×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

ใครจะชนะ? ศึกชิงเจ้า ‘Chip’ โลก

163

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Youtube | Facebook | TikTokInstagramLine 

 

…ศึกช่วงชิงอำนาจทางเทคโนโลยี ทำให้ ‘Chip’ ตัวจิ๋ว มีพลังเขย่าโลกสะเทือน!

 

…ใครทำอะไรบ้าง ในศึกครั้งนี้? 

 

…ชาติอาเซียน รวมทั้งประเทศไทยอยู่ตรงไหน? และสุดท้ายใครจะเป็น ‘ผู้ชนะ’?  

 

ทำไมใครๆ ก็อยากเป็น ‘ผู้ชนะ’ ใน CHIP WAR

 

เทคโนโลยีที่เราใช้กันทุกวันนี้ล้วนมีชิปเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ รถยนต์ เครื่องบิน อุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

 

เพราะชิปตัวจิ๋วนี่เองที่ทำให้อุปกรณ์เหล่านั้นใช้งานได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในขนาดที่กะทัดรัดมากขึ้น เช่น โทรศัพท์มือถือในปี 1984 หนักประมาณ  1 กิโลกรัม ราคาประมาณ $4,000 (138,000 บาท) และแบตเตอรี่สำหรับสนทนาใช้เวลาได้เพียง 30 นาที แต่วันนี้โทรศัพท์มือถือน้ำหนักแค่เฉลี่ย 100-200 กรัมเท่านั้น พร้อมพลังงานแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานขึ้นมาก 

 

ที่สำคัญ “ชิป” ไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้ เพราะการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ด้วยขนาดที่เล็ก และมีทรานซิสเตอร์ (ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณข้อมูล) หลายพันล้านตัว โดยชิปเหล่านี้ส่วนใหญ่ทำจากเวเฟอร์ซิลิคอน ซึ่งเป็นสารพิเศษที่พบในทราย

 

ถ้าประเทศไหนเป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรมชิป ก็จะดันเศรษฐกิจให้โตขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างการเติบโต และสร้างอิทธิพลในเวทีโลกอย่างไม่ต้องสงสัย

 

CHIP WAR ใหญ่ขนาดไหน?

 

ย้อนกลับไป…ศึกชิปครั้งนี้เริ่มคุกรุ่นขึ้นเพราะความกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำคัญๆ ของจีน และกลายเป็นความตื่นตระหนกเต็มรูปแบบในช่วงโควิดระบาดที่เกิดการขาดแคลนชิปอย่างหนัก ฉายภาพชัดถึงความสำคัญของอุปกรณ์ขนาดเล็กจิ๋วที่มีต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หลังจากนั้นเราจึงได้เห็นการเดินหน้าลงทุนใหม่และกระจายการลงทุนออกไปในหลายประเทศ

 

“สหรัฐฯ” เอาจริงเอาจังกับการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมชิปในประเทศมาก โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ได้ออกกฎหมาย The CHIPS and Science Act จัดเงินสนับสนุนบริษัทชิปรวม 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงยังมีการให้เงินกู้และการการันตีเพิ่มเติมอีกรวม 75,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเครดิตภาษีสูงสุดถึง 25% 

 

การทุ่มหนักครั้งนี้ไม่ได้หวังแค่สู้และหวังสกัดการพัฒนาชิปขั้นสูงของจีนเท่านั้น แต่ยังต้องการอุดช่องว่างกับ “ไต้หวัน” และ “เกาหลีใต้” ที่รัฐบาลทุ่มเทอุดหนุนมานานนับทศวรรษเพื่อปั้นตัวเองเป็นฮับของอุตสาหกรรมชิปโลก

 

ข้ามไปดูฝั่งสหภาพยุโรปก็มีแผนวงเงิน 46,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายกำลังการผลิตในภูมิภาคเช่นกัน มีการประเมินว่า การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมนี้จะมีเม็ดเงินรวมกันสูงกว่า 108,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนโรงงานขนาดใหญ่ 

 

โดย 2 โปรเจ็กต์ยักษ์จะอยู่ใน “เยอรมนี” คือ โรงงานออกแบบชิป (Fab) ของ Intel มูลค่า 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้การอุดหนุนจากรัฐเกือบ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนอีกแห่งคือโรงงานบริษัทร่วมทุน TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Co.) มูลค่าประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเงินลงทุนครึ่งหนึ่งมาจากทุนของรัฐ 

 

ถึงจะลงทุนหนักขนาดนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญก็เตือนว่า การลงทุนแค่นี้อาจไม่พอให้อียูไปถึงเป้าหมายการชิงส่วนแบ่ง 20% ในตลาดเซมิคอนดักเตอร์โลกได้ภายในปี 2030

