หนุ่มสาว แต่ว่าจุดแข็งของเราอาจจะเป็นเรื่องที่ตั้ง เป็นเรื่องความเข้าใจวัฒนธรรมธุรกิจการค้า การอยู่ในภูมิภาคนี้มาอย่างยาวนาน ธุรกิจไทยอาจมีฐานในต่างประเทศ ใน CLMV มากกว่าธุรกิจประเทศอื่นๆนะครับ ประเทศอื่นเขาตลาดใหญ่เขาก็จะโฟกัสภายในประเทศ เราอาจจะออกไป ยิ่งเราออกไปจะเป็นโอกาสของเรา ผมคิดว่าเราต้องหาจุดแข็งและจุดที่เราสามารถได้เปรียบ และเขาใช้เรา”
ส่วนการแสวงหาโอกาสใน “อุตสาหกรรมใหม่” ที่กำลังทะยานแรงนั้น ไทยก็ควรค้นหาว่าจะสามารถเข้าไปเป็นอยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมเหล่านั้นได้อย่างไร
“เราคุยกันเรื่องโอกาส ซึ่งอยู่ที่อุตสาหกรรมใหม่ เพราะว่าเป็นยุคของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ถามว่าทำไมถึงเป็นยุคของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี ก็กลับมาเรื่องการแข่งขันระหว่างเบอร์ 1 กับเบอร์ 2 สมัยก่อนการพัฒนาวัคซีนใช้เวลา 10 ปี แต่เราได้วัคซีน Covid ภายใน 9 เดือน เพราะเขาแข่งกันว่าใครจะมีวัคซีนก่อนกัน แต่ว่ามันจะไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมวัคซีน แต่ยังมีรถยนต์ EV, Quantum, Fusion พลังงานแบบใหม่ แบตเตอรี่ AI อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เราบอกว่ากำลังเปลี่ยนโลกของเรา มันจะเร็ว มันจะแรงมากขึ้นเยอะ เพราะเขาแข่งกัน แต่โจทย์เราไม่ใช่จะไปแข่ง Fusion แข่ง Quantum แข่งแบตเตอรี่ แข่ง EV เราจะสร้าง EV เอง ผมว่านี่ไม่ใช่โจทย์ โจทย์คือเราจะเป็นชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่จะเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้อย่างไร มองตรงนี้แล้วเราสามารถเป็นชิ้นส่วนที่ไปเชื่อมต่อได้ ผมว่าอันนี้เป็นโอกาสใหม่ของประเทศไทย”
“เพราะฉะนั้นเราแข่งราคาไม่ได้ เราแข่งความถึกไม่ได้ แต่เราแข่งคุณภาพได้มั้ย ให้เราแข่งเทคนิคได้มั้ย เราแข่งเรื่องแบรนดิ้งได้มั้ย มันต้องไปแข่งเรื่องอื่น”
ต้องเลือกข้างหรือไม่? “จีน vs สหรัฐฯ”
ในยุคที่พระอาทิตย์ 2 ดวงกำลังแข่งขันกันอยู่…ไทยไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง และสามารถหา “จุดยืน” ที่สามารถ Balance เศรษฐกิจและความสัมพันธ์ไปพร้อมกันได้หรือไม่?
ดร.อาร์มบอกว่า ทุกคนพูดถึง Balance ทุกรัฐบาลพูดว่าต้องรักษาสมดุล ไม่เลือกข้าง แต่ดร.อาร์มมักจะย้ำตลอดว่า การ Balance สามารถทำได้ 2 แบบ ได้แก่ แบบแรก คือ รักษาสมดุลเชิงรับ และแบบที่ 2 คือ การรักษาสมดุลเชิงรุก (Proactive Balancing)
“การรักษาสมดุลเชิงรับ ความหมายคือว่า จีนมาคุยกับเรา เราก็กล้าๆ กลัวๆ ว่าเดี๋ยวอเมริกาโมโห อเมริกามาคุยกับเรา เราก็กล้าๆกลัวๆ เดี๋ยวจีนจะโมโห ก็ไม่ต้องทำอะไร ส่วนการรักษาสมดุลเชิงรุก คือ จีนมาคุยกับเรา เราก็บอกเงื่อนไขเหล่านี้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ เรารู้จุดยืนของเรา รู้ว่าเราต้องการอะไร ถ้าไม่ได้ตามนั้น เรามีเพื่อนคืออเมริกา เมื่ออเมริกา มาคุยกับเรา เราก็บอกเช่นเดียวกันว่าเรามีผลประโยชน์อยู่ตรงไหน ถ้าไม่ได้ตามนั้นเราก็มีเพื่อนคือจีน ถ้าเราคุยกับจีน อเมริกาก็สนใจอยากจะคุยด้วยกับเรา บอกไม่อยากให้จีนเอาไปหมด อเมริกาคุยกับเรา จีนก็บอกต้องมาร่วมมือกับจีนด้วย อย่างนี้เราได้ประโยชน์ถูกมั้ยครับ”
ดร.อาร์มแนะนำต่อว่า ข้อแรก เมื่อถามเรื่องเลือกข้างใคร ไทยจะต้องพยายามเชื่อมต่อกับทั้ง 2 ห่วงโซ่ และพยายามเป็นการรักษาสมดุลเชิงรุก และในขณะเดียวกัน จะต้องมีการพิจารณาเป็นเรื่องๆ พิจารณารายประเด็น ต้องมีหลักการ เช่น หลักการในเชิงกฏหมายระหว่างประเทศ หลักการในเรื่องความถูกต้อง หลักการตามผลประโยชน์ของประเทศชาติ
“เราต้องเข้าใจว่าผลประโยชน์ประเทศชาติเราในแต่ละเรื่องตั้งอยู่ที่ไหน ในจุดไหน” ส่วนประเด็นสุดท้ายที่ถูกถามเยอะว่า “จะเลือกจีนหรือสหรัฐ” นั้น…
ดร.อาร์มบอกทิ้งท้ายว่า “เราคุยกันวันนี้ เราบอกว่าเราต้องเชื่อมกับอินเดีย เราต้องเชื่อมกับอินโดนีเซีย ต้องเชื่อมกับตะวันออกกลาง เราต้องเชื่อมกับอาเซียน ลาตินอเมริกา เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่แค่ว่าเรดาร์หรือ Vision ของเราจับอยู่ที่จีนและสหรัฐฯ แล้ว 2 คนนี้ทะเลาะกัน แต่ว่าทำยังไง ถ้าจะกระจายความเสี่ยงไปที่ New Rising Powers การกระจายความเสี่ยงมีความสำคัญมาก เพราะถ้าสามารถมีตลาดใหม่ๆ และพึ่งพาทั้งจีน ทั้งอเมริกาน้อยลง เราก็มีอำนาจต่อรองกับเขาสูงขึ้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าอันนี้คือเป็นยุทธศาสตร์ที่เราต้องเดินในยุคที่ภูมิรัฐศาสตร์โลกผันผวนแบบปัจจุบัน”