×

Wealth Me Up ข่าวสั้น ทันเศรษฐกิจ

เงินน้อยก็เกษียณสบายได้ แค่เริ่มลงทุนวันละ 1O บาท

77

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย

Youtube | Facebook | TikTokInstagramLine 

 

ใครๆ ก็ฝันถึงชีวิตวัยเกษียณที่สุขสบาย มีเงินใช้ยามแก่เฒ่า แต่เมื่อมองย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้น หลายคนกลับท้อใจเพราะรายได้น้อย เงินเดือนแค่หลักหมื่นต้นๆ บางคนยังมีภาระหนี้สิน หรือต้องดูแลครอบครัว จนอดคิดไม่ได้ว่า “จะเก็บเงินได้อย่างไร”

 

แต่อย่าเพิ่งท้อ “ลงทุนนิยม เกษียณ The Series” พูดคุยกับคุณราชันย์ ตันติจินดา นักวางแผนการเงิน CFP® จะมาไขความลับว่า เราจะเปลี่ยนเงินหลักสิบ หลักร้อย ให้กลายเป็นเงินหลักแสน หลักล้านได้อย่างไร แม้จะเริ่มต้นจากเงินก้อนเล็กๆ ก็ตาม

 

การเกษียณสบายไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันสำหรับคนรายได้น้อย คุณราชันย์ อธิบายว่า แม้วันนี้เรามีรายได้น้อย แต่อนาคตมีโอกาสเติบโตได้หลายทาง เช่น การปรับขึ้นเงินเดือนประจำปี หรือการเปลี่ยนงานที่มักจะได้เงินเดือนเพิ่มแบบก้าวกระโดด 

 

“อย่าลืมว่าจริงๆ แล้ว ในอนาคตรายได้หรือเงินเดือนมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างหรือว่าเงินเดือน หรือแม้แต่โอกาสในการหารายได้เสริมจากฝีมือหรือว่าทักษะของตัวเอง” คุณราชันย์ กล่าว

 

ที่สำคัญที่สุดถึงแม้วันนี้จะมีเงินน้อย แต่ถ้าเริ่มเก็บออมเร็ว ลงทุนเร็ว ให้เวลากับเงินได้ทำงาน เงินจะมีโอกาสเติบโตขึ้นเป็นหลักล้านบาทได้ คุณราชันย์ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดว่า “ถ้าวันนี้เก็บออมเดือนละ 1,000 บาท ลงทุนในทางเลือกที่ได้ผลตอบแทนประมาณ 7% ต่อปี เช่น กองทุนรวมหุ้น ลงทุน 30  ปี โดยเงินต้นเท่ากับ 360,000 บาท แต่เงินสามารถต่อยอดงอกเงยกลายเป็น 1 ล้านบาทได้ หมายความว่า รายได้มีโอกาสเติบโตตัวขึ้น และถ้าเริ่มต้นเร็ว เงินล้านบาทก็มีได้ไม่ยากเลย” คุณราชันย์ บอก 

 

ดังนั้น อย่ารอให้มีรายได้มากก่อนค่อยเริ่มเก็บหรือลงทุน เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าเรามีเงินเท่าไร แต่อยู่ที่เราให้เวลาเงินทำงานนานแค่ไหนต่างหาก ยิ่งเริ่มเร็ว โอกาสที่เงินจะงอกเงยก็ยิ่งมากขึ้น และเป้าหมายการเกษียณสบายก็จะไม่ไกลเกินเอื้อม

 

3 กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้คนรายได้น้อยสามารถสร้างความมั่งคั่งได้

 

การสร้างความมั่งคั่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีรายได้มากแค่ไหน แต่อยู่ที่การบริหารจัดการเงินที่มีประสิทธิภาพ คุณราชันย์ ได้แบ่งปันหลักการสำคัญ 3 ประการ ที่จะช่วยให้คนรายได้น้อยสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินได้ โดยไม่ต้องรอให้มีรายได้มากขึ้นก่อน แม้จะเริ่มต้นจากเงินเพียงวันละ 10 บาท ก็สามารถต่อยอดให้กลายเป็นเงินหลักแสนบาทได้ในระยะยาว หากทำตามหลักการเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ

 

กุญแจดอกที่ 1: ปรับการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายได้ 

 

คุณราชันย์ ยกตัวอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับมื้ออาหาร “ไม่ว่าจะไปกินอาหารในห้างสรรพสินค้ามื้อละ 200 บาท 300 บาท หรือ 500 บาท หรือกินอาหารที่ศูนย์อาหารมื้อละ 30–50 บาท คำถามคือ อิ่มเท่ากันหรือไม่ สำหรับผม คือ อิ่มเท่ากัน” 

 