 

ในฝั่งเอเชีย ต้องเริ่มจากคู่ปรับรายสำคัญของสหรัฐฯ อย่างจีนยังเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งกับการสนับสนุนอุตฯ ชิปในประเทศจีนมีกองทุน Big Fund เป็นกำลังสำคัญสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมชิป

 

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2024 เพิ่งประกาศงบกองทุนเฟส 3 วงเงินรวม 47,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นข่าวดีข่าวใหญ่ทำให้หุ้นบริษัทชิปจีนเด้งรับข่าวถ้วนหน้า

 

สำหรับกองทุน Big Fund เฟสแรกตั้งขึ้นเมื่อปี 2014 วงเงิน 19,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากนั้น 5 ปี ก็มีกองทุนเฟส 2 ด้วยทุน 28,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

เป้าหมายการลงทุนคือยกระดับมาตรฐานอุตฯ เซมิคอนดักเตอร์ สู่ระดับอินเตอร์ภายในปี 2030 โดยเน้นอัดฉีดเงินลงไปในธุรกิจการผลิตชิป, การออกแบบ, อุปกรณ์ และวัสดุต่างๆ

 

กองทุนชิปไม่ใช่แค่การเดินเกมเพื่อรับมือกับการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกเท่านั้น แต่ยังเป็นวิสัยทัศน์ระยะยาวของผู้นำจีนที่ต้องการปั้นให้ประเทศเป็นผู้นำเทคโนโลยีของโลกให้สำเร็จ

 

“ญี่ปุ่น” มีแผนวงเงิน 25,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพลิกฟื้นอุตสาหกรรมชิปให้มาผงาดอีกครั้ง โดยหลังจากประกาศแผนไปเมื่อปี 2021 นับถึงตอนนี้กระจายงบไปแล้วราวๆ 16,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุน เช่น โรงงานผลิตชิป (Foundry) ของ TSMC ในเมือง Kumamoto และ Hokkaido

 

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น Fumio Kishida ตั้งเป้าหมายรวมๆ แล้ว การลงทุนจะมีมูลค่าสูงถึง 64,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมเงินลงทุนจากภาคเอกชนเองด้วย และมีเป้าว่าจะเพิ่มยอดขายชิปที่ผลิตเองในประเทศ 3 เท่า เป็น 96,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030

 

ส่วน “เกาหลีใต้” ที่ผ่านมาหลีกเลี่ยงการอัดฉีดเงินตรงๆ ในสไตล์ของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นมาตลอด แต่ชอบเล่นบทชี้เป้าไปหากลุ่ม Chaebol ที่เงินหนามากกว่า อย่างเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2024 ได้ประกาศแพ็กเก็จสนับสนุนอุตสาหกรรมชิปวงเงิน 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบอกว่าจำเป็นต้องเร่งผลักดันธุรกิจในส่วนของการออกแบบชิป และการรับจ้างผลิตตามสัญญา ท่ามกลางสงครามอุตฯ ชิปโลก 

 

เกาหลีใต้คือถิ่นกำเนิดของบริษัทผลิต Memory Chip ใหญ่ระดับโลกอย่าง Samsung Electronics และ SK Hynix

 

“อินเดีย” ก็มีแผนส่งเสริมบริษัทท้องถิ่นและดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมชิปเช่นกัน ข้อมูลจาก CNBC ระบุว่า ตอนนี้ รัฐบาลอินเดียกำลังพิจารณาข้อเสนอโครงการเซมิคอนดักเตอร์มูลค่ารวมกันประมาณ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และตั้งเป้าว่า จะต้องติดอันดับ Top 5 แหล่งผลิตชิปสำคัญของโลกให้ได้ภายใน 5 ปี

 

ชาติอาเซียน–ไทย อยู่ตรงไหน ในศึกครั้งนี้?

 

กลับมามองประเทศเพื่อนบ้านของไทยกันบ้าง แต่ละประเทศต่างก็พยายามกระโดดเกาะกระแสและหวังไต่ระดับซัพพลายเชนขึ้นไป เพราะนั่นหมายถึงเม็ดเงินมหาศาลที่จะไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 

 

“สิงคโปร์” ตั้งเป้าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศอีก 50% ในช่วงปี 2021-2030 และมีแผนจะเป็นฮับ AI แห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเซมิคอนดักเตอร์เป็นกุญแจสำคัญที่จะพาสิงคโปร์เดินไปสู่เป้าหมายดังกล่าว และตอนนี้การผลิตเซมิคอนดักเตอร์คิดเป็นเกือบ 50% ของกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศ และคิดเป็น 7% ของ GDP ในฐานะชาติแรกในอาเซียนที่เข้าสู่วงการชิป สิงคโปร์มีแต้มต่อเรื่องโครงสร้าง R&D และเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนด้านกิจกรรมธุรกิจที่มีความพิเศษเฉพาะอยู่แล้ว

