ลดเงินสด = ลดคอร์รัปชัน นับ 1 วันนี้ 5 ปีเห็นผล!
ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…
Youtube | Facebook | TikTok | Instagram | Line
“ถ้าเริ่ม Day 1 วันนี้ ภายใต้สมมติฐานว่า ประเทศไทยมี Strong Leadership และ Regulator เอาด้วย ผมคิดว่า 5 ปี เราได้เห็นหน้าเห็นหลัง ผมมองว่าพฤติกรรมหลายๆ จะเปลี่ยนไป อาจมีวิธีการคอร์รัปชันวิธีการใหม่ๆ เพราะว่าคนหาวิธีการแปลกๆ ในการหาผลประโยชน์ก็มีอยู่เรื่อยๆ แต่พออยู่ในรูปแบบดิจิทัล มี Footprint ผมคิดว่าการตามจับง่ายขึ้น”
คุณสมคิด จิรานันตรัตน์ ผู้ก่อตั้ง Settrade.com และผู้อยู่เบื้องหลังแอปเป๋าตัง และ K-Plus
เบื้องหลังการปั้น Settrade.com
คุณสมคิด คือ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการยกเครื่องระบบซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จากระบบเคาะกระดาน มาเป็นระบบซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์
คุณสมคิดเล่าว่า มีผู้ใหญ่ชวนมาทำงานที่ SET ในปี 1990 ซึ่งตอนนั้นกำลังมีการปรับระบบซื้อขายหุ้นครั้งใหญ่ มีการสร้างระบบซื้อขายหุ้นด้วยคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า “ASSET” (Automated System for the Stock Exchange of Thailand)
“นี่เป็นโปรเจกต์ที่ผมคิดว่าได้เรียนรู้เยอะมาก เพราะเปลี่ยนการซื้อขายหุ้นจากระบบเดิมคือ เคาะกระดาน มาเป็นระบบซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเมื่อก่อน เวลาเราสั่งซื้อขายหุ้น ต้องบอกเทรดเดอร์ ที่จะวิ่งไปเคาะกระดาน บางทีเราไม่รู้ว่า เราจะถึงก่อนหรือเปล่า เราจะได้หรือเปล่า แต่พอเปลี่ยนมาเป็นระบบคอมพิวเตอร์ ทุกคนเชื่อว่า การจับคู่เป็นไปตามคิว เพราะว่าทุกคนจะเห็นข้อมูลเหมือนกันหมดว่า เราถึงคิวหรือยัง เราถึง Volume ที่เราต้องการซื้อขายหรือยัง ระบบมี Track Record คือ ข้อมูลที่เกิดขึ้นทุกอย่างอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์”
คุณสมคิดบอกว่า ปี 1990-1992 เป็นช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะนอกจากสร้างระบบ ASSET แล้ว ก็ยังมีการเปลี่ยนกฎหมายด้วย คือ มีการออกพระราชบัญญัติและตลาดหลักทรัพย์ขึ้นมาใหม่เมื่อปี 1992 ซึ่งทำให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยคอมพิวเตอร์จะต้องเปลี่ยนระบบหลังบ้านให้เป็นระบบ Paperless (ไม่ใช้กระดาษ) หรือ Scripless (ไร้ใบหุ้นหรือไร้ใบหลักทรัพย์) คือ ไม่มีการเอาใบหุ้นมาแลกกันอีกต่อไป แต่จะนำใบหุ้นไปฝากที่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ และตัดบัญชีที่นั่นแทน
“ผมคิดว่านี่เป็น Transformation (การปฏิรูป) ครั้งใหญ่ของตลาดหุ้นไทย ผมได้ศึกษาและเรียนรู้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของการระบบซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ มี 2 คำ คือ Traceability (การตรวจสอบย้อนกลับได้) และ Transparency (ความโปร่งใส)”
คุณสมคิดอธิบายว่า Traceability คือ ข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ มี Footprint อยู่ ดังนั้นจึงสามารถติดตามตรวจสอบข้อมูลอย่างครบถ้วนได้ เช่น ใครสั่งซื้อหุ้น ใครสั่งขายหุ้น เมื่อเวลาเท่าไหร่ มีจำนวนหุ้นเท่าไหร่
“ใครจะปั่น ใครจะทำอะไร เรามีข้อมูลเพียงพอที่จะ Trace และไปตรวจจับความผิดปกติได้”
ส่วน Transparency คือ ความโปร่งใส ทั้งด้านวิธีการซื้อขาย วิธีการจับคู่ ที่มีกฎชัดเจน และระบบคอมพิวเตอร์ต้องทำตามสิ่งที่กำหนด
“ทุกคนเชื่อว่า เมื่อเราส่งคำสั่งซื้อขายไปแล้ว การจับคู่จะเป็นไปตามที่เราคิด ที่เราเข้าใจว่า การซื้อขายจะทำงานแบบนี้ ไม่มีคนเข้าไปเกี่ยวข้อง ข้อมูลถูกส่งไปทั่วโลก ข้อมูล Best Bid, Best Offer Volume ที่เกี่ยวข้อง ทุกคนรับรู้กันหมดทั่วโลก เพราะฉะนั้น ความโปร่งใสชัดเจน เพราะฉะนั้น ผมเห็นว่า ระบบที่เราให้บริการ มี 2 คำนี้ คือ Traceability และ Transparency แล้ว ที่เหลือก็มีวิธีการที่จะจัดการได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเรื่องคอร์รัปชันด้วย”
แจ้งเกิด K-Plus: Mobile Banking อันดับ 1 ของไทย
นอกจากเป็นกำลังหลักของการปฏิรูประบบการซื้อขายหุ้นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว คุณสมคิดยังมีบทบาทสำคัญในการปลุกปั้น “K-Plus” ซึ่งปัจจุบันเป็น Mobile Banking อันดับ 1 ของประเทศไทย
คุณสมคิดเล่าว่า “ก่อนจะมี Mobile Banking เรามี Internet Banking ที่ใช้งานผ่านเว็บเบราว์เซอร์บนคอมพิวเตอร์ แต่ Mobile Banking มีความพิเศษกว่า เพราะเข้าถึงคนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ใครจะทำธุรกรรมกับธนาคาร เมื่อไหร่ และที่ไหนก็ได้”
ที่สำคัญอีกอย่างคือ Mobile Banking มีความปลอดภัยมากกว่า Internet Banking มาจนถึงปัจจุบัน ด้วยวิธีการตั้งระบบรักษาความปลอดภัย
“ปลอดภัยกว่าเพราะสามารถตรวจสอบได้ว่าอุปกรณ์มือถือนั้นเป็นเครื่องของผู้ใช้งานหรือไม่ และสามารถใช้เครื่องมือตรวจสอบทางชีวภาพได้ เช่น ใช้กล้องส่องดูว่าเป็นหน้าคุณจริงหรือเปล่า และสามารถให้คุณกด Code ประจำของคุณ แต่ถ้าเป็น Internet Banking เราก็ใส่ Username และ Password เท่านั้น”
เมื่อถามถึงกุญแจสู่ความสำเร็จของ K-Plus คุณสมคิดตอบว่า คือ การออกแบบให้ใช้งานง่าย และทำให้คนมีความมั่นใจ
“เมื่อคนมั่นใจ และใช้งานได้ง่ายแล้ว ผมเชื่อว่าพอพฤติกรรมคนเริ่มเปลี่ยน ตอนเริ่มเปลี่ยนจะใช้เวลานิดนึง แต่พอเปลี่ยนไปแล้ว คนจะไม่หันกลับไปใช้วิธีการแบบเดิมอีก ยกตัวอย่างผมเอง ที่หลังใช้ Mobile Banking แล้ว ผมแทบไม่ได้ไปสาขาธนาคารเลย และแทบไม่ได้ใช้ Internet Banking ที่เป็นรูปแบบเดิมเลย ส่วนแฟนผมใช้ Internet Banking อยู่ และต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี กว่าจะเปลี่ยนไปใช้ Mobile Banking และเมื่อเปลี่ยนแล้ว ก็ไม่กลับไปใช้ Internet Banking อีกเลย เพราะ Mobile Banking ง่ายและสะดวกกว่า และทำกิจกรรมต่างๆ ได้หลากหลาย”
เส้นทางความสำเร็จแอป “เป๋าตัง”
อาจกล่าวได้ว่า หนึ่งในแรงบันดาลใจในการพัฒนาแอป “เป๋าตัง” มาจากการเดินทางไปประเทศจีน ซึ่งคุณสมคิดทึ่งกับการที่จีนไม่มีการใช้ “เงินสด” เลย ทุกอย่างเป็นการสแกน QR ทั้งหมด แม้กระทั่งการซื้อของที่ตลาดสด หรือว่าให้เงินขอทาน
“ผมคิดว่า เมื่อไหร่บ้านเราจะมีการสแกนแบบแพร่หลายลักษณะแบบนี้บ้าง พอกลับมาเมืองไทย ซึ่งตอนนั้นผมทำงานที่ KBTG (กสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป) ผมก็สร้างแอปเล็กๆ ตัวนึงชื่อว่า K Wallet เป็นการสแกน QR ใช้ภายในธนาคารก่อน ตอนนั้นใช้ในโรงอาหารของธนาคาร ที่ขนาดมีพนักงานของ KBTG ทั้งนั้นและเป็นคนเชี่ยวชาญเทคโนโลยี แต่กลับไม่ได้รับความนิยม เพราะคนไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรม”
จากผลลัพธ์ดังกล่าว คุณสมคิดจึงเรียนรู้ว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมคนต้องมีแรงจูงใจ!
“เราต้องมีแรงจูงใจอย่างอื่น จูงใจทางแม่ค้าที่เอาของมาขาย เราให้แรงจูงใจว่า ต้องทำการซื้อขายผ่าน Mobile Banking อย่างเดียว ต้องมีการสแกน QR อย่างเดียว และเราก็ค่อยๆ ทำให้พฤติกรรมนี้หล่อหลอมพนักงาน KBTG มากขึ้น และผมก็พบว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่เคยชินกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปเป็นเรื่องใหม่ไม่ง่าย ยกเว้นคุณมีแรงจูงใจ”
คุณสมคิดบอกว่า บทเรียนดังกล่าวสะท้อนภาพชัดเจนขึ้นอีกตอนที่มาทำโครงการแอป “เป๋าตัง”
“เราเห็นได้ชัดขึ้นเลยว่า โครงการแรกๆ ‘ชิม ช้อป ใช้’ มีคนใช้งานจำนวนหนึ่ง แต่พอมาถึง ‘คนละครึ่ง’ คนเริ่มนิยมมากเลย เพราะว่ามีแรงจูงใจ คนรู้สึกว่าไปซื้อของแล้ว ของราคาถูกลงครึ่งหนึ่ง บางคนห่วงว่า แม่ค้าอายุมากๆ หรือคนที่ใช้จ่ายอายุมากๆ จะใช้เป็นไหม ปรากฎว่า เขาอยากใช้ เขาอยากจะออกจากบ้านและรู้สึกว่า วันนี้ฉันไปซื้อของราคาถูก คนกลุ่มนี้อาจ Setup เองไม่เป็น ต้องให้ลูกหลานทำให้ แต่เขาใช้จ่ายเป็นจนรู้สึกภูมิใจที่ใช้จ่ายแบบนี้ได้”
คุณสมคิดบอกว่า โครงการ “คนละครึ่ง” ทำให้รู้สึกว่า ไทยขยับเข้าไปใกล้ๆ ประเทศจีนแล้ว เพราะทำให้เห็นว่า คนไทยสแกนทุกที่เหมือนกัน
“แม้กระทั่งคนขายส้มรถเข็น หมูปิ้ง ซึ่งเรามองว่า เขาเป็นคนไม่น่ารู้เรื่องเทคโนโลยี เขากลับใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว รวมทั้งบางอย่าง เขาเป็นคนบอกเราด้วยซ้ำว่า การโอนเงินจากบัญชีมาเข้า Wallet ต้องทำยังไง เพื่อจะใช้จ่ายคนละครึ่ง พวกนี้ถือว่า พอใช้จ่ายทุกวัน ก็คล่องมาก”
คุณสมคิดมองว่า การที่ไทยทยอยทำโครงการแบบนี้ไปทีละโครงการทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้ และปรับแก้จุดอ่อน เพื่อพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ
“ผมคิดว่า เราโชคดีแต่ละโครงการไม่ได้เข้ามาเป็นแบบ Big Bang แต่เข้ามาทีละหย่อม ทีละหย่อม เช่น โครงการแรก คือ ‘ชิม ช้อป ใช้’ ตอนเริ่มต้นมีคนใช้งานประมาณ 6-7 ล้านคน เพราะได้เงินไม่มาก และการใช้งานช่วงแรกมีปัญหาเยอะ วันแรกระบบล่มเลย ก็ต้องมานั่งซ่อมคืนนั้นเลยว่า จะซ่อมยังไง แก้ยังไง ปรับดีไซน์ยังไง จากนั้น “โครงการคนละครึ่ง” แรกๆ ก็ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไหร่ เพราะว่าคนยังไม่คุ้นเคย มีคนใช้ประมาณ 10 ล้านคน แต่คนละครึ่งมีหลายเฟส จาก 10 กว่าล้านคน มาเป็น 15 ล้านคน 20 ล้านคน 30 ล้านคน ค่อยๆ มีเวลาให้เราปรับตัว แก้ไขโครงสร้างในการออกแบบให้รองรับคนจำนวนที่มากขึ้นได้ และมาถึง “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่มีเงื่อนไขเพิ่มมากขึ้น เช่น คุณจะใช้ในจังหวัดที่คุณอยู่ไม่ได้ คุณต้องออกนอกจังหวัด คือ ต้องไปเที่ยว ไม่ใช่ว่าอยู่ในกรุงเทพ และไปใช้ในกรุงเทพ แต่คุณต้องออกนอกกรุงเทพ และไปใช้ที่อื่น ตอนที่ใช้จะต้อง Check In ก่อน ถึงจะมีเงินเข้าในกระเป๋าของคุณ เสร็จแล้วถึงจะไปใช้ได้ต่อวันต่อวันในร้านค้าที่กำหนดไว้”
คุณสมคิดบอกว่า บทเรียนจากโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” คือ ทำให้รู้ว่าสามารถกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ได้ เช่น ที่อยู่ และสถานที่ Check In ซึ่งล้วนใช้เทคโนโลยีช่วยในการตรวจสอบได้
“โครงการของรัฐเป็นตัวจุดประกายให้เรารู้ว่า ‘แอปเป๋าตัง’ ทำอะไรได้มากกว่านี้ เราคิดว่าน่าจะไปใช้เรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์ เช่น ออกแบบเป๋าตังให้มีการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเรียกว่าเป็น ‘วอลเล็ต สบม.’ โดยก่อนหน้านั้น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลจะต้องใช้เวลา 15 วัน เพราะต้องจองก่อน เพื่อดูว่าคนที่จะจองมีมากน้อยแค่ไหน และจะให้ใครดี ต้องใช้เวลา 15 วันจึงจะได้ Passbook และส่วนใหญ่คนทั่วไปจองมักจะไม่ได้ เพราะเป็นรายเล็ก แบงก์จะดูว่า ใครเป็นลูกค้ารายใหญ่ ใครเป็นลูกค้าที่เอื้อประโยชน์ให้เขามากกว่า เขาก็จะให้ลูกค้ารายใหญ่ก่อน แต่วอลเล็ต สบม.ทำให้การซื้อขายพันธบัตรเท่าเทียมกันหมดสำหรับทุกคน เป็นการสร้างความเท่าเทียมด้านการลงทุน”
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้คนอายุน้อยสามารถลงทุนได้ด้วย โดยวอลเล็ต สบม. อนุญาตให้คนอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลได้ โดยลงทุนต่ำสุดแค่ 100 บาท
“เมื่อคนอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปลงทุนได้ เขาก็มองว่า พันธบัตรรัฐบาลเป็นเหมือนเงินออมอย่างหนึ่ง อันนี้เป็นพฤติกรรมอันใหม่ที่สร้างขึ้นมา ส่งผลให้การกระจายทรัพย์สินต่างๆ ไปยังผู้ที่ต้องการทั่วประเทศทำได้ดีขึ้น ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่า เอื้อให้เกิดเรื่องอื่นๆ ตามมา เช่น การเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายทองคำ โดยปัจจุบัน มีผู้ค้าทองคำหลายรายให้บริการบนแพลตฟอร์มนี้”
ยิ่งไปกว่านั้น คุณสมคิดยังดีใจกับผลงานชิ้นเอกของ “แอปเป๋าตัง” คือ การแก้ปัญหาการขายลอตเตอรี่เกินราคาได้อยู่หมัด
“สิ่งที่ผมดีใจ แต่ผมไม่ได้เป็นคนทำ คือ สามารถแก้ปัญหาที่เราพยายามแก้มาหลายปีได้สำเร็จ คือ การขายลอตเตอรี่ในราคา 80 บาท เมื่อก่อนนี้ เราก็บอกว่า ทำไมลอตเตอรี่แก้ไม่ได้ จะไปบังคับให้คนขายลอตเตอรี่ขายในราคา 80 บาทก็ทำไม่ได้ เพราะโครงสร้างต้นทุนของคนกลางระดับ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว คนอยู่ระดับล่างๆ ต้นทุนสูงกว่า 80 บาทแล้ว ดังนั้นการให้เขาขาย 80 บาท เป็นไปได้ยาก แต่เมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้โครงสร้างต้นทุนอยู่ภายใน 80 บาทได้”
พลังของเทคโนโลยี
คุณสมคิดมองว่า ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีหลายอย่างที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใช้งานในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง เช่น เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งออกแบบระบบที่สามารถให้บริการโดยไร้ตัวกลางได้ เพราะว่าข้อมูลสามารถอยู่แบบกระจายในที่ต่างๆ ได้ และไม่จำเป็นต้องมีเจ้าของระบบนั้นเพียงคนเดียว ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางคนเดียว ก็สามารถออกแบบระบบที่ให้บริการที่สามารถติดตามความเป็นมาของเรื่องต่างๆ ได้
“ยกตัวอย่างเช่น ผมทำระบบรักษาความปลอดภัยของ Digital Signature ซึ่ง Digital Signature อาจจะมีคนใช้บริการเยอะ เราก็บอกว่า Digital Signature นี้มาใช้ใน Blockchain เพราะ Blockchain รับประกันเรื่องความปลอดภัยและความถูกต้อง รับประกันว่าข้อมูลที่เข้าไปอยู่ใน Blockchain แล้ว มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้นการเอา Digital Signature ไปใส่ใน Blockchain ทุกคนก็ให้ความเชื่อมั่นได้เหมือนกันหมด อันนี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วสามารถประยุกต์ใช้ Blockchain ได้หลายอย่าง”
อีกเทรนด์สำคัญมากสำหรับอนาคตในมุมมองของคุณสมคิดคือ “Artificial Intelligence หรือ AI” ซึ่งมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
“ผมยังนึกอยู่เลยว่า ทำไม AI จึงพัฒนาได้เร็วขนาดนี้ เก่งขนาดที่ว่า คนไปปรึกษาและพูดคุยกับ AI ได้ และ AI คุยกับเรารู้เรื่อง หรือบางเรื่อง เราไม่รู้ แต่พอเราไปถาม AI มันก็ให้คำตอบ โดยที่เราสามารถจะทำตามที่ AI บอกได้ ผมคิดว่า AI อาจจะรู้เยอะกว่าคนเรา เพราะสามารถไปอ่านข้อมูล รวบรวมข้อมูลได้จากหลากหลายที่ทั่วโลก เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า AI น่าจะเป็นตัวประกอบสำคัญในการออกแบบเทคโนโลยีอนาคต โดยปัจจุบัน AI เก่งขนาดที่จะไปผสมผสานกับ Traditional Programmer (โปรแกรมเมอร์ทั่วไป) ได้ ทั้งนี้ ตามปกติ AI คือสิ่งที่ Data Scientist (นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล) เป็นคนคิด ปัจจุบัน ข้อมูลที่ Data Scientist เป็นคนคิดเข้ามาอยู่ใน Programming ธรรมดา ที่โปรแกรมเกอร์ทั่วไปสามารถเอามาใช้ได้ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่า อีกไม่นาน การใช้งาน AI จะถูกประยุกต์ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้นกว่าเดิมอีก และผมคิดว่า ใครที่ไม่ได้เอา AI มาใช้ หรือประเทศที่ไม่ได้เอา AI ก็จะเป็นประเทศ หรือจะเป็นบริษัท หรือจะเป็นคนที่ค่อนข้างไม่ทันโลก ไม่ทันกิน Productivity ก็จะแย่ลง”
———————————————
“ประเทศที่ไม่ได้เอา AI มาใช้ Productivity ก็จะแย่ลง”
———————————————
คุณสมคิดยังมองต่อไปว่า บางทีในอีก 3-4 ปีข้างหน้า อาจจะไม่ใช่ Digital Economy แล้ว แต่อาจจะเป็น AI Economy เพราะว่าใครไม่ใช้ AI จะเรียกว่า ล้าหลังคนอื่นแน่ๆ
ลดเงินสด ลดคอร์รัปชัน?
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า การใช้ระบบดิจิทัล การใช้เทคโนโลยี การไม่ใช้เงินสด สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่ “การลดคอร์รัปชัน” ได้อย่างไร?
คุณสมคิดชวนให้ย้อนมอง “หน้าที่” ของ “เงินสด” ว่าคืออะไรในอดีต…และปัจจุบัน
“เมื่อก่อนเราไม่มีเทคโนโลยีมาก เรามีเงินสดเป็นตัวแทนในการแลกซื้อสินค้า แต่ปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยี เราสามารถนำสิ่งที่อยู่ในรูปดิจิทัลไปแลกซื้อสินค้าและบริการได้…ต้องถามว่า เงินสดที่ใช้เยอะอยู่ ใช้ที่ไหน เท่าที่ทราบพบว่า คนบางกลุ่มยังใช้เงินสดอยู่ ที่ใช้เยอะจริงๆ อยู่บริเวณชายแดน ตลาดมืด และในเรื่องที่ไม่ตรงไปตรงมา”
คุณสมคิดอธิบายต่อว่า ปัจจุบัน เงินสดเป็น “เครื่องมือในการตัดตอน” โดยยกตัวอย่างว่า หากตนเองเป็นคนทำธุรกิจไม่สุจริตก็จะไม่ให้ใครโอนเงินเข้าบัญชีของตัวเองอย่างแน่นอน แต่จะหาวิธีตัดตอนแทน
“คนทำธุรกิจไม่สุจริตก็จะไปหาบัญชีที่เป็นบัญชีม้า ให้คนโอนเงินเข้าไม่รู้ว่าบัญชีเป็นของใคร เพราะไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ของผู้รับเงิน และเมื่อถอนเงินออกมาเป็นเงินสดก็ไม่มีใครรู้ว่าคนรับเงินสดตัวจริงเป็นใครกันแน่…เงินสดมีสภาพคล่องสูงมาก เอาไปใช้ที่ไหนก็ได้ เอาไปฟอกได้”
———————————————
“เมื่อก่อน เงินสดสำคัญ แต่ปัจจุบันเป็นเครื่องมือทำให้เกิดคอร์รัปชัน”
———————————————
คุณสมคิดกล่าวต่อว่า เมื่อก่อน เงินสดสำคัญ แต่ปัจจุบันมีความสำคัญลดลง และเป็นเครื่องมือทำสิ่งที่ไม่สุจริต ทั้งคอร์รัปชัน อาชีพที่ไม่สุจริต อาชีพในตลาดมืด อาชีพที่ผิดกฎหมาย พร้อมบอกว่า คนไทยยุคปัจจุบันมีพฤติกรรมใช้เงินรูปแบบดิจิทัลกันอย่างแพร่หลาย หากอยากพิสูจน์ ก็แนะนำให้ลองเดินทางไปต่างจังหวัด และลองดูว่า ถ้าไม่มีกระเป๋าตังค์ ไม่มีเงินสด จะอยู่รอดได้มั้ย ซึ่งจากประสบการณ์ของคุณสมคิดเอง พบว่า “รอด!”
“ผมทดลองไปกินก๋วยเตี๋ยวในร้านเพิงเล็กๆ ถามเขาว่า ผมไม่ได้เอาเงินสดมา จ่าย Mobile Banking ได้มั้ย ร้านก็ให้ QR มาเลย แสดงว่า กรรมวิธีการใช้จ่ายโดยไม่ใช้เงินสดแพร่หลายมากๆ แล้ว ไปถึงรากหญ้าแล้ว”
“ตรงนี้ต้องถามผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ที่มีหน้าที่พิมพ์ธนบัตรว่า ทำไมยังมีการใช้เงินสดมากอยู่ ทั้งๆ ที่การจัดการเงินสดทุกวันนี้มีต้นทุนสูงมากๆ คนที่รับภาระต้นทุนคือประชาชนทั่วไป ซึ่งถ้ามีการวางแผนดีๆ ต้นทุนตรงนี้สามารถจัดการได้ ทำให้หายไปได้”
แม้ว่าคุณสมคิดจะเห็นชัดเจนว่า การใช้จ่ายแบบไม่ใช่เงินสดแพร่หลายไปถึงคนระดับรากหญ้าแล้ว แต่ก็ยอมรับว่า ยังมีคนระดับล่าง ที่มีทรัพยากรน้อย ไม่มีมือถือ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการดิจิทัลได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้นไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยต้องตัด “เงินสด” เลย แต่แนะนำให้เพิ่ม “ต้นทุนเงินสด” เพราะการจัดการเงินสดมีต้นทุน
———————————————
อยากลดการใช้เงินสด ต้องเพิ่ม “ต้นทุนเงินสด”
———————————————
“เราไม่ได้เพิ่มต้นทุนให้คนระดับล่าง แต่เราจะเพิ่มต้นทุนสำหรับคนที่ถอนเงินสดมากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันไม่มีการกำหนดตรงนี้ คุณจะถอนเท่าไหร่ก็ได้ แต่ถ้าเรามีข้อจำกัด เช่น กำหนดวงเงินที่ถอนต่อวัน และเพิ่มต้นทุนตรงนี้ ก็จะทำให้การใช้เงินสดลดลงโดยอัตโนมัติ เพราะต้นทุนที่สูงขึ้น และด้วยข้อจำกัดของการกำกับดูแล”
คุณสมคิดแสดงความคิดเห็นต่อว่า เงินสดเป็นเครื่องมือในการคอร์รัปชัน แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อไม่มีเงินสดแล้วจะไม่มีคอร์รัปชัน แต่เป็นการลดความสะดวกในการทำคอร์รัปชันต่างหาก
“ปัจจุบัน การทำคอร์รัปชัน มีการส่งเงินเป็นกิโลกรัม ซึ่ง 1 กิโลกรัมเท่ากับ 1 ล้านบาท ความไม่สะดวกตรงนี้จะทำให้การคอร์รัปชันลดลง แต่อาจไม่ลดลงทันที แต่อย่างน้อยเรามี Traceability มี Footprint มี Record ที่สามารถติดตามได้ และเราสามารถสร้าง Transparency ได้”
โดยเมื่อ Footprint และ Transparency ก็จะสามารถใช้เทคโนโลยี และ AI ไปตามจับได้ และการตามจับจะง่ายขึ้นกว่าตอนที่มี “เงินสด” จำนวนมาก
“สมมติว่า คุณไม่สามารถหาเงินสดจำนวนมากในการไปส่งส่วย หรือทำคอร์รัปชัน คุณก็ต้องหาอย่างอื่นแทน สินทรัพย์อย่างอื่น อาจเป็นทอง คริปโตฯ ที่คิดว่า Track ไม่ได้ ไม่มี Footprint ตามไม่ได้ หรือถ้าคุณไม่มีช่องทางนั้น คุณก็ต้องใช้วิธีการโอนบัญชี ต้องมีความเสี่ยงในการโอนเข้าบัญชี อาจเป็นบัญชีปลอม แต่การถอนเงินสดไม่สะดวกแล้ว เราสามารถไป Track ว่า เงินส่งไปที่ไหน ค้างอยู่ตรงไหน”
ส่วนใครที่บอกว่า ถ้ามี “เงินสด” อยู่ในท้องตลาดอยู่แล้วจำนวนมาก ก็เอาเงินสดที่ค้างอยู่ในระบบมาใช้ในการคอร์รัปชันได้เช่น บางคนอาจมีเงินสดเก็บอยู่ที่บ้านนานแล้วเป็นร้อยๆ ล้าน
คุณสมคิดได้ยกตัวอย่างวิธีแก้ปัญหานี้ว่า “ในบางประเทศ เช่น อินเดียเคยประกาศให้เงินสดหมดอายุ โดยแจ้งล่วงหน้าว่า ธนบัตรรุ่นนี้จะหมดอายุ ให้ประชาชนนำมาแลกเป็นธนบัตรรุ่นใหม่ เมื่อคนเอามาแลก หรือเอาเงินมาเข้าบัญชี ก็จะถูกถามว่า เงินมาจากไหน วิธีการนี้ทำให้คนรู้สึกว่าไม่สะดวก และรัฐเอาจริง มีการตาม Track จริงๆ เมื่อคนไม่สามารถใช้เงินสดได้สะดวก ไม่สามารถเก็บได้นาน ก็เชื่อว่าคอร์รัปชันจะลดลง”
ลด “เงินสด” ลด “คอร์รัปชัน” เป็นไปได้แค่ไหนในประเทศไทย?
คุณสมคิดมองว่า การลด “เงินสด” เพื่อหวังให้การคอร์รัปชันลดลงตามไปด้วย ต้องอาศัย Strong Leadership และ Strong Regulator คือ ผู้นำและฝ่ายกำกับดูแลต้องเข้มแข็ง
“ผมก็ไม่แน่ใจว่า ผมจะได้เห็นไหม ผมพูดในมุมของ Concept คนออกแบบเทคโนโลยี ที่มองว่าถ้ามันมี Traceability (การตรวจสอบย้อนกลับได้) และ Transparency (ความโปร่งใส) และเกิด AI Economy มันสามารถตามจับได้ เพราะทุกอย่าง Track (ติดตามร่องรอย) ได้ Audit (ตรวจสอบ) ได้ มีข้อมูลที่คนทั่วไปสามารถเห็น และคนทั่วไปมาช่วยตามจับได้ เราก็มี Data Scientist เก่งๆ ในประเทศเยอะแยะ ที่สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไป Detect (ตรวจจับ) สิ่งที่ผิดปกติได้ ถ้าเป็นแบบนั้น เชื่อว่าการตามจับง่ายขึ้น”
“แต่ว่าประเทศไทย ใครจะกล้าทำ ทั้ง Leadership และ Regulator อันนี้ผมคิดว่า มันก็ต้องถามเค้าเรื่อยๆ ผมเชื่อว่า หลายคนใน Regulator ก็อยากทำ แต่ถ้าทำแล้ว ไม่ได้รับ Support (สนับสนุน) จากฝ่ายการเมือง เค้าก็ทำไม่ไหว เพราะว่าทำไปแล้ว จะมีเสียงหนึ่งเสียงใหญ่ที่จะต่อต้าน จะมีแรงต้านแน่นอน เพราะฉะนั้นต้องมี Political Will (เจตจำนงทางการเมือง) และ Strong Regulator (ฝ่ายกำกับดูแลที่เข้มแข็ง) ด้วย”
ประเทศไทยบนเส้นทาง “ลดเงินสด”
คุณสมคิดเชื่อว่า ความพยายามลด “เงินสด” จะต้องเผชิญกับแรงต้านอย่างแน่นอน เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ของสิ่งที่คนรู้สึกว่า “ดีอยู่แล้ว” และจะตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเปลี่ยน?
“ปัจจุบัน ประเทศไทยมีปัญหาสะสมหมักหมมจำนวนมาก ผมคิดว่า เราต้องมองไปข้างหน้าในอนาคต 5-10 ปี เราจะผลักดันประเทศไทยไปทางไหน เราจะใช้เทคโนโลยี หรือไม่ใช้เทคโนโลยี ถ้าเราจะใช้เทคโนโลยี เราจะไปสุดแค่ไหน ถ้าเราบอกว่า เราต้องไปแบบสุด”
เมื่อพูดถึงเทคโนโลยี คุณสมคิดพูดชัดว่า ปัจจุบัน ด้าน Mobile Banking ประเทศไทยอยู่ในระดับแถวหน้าของโลก และมีการพัฒนาอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่อง AI ที่ถือเป็นเทรนด์ของโลกนั้น ไทยจะก้าวไปได้ไกลถึงระดับไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเอาจริงแค่ไหน
“คุณเอาจริงไหม ถ้าคุณเอาจริง คุณมองไป 5-10 ปี และคุณคิดว่า AI ต้องมา คิดว่าสังคม Digital Economy ต้องมา AI Economy ต้องมา มันไม่มีทางเลี่ยง คุณต้องลดกิจกรรมทางกายภาพให้มากขึ้น กิจกรรมทางกายภาพคือ การทำธุรกรรมโดยต้องเจอหน้ากัน สามารถลดได้ เพราะเพราะสามารถทำออนไลน์ได้ ส่วนเรื่องเงินสามารถทำกิจกรรมทางออนไลน์ ส่งเงินให้คุณได้ โดยที่ไม่มีข้อติดขัดเลย เทคโนโลยีไปถึงแล้ว จะห่วงอะไร แม้บางคนจะห่วงว่า ถ้าใช้เทคโนโลยีหมดจะมีปัญหา Security (ความปลอดภัย) มั้ย ระบบจะล่มไหม จะดีไซน์ยังไงให้เกิดสมดุลระหว่าง Transparency (ความโปร่งใส) และ Privacy (ความเป็นส่วนตัว) อันนี้เป็นเรื่องของการออกแบบ แต่ก่อนอื่น เราต้องคิดว่า อนาคตเราจะไปแบบไหน และไปแล้วมีปัญหาแน่นอน แต่เป็นปัญหาที่แก้ไขได้”
นับ 1 ประเทศไทย สู่ AI Economy – ลดคอร์รัปชัน
คุณสมคิดมั่นใจว่า หากประเทศไทยตั้งธงจริงจังที่จะก้าวสู่การเป็น AI Economy โดยมีผู้นำและฝ่ายกำกับดูแลที่เข้มแข็ง ก็จะประสบความสำเร็จตามเป้าอย่างแน่นอน
———————————————
“นับ 1 วันนี้ อีก 5 ปี AI Economy ทำได้”
———————————————
“ถ้าเริ่ม Day 1 วันนี้ ภายใต้สมมติฐานว่า ประเทศไทยมี Strong Leadership (ผู้นำเข้มแข็ง) และ Regulator (ฝ่ายกำกับดูแล) เอาด้วย ผมคิดว่าอีก 5 ปี ได้เห็นหน้าเห็นหลัง โดยหลายๆ พฤติกรรมจะเปลี่ยนไป อาจมีวิธีการคอร์รัปชันวิธีการใหม่ๆ เพราะว่าคนที่จะต้องหาวิธีการแปลกๆ ในการหาผลประโยชน์ก็มีอยู่เรื่อยๆ แต่พอมี Footprint แล้ว พออยู่ในรูปแบบดิจิทัลหมดแล้ว ผมคิดว่าการตามจับง่ายขึ้น”
คุณสมคิดยังแนะนำให้มองภาพทั้งกระบวนการ เพราะหากคิดเปลี่ยนจริงๆ ไม่ใช่เปลี่ยนแค่ “เงินสด” กับการที่ไม่ต้องเจอหน้ากัน เพราะ 2 เรื่องนี้ คือ Digital ID and Digital Money แต่ต้องดูเรื่องอื่นประกอบให้ครบ เช่น Digital Paper และ Digital Asset
โดยอธิบายเรื่อง Digital Paper (เอกสารดิจิทัล) ว่าทำให้คนรู้สึกว่า ไปไหนมาไหนไม่ต้องพกเอกสารติดตัว เพราะมีข้อมูลส่วนตัวอยู่ตามที่ต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่ง Digital Paper จะช่วยให้การดำเนินการหลายอย่างเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น
“การมี Digital Paper หมายความว่า ผมสามารถร้องขอข้อมูลของผมตามที่ต่างๆ ได้ ข้อมูลการรักษาพยาบาลก็อยู่ที่โรงพยาบาล อยากให้มีการรับรองหรือย้ายโรงพยาบาล ก็มีสิทธิขอข้อมูลจากโรงพยาบาล ข้อมูล Transcript (ผลการเรียน) ก็ต้องให้สถาบันการศึกษาสามารถออกเอกสารในรูปแบบดิจิทัลได้ และมี Digital Signature เพื่อคนที่ได้รับเอกสารเชื่อได้ว่าเป็น Transcript ฉบับแท้ ไม่ใช่ Transcript ที่ปลอมลายเซ็น และมีอีกหลายเรื่องที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ เช่น ผมไปขอกู้เงิน ถ้าสมมติมีบริษัทเล็กๆ และใช้ระบบ Cloud ERP (ระบบบริหารจัดการบัญชีและการเงินองค์กร) ต้องการขอกู้เงิน ก็ขอให้บริษัท ERP รับรองรายได้ของบริษัทที่ยื่นกู้ เมื่อธนาคารเห็นรายได้ ก็ยอมปล่อยกู้ แต่ขอให้ ERP หักรายได้เป็นเปอร์เซ็นต์และส่งให้ธนาคาร ทำให้การขอกู้ง่ายขึ้น และความเสี่ยงน้อยมาก”
ส่วน Digital Asset คุณสมคิดอธิบายว่า ไม่ได้หมายถึง สินทรัพย์ดิจิทัล หรือเหรียญดิจิทัลที่ไม่มีหลักประกัน แต่หมายถึง สินทรัพย์กายภาพที่แปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล
“ยกตัวอย่างเช่น คนเรียนจบใหม่ๆ อยากซื้อบ้าน จะเก็บเงินยังไงให้ซื้อบ้านได้ ซึ่งเรื่องนี้สามารถทำได้ถ้ามีคนไปรวบรวมบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และแปลงให้อสังหาฯ เป็น Digital Asset คนซื้อสามารถซื้อได้เป็นตารางเมตร โดยเริ่มซื้อได้ตั้งแต่วันนี้ และซื้อเพิ่มไปเรื่อยๆ จนเมื่อเวลาผ่านไป 5-10 ปี อาจได้พื้นที่ 30 ตารางเมตร ก็สามารถนำ Digital Asset 30 ตารางเมตรไปแลกเป็นบ้านได้ ซึ่งตรงนี้ต้องมีการจัดการว่า สามารถนำ 30 ตารางเมตรไปแลกเป็นบ้านระดับไหนได้บ้าง และหากไม่ได้ต้องการซื้อบ้านจริงๆ ก็สามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาขายได้ ซึ่งสินทรัพย์ที่เป็นอสังหาฯ เก็บเป็นสิบปีก็มีมูลค่าสูงขึ้น”
คุณสมคิดย้ำว่า สำหรับเรื่องเหล่านี้ ต้องมีการคิด วางแผน และพิจารณาดูว่า อนาคตของประเทศไทยจะต้องการแค่ไหน “ผมคิดว่า เราไปได้ แต่ถ้าเราไม่วางแผน ไม่ออกแบบ เราก็จะวนอยู่ที่เดิม”
เมื่อถามว่า วันนี้…ถือว่า “ไทย” นับ 1 ได้หรือยัง?
คุณสมคิดได้อธิบายแจกแจงทีละประเด็นว่า สำหรับเรื่อง Digital ID ตอนนี้มีความพร้อมอยู่ที่ 80-90% เพราะไทยมีแพลตฟอร์มใหญ่ๆ เช่น แอปเป๋าตัง มีคนใช้บริการ 40 ล้านคน K-Plus 20 กว่าล้านคน รวมถึงยังมีแอป SCB Easy และ BBL ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถแปลงเป็นผู้ให้บริการ Digital ID ได้ เนื่องจาก สถาบันการเงินมีระบบพิสูจน์ตัวตน (Identity Proofing) ที่มีมาตรฐานสูง หรือถ้าเทียบกับมาตรฐานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรียกว่า IAL ระดับ 2.3 ขึ้นไป (Identity Assurance Level 2.3) ซึ่งมีความน่าเชื่อถือเท่ากับการเปิดบัญชีธนาคาร คือ ต้องมีพิสูจน์ทางชีวภาพบางประการ
“สำหรับเรื่อง Digital ID ถ้าต่อยอดจากปัจจุบัน ผมคิดว่าทำได้เลย นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยมีวิธีการทำ Face Recognition (ระบบจดจำใบหน้า) หมายความว่า เราไม่จำเป็นต้องเอารูปจากบัตรประชาชนไปที่สาขาธนาคาร แต่เราส่งรูปเซลฟี่ไปให้กระทรวงมหาดไทย ซึ่งกระทรวงมีรูปที่เหมือนในบัตรประชาชนเรา จากนั้นกระทรวงทำ Face Recognition และส่งคำตอบกลับมาให้เรา ตอนนี้กระทรวงมหาดไทยยังไม่ให้บริการแก่เอกชน แต่คิดว่าให้บริการกับภาครัฐบางแห่งแล้ว ซึ่งตรงนี้ ผมคิดว่า Digital ID เราไปได้”
สำหรับด้าน Digital Money ประเทศไทยมี Mobile Banking ซึ่งถือเป็น Digital Money ที่อยู่ในเครือข่ายของธนาคาร เพราะคนที่ต้องการโอนเงินต้องทำผ่านเครือข่ายของธนาคาร หากคนนอกจะสร้าง Wallet โอนเงินให้อีกธนาคารก็ต้องอาศัยธนาคารใดธนาคารหนึ่งเป็นตัวกลางส่งไปอีกธนาคาร
“แต่ถ้ามองไปข้างหน้า เราสามารถสร้าง Network เครือข่ายอีกอันหนึ่งได้ ที่ไม่ได้อาศัยธนาคารเป็นตัวกลาง เช่น ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกพยายามทำ CBDC (Central Bank Digital Currency) ซึ่งเป็นการเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลางที่เป็นธนาคารก็ได้ เป็นการสร้างเครือข่ายใหม่ และถ้าสร้างดีจริงๆ CBDC สามารถทำให้เป็น Smart Money ได้ คือไม่เหมือนกับเงินทั่วไป Smart Money หมายความว่า เราใส่เงื่อนไขเข้าไปได้ เช่น เงินก้อนนี้ Wallet ใหม่นี้ สามารถใช้ในกิจกรรมแบบใดแบบหนึ่งได้ เหมือนกับที่เป๋าตังทำกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แต่ CBDC ที่รับรองโดยธนาคารแห่งประเทศไทย แปลว่า ความมั่นใจเทียบเท่าเงินสด ไม่มีทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะล้ม แต่เงินที่เราไปฝากธนาคาร หรือเงินที่อยู่ใน Wallet ของใคร ถ้าเกิดเจ้าของธนาคาร หรือ Wallet มีปัญหาขึ้นมา เงินเราก็หายไปด้วย แต่ถ้าเป็น CBDC เทียบเท่าเงินสด คือ ไม่หาย”
“การทำเรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยพลังเยอะเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ต้องอาศัย Leadership ที่ Strong และเข้าใจ อาศัย Regulator ที่เข้าใจ และ Willing (ปรารถนาจะทำ)”
คนไทยต้องเท่าทันเทคโนโลยีแค่ไหน?
สำหรับประเด็นนี้ คุณสมคิดชวนให้ย้อนคิดถึงคำถามเดิมคือ “ประเทศไทยในอนาคตจะไปแบบไหน”
“สำหรับประชาชน ผมเชื่อว่า ถ้ามีแรงจูงใจที่ดีพอ เค้าก็สามารถใช้เทคโนโลยีได้ เราเห็นตัวอย่างมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน คนรากหญ้าก็ใช้ได้ แต่ว่าในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ก็ต้องมีคนมา Educate (ให้ความรู้) ว่า นี่ต้องระวังเรื่องนั่นเรื่องนี้ อย่าไปกดลิงค์ที่อยู่ใน SMS นะ และมีวิธีการป้องกัน มีความเอาจริงเอาจังทั้ง Regulator และคนที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีอย่างดีก็ต้องมาช่วยกันป้องกัน”
คุณสมคิดย้ำทิ้งท้ายว่า ในโลกแห่งเทคโนโลยี ไม่ว่าไทยจะเดินไปทางไหนก็ย่อมเจออุปสรรค แต่ก็เชื่อมั่นว่า จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างแน่นอน
“ผมคิดว่า อยู่ที่ว่า “ธงเราอยู่ที่ไหน?” และปัญหาอุปสรรคมีแน่ๆ แต่เราแก้ได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อน เรานั่งรถม้า ตอนรถม้าเปลี่ยนเป็นรถยนต์ก็มีอันตราย มีอุบัติเหตุ มีการชนกัน มีอุบัติเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิต แต่ทำไมวันนี้ เราจึงใช้รถยนต์ได้ เทคโนโลยีก็เหมือนกัน เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็เหมือนกัน มีปัญหา มีอุปสรรค มีความเสี่ยง แต่เราเดินไปข้างหน้าได้ เราแก้ปัญหาได้”