นอกจากนี้ ยังยกตัวอย่างเรื่องการเดินทางที่เห็นภาพชัดเจน “เมื่อเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ เงินเดือนไม่มาก การที่ตื่นเช้าเพื่อนั่งรถเมล์ไปทำงาน มีค่าเดินทางแค่วันละหลัก 10 บาท แทนที่นั่งแท็กซี่ซึ่งอาจจะค่าเดินทางหลัก 100 บาทต่อวัน การเลือกวิธีเดินทางที่ประหยัดกว่าสามารถช่วยให้มีเงินเหลือเก็บได้มากขึ้น”

 

กุญแจดอกที่ 2: สังสรรค์อย่างพอดี

 

“เพื่อนชวนเที่ยว เที่ยวได้แต่ไม่จำเป็นต้องเที่ยวทุกสัปดาห์” คุณราชันย์ แนะนำว่า “อาจจะเที่ยวประมาณเดือนละครั้งหรือ 2 เดือนครั้ง ให้เพื่อนพอจำหน้าได้ ไม่เสียเพื่อน เพราะการสังสรรค์แต่ละครั้งมักมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท” 

 

ที่สำคัญ คุณราชันย์ยังเน้นย้ำว่าไม่จำเป็นต้องตามเพื่อนที่มีฐานะทางการเงินต่างกัน “เพื่อนจ่ายไหว เราจ่ายไม่ไหว ไม่จำเป็นต้องตามเพื่อนทุกครั้ง” และแนะนำให้หาวิธีผ่อนคลายที่ไม่ต้องใช้เงินมาก เช่น การเดินเล่นในห้างสรรพสินค้า แทนการนั่งคาเฟ่ราคาแพง

 

กุญแจดอกที่ 3: เริ่มเก็บเงินทันที

 

“เวลาเงินเดือนน้อย มักจะคิดเสมอว่าให้รอปีหน้า เมื่อเงินเดือนปรับขึ้นค่อยเก็บ รอมีเงินเหลือค่อยเก็บ” คุณราชันย์ชี้ให้เห็นว่านี่คือกับดักความคิดที่ทำให้หลายคนไม่ได้เริ่มต้นเก็บเงินสักที “ต้องเริ่มเก็บเงินตั้งแต่วันนี้ จะเก็บหลักสิบบาท หลักร้อยบาท หลักพันบาทก็ได้ ขอแค่เริ่มต้นให้ได้ก็ถือว่าได้ก้าวเข้าสู่คำว่าเกษียณสบายแล้ว” 

 

การทำตาม 3 กุญแจนี้อย่างต่อเนื่องและมีวินัย จะช่วยให้คนรายได้น้อยสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวได้ แม้จะเริ่มจากเงินก้อนเล็กๆ ก็ตาม

 

เคล็ดลับสู่การเกษียณสบาย แม้มีรายได้น้อย

 

การเกษียณอย่างมีความสุขไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม แม้สำหรับผู้มีรายได้น้อย คุณราชันย์ ให้หลักการสำคัญที่จะช่วยให้วางแผนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงในวัยเกษียณ

 

หลักการที่ 1: จัดการหนี้สินอย่างรู้เท่าทัน 


“หนี้” เป็นดาบสองคม ที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง คุณราชันย์เน้นย้ำว่า ควรมีหนี้เฉพาะเมื่อจำเป็นและพร้อมเท่านั้น เช่น การซื้อบ้านที่เป็นสินทรัพย์ระยะยาว แต่ไม่ควรก่อหนี้เพื่อซื้อของฟุ่มเฟือย 

 

“ถ้าคิดว่าจะต้องซื้อบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งมีความจำเป็น หรือคิดว่าเป็นหนี้ที่เหมาะสมกับชีวิต ถ้าอยากจะมีหนี้ที่จำเป็นก็มีได้ แต่ให้คุมตัวเองให้ดี อย่างน้อยที่สุดควรมีภาระผ่อนหนี้ไม่เกิน 40% ของรายได้”

 

ที่สำคัญ การมีหนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องล้มเลิกความฝันในการเก็บออมและลงทุน คุณราชันย์ อธิบายว่าสามารถทำควบคู่กันไปได้ แต่ต้องจัดสรรสัดส่วนให้เหมาะสมตามประเภทของหนี้

 

  • สำหรับหนี้ดอกเบี้ยสูง เช่น หนี้นอกระบบ หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งดอกเบี้ยประมาณ 16% ต่อปีขึ้นไป ควรทุ่มน้ำหนักไปที่การจัดการหนี้มากกว่า โดยใช้เงิน 50-70% ของเงินที่ตั้งใจเก็บไปทยอยโปะหนี้ก้อนนี้ก่อน เพราะดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสูงมาก และจะกลายเป็นภาระหนักในระยะยาว ส่วนเงินที่เหลือประมาณ 30% ให้เก็บไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน เผื่อมีเหตุจำเป็นจะได้ไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม

 

  • สำหรับหนี้ดอกเบี้ยต่ำ เช่น หนี้บ้าน ที่มีดอกเบี้ยประมาณ 3-5% ให้แบ่งเงิน 30-50% ไปโปะหนี้เพราะดอกเบี้ยไม่ได้สูงมาก และเป็นหนี้ระยะยาวที่ต้องใช้เวลาผ่อนหลายปี ส่วนเงินที่เหลือให้นำไปเก็บและลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

 

การจัดการหนี้และการออมลงทุนอย่างสมดุลเช่นนี้ จะช่วยให้ค่อยๆ ปลดหนี้ไปพร้อมๆ กับการสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว โดยไม่ต้องละทิ้งเป้าหมายการเกษียณสุขที่วางไว้

 

หลักการที่ 2: จดบันทึกและจัดสรรค่าใช้จ่าย


การบริหารการเงินที่ดีเริ่มจากการรู้จักรายรับรายจ่ายของตัวเอง คุณราชันย์แนะนำให้แบ่งค่าใช้จ่ายเป็น 3 หมวดหลัก

 

1. ค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้าน ที่ต้องจัดสรรไว้ล่วงหน้าทุกเดือน

2. ค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภค ที่มักมีจำนวนใกล้เคียงกันทุกเดือน

3. ค่าใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์ เช่น ค่าสังสรรค์ ที่ต้องควบคุมให้อยู่ในงบที่กำหนด

 

หลักการที่ 3: สร้างวินัยการออมและการลงทุน 

 

1. เก็บออม 10-20% ของรายได้ หากไม่มีภาระหนี้อาจเก็บออมเพิ่มเป็น 40% ของรายได้

2. ลงทุนให้เงินงอกเงยผ่านช่องทางต่างๆ เช่น กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมผสม พันธบัตร

3. ใช้ประโยชน์จากกองทุนที่มีการสมทบจากภาครัฐหรือนายจ้าง เช่น กองทุนประกันสังคม, กองทุน กอช., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 

การเกษียณสุขไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันสำหรับใครก็ตาม แม้แต่คนที่มีรายได้น้อย เพราะแค่เริ่มเก็บเงินวันละ 10 บาท เมื่อเวลาผ่านไป 20–30 ปี เงินก้อนเล็กๆ นี้จะเติบโตเป็น 300,000–400,000 บาทได้ ไม่ต่างจากเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ที่เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่เมื่อได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ



ตัวอย่าง สำหรับการลงทุนวันละ 10 บาท (เดือนละ 300 บาท)

  • ลงทุนในกองทุนรวมหุ้น (สมมติผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ต่อปี) ผ่านไป 30 ปี เงินจะโตขึ้นเป็นราวๆ ประมาณ 360,000 บาท
  • ลงทุนในกองทุนรวมผสม (สมมติผลตอบแทน 5% ต่อปี) ผ่านไป 30 ปี เงินจะโตขึ้นประมาณ 250,000 บาท

 

ตัวอย่าง สำหรับการลงทุนเดือนละ 500 บาท

  • ลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ผ่านไป 30 ปี เงินจะกลายเป็นประมาณ 600,000 บาท
  • ลงทุนในกองทุนรวมผสม ผ่านไป 30 ปี ก็ได้เงินประมาณ 400,000 บาท

 

และที่น่าสนใจที่สุด คือ การลงทุนเดือนละ 1,000 บาท ในกองทุนรวมหุ้น จะทำให้เงินเติบโตเป็น 1.2 ล้านบาทในเวลา 30 ปี “หมายความ การมีเงินล้านนั้นไม่ยากเลย ถ้าตั้งใจเก็บต่อเนื่อง”

 

บทสรุป… สิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุนไม่ใช่แค่เรื่องเงินต้น ดอกเบี้ย หรือระยะเวลา แต่คือ Mindset หรือทัศนคติที่ถูกต้อง เปรียบเสมือนเข็มทิศที่จะนำทางเราไปสู่เป้าหมาย ยิ่งเราตัดสินใจเริ่มต้นเร็วเท่าไร และให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินมากเท่าไร โอกาสที่เราจะบรรลุเป้าหมายการเกษียณอย่างมีความสุขก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น 

 

เหมือนการเดินทางไกล การก้าวเดินแต่ละก้าวอาจดูเล็กน้อย แต่เมื่อเราก้าวเดินอย่างต่อเนื่อง วันหนึ่งเราจะพบว่าตัวเองได้เดินทางมาไกลเกินคาด คำว่าเกษียณสุข เกษียณสบายจึงไม่ใช่แค่ความฝัน แต่เป็นเป้าหมายที่ทุกคนสามารถไปถึงได้ หากเริ่มต้นวางแผนและลงมือทำตั้งแต่วันนี้

 

#WealthMeUp

 

Related Stories

amazon anti fatigue mats