 

ด้าน “มาเลเซีย” มีแผนที่จะฝึกอบรมวิศวกรเซมิคอนดักเตอร์ท้องถิ่นที่มีทักษะสูงจำนวน 60,000 คน เพื่อเป็น “ศูนย์กลางการผลิตชิประดับโลก” โดยแผนดังกล่าวได้บรรจุภายใต้แผนยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ (NSS) ที่รัฐบาลจะจัดสรรเงินสนับสนุนบุคลากรไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านริงกิต (5.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในระยะ 5-10 ปีต่อจาก

 

ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลกมาตั้งแต่ 5 ทศวรรษมาแล้ว ปัจจุบันมาเลเซียครองสัดส่วน 13% ของตลาดโลก ด้านการบรรจุและทดสอบชิป

 

แม้ “เวียดนาม” จะดูเนื้อหอมในสายตาบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติที่แห่เข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยิ่งรุกหนักหลังต้องการกระจายความเสี่ยงจากตลาดจีน แต่นักวิเคราะห์บางส่วนก็เตือนว่า เส้นทางสานฝันด้านอุตฯ เซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะยังขาดแรงงานที่มีทักษะตรงกับตลาดต้องการ และยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น การขาดไฟฟ้า ที่เป็นอุปสรรคใหญ่ของภาคอุตสาหกรรม

 

สำหรับ “ไทย” นั้น มีศักยภาพจะเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้ โดยต้องดึงดูดการลงทุนด้านการผลิตจากต่างชาติ 

 

ข้อมูลจาก Statista คาดการณ์ว่า ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในไทยจะเติบโตปีละ 8.88% ในช่วงปี 2024-2027 ซึ่งจะทำให้ตลาดมีมูลค่าถึง 13,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2027  ซึ่งไทยมีปัจจัยบวกหลายอย่างที่หนุนให้อุตฯ เติบโต เช่น นโยบายสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาล, ทำเลของประเทศที่เหมาะสม มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านและโลกอย่างสะดวก อีกทั้งมีวิศวกรที่มีทักษะ และที่สำคัญคือ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต้องกระจายฐานผลิตแห่งใหม่ และไทยก็อยู่ในเรดาห์นั้นด้วย 

 

ข้อมูลจากรายงานของธนาคารไทยพาณิชย์ปี 2023 ระบุว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไทย อยู่ในมือของบริษัทต่างชาติ ทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งส่วนใหญ่เน้นที่ Back-end Process ซึ่งทำให้ไทยต้องแข่งขันกับเวียดนามและอินเดีย

 

ชิงส่วนแบ่งในตลาดชิปขั้นสูง คือเป้าหมายสุดท้าย

 

ศึกครั้งนี้ เป้าหมายสุดท้ายที่ประเทศต่างๆ ต้องการ คือการส่วนแบ่งในตลาดชิปขั้นสูง ซึ่งปัจจุบัน ไต้หวันเป็นเจ้าตลาด รองลงมาคือ เกาหลีใต้  ซึ่งในปี 2032 สหรัฐฯ ก็อยากมีส่วนแบ่งในตลาดนี้ซัก 28% และลดส่วนแบ่งตลาดไต้หวันเหลือ 47% ส่วนที่เหลือก็กระจายกันไปให้กับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ยุโรป จีน และประเทศอื่นๆ

 

ศึกชิปโลกครั้งนี้ สุดท้ายใครคือ ‘ผู้ชนะ’ ?

 

ศึกชิปโลกครั้งนี้ ใครจะชนะขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถเดินตามแผนที่วางไว้ได้มากน้อยแค่ไหน มีความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงได้มากแค่ไหน และที่สำคัญไม่แพ้กันคือมีพันธมิตรมากแค่ไหน เพราะสุดท้ายแล้ว คงไม่ได้มีผู้ชนะเพียงรายเดียว แต่อาจวัดกันว่า ใครจะได้ประโยชน์จากเกมนี้คุ้มการลงทุนมากกว่ากัน แต่ที่แน่ๆ 8 ปีนับจากนี้ไต้หวันยังคงครองส่วนแบ่งการตลาดชิปมากที่สุดในโลก 

 

#WealthMeUp

Related Stories

amazon anti fatigue